“มาตรา 1484 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1484” คืออะไร?
“มาตรา 1484” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1484 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส
(๑) จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
(๒) ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
(๓) มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
(๔) ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(๕) มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรสได้ตามที่เห็นสมควร และหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ
มาตรา ๑๔๘๔/๑ ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจในการจัดการสินสมรสของสามีหรือภริยาตามมาตรา ๑๔๘๒ มาตรา ๑๔๘๓ หรือมาตรา ๑๔๘๔ ถ้าต่อมาเหตุแห่งการนั้นหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป สามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ห้ามหรือจำกัดอำนาจจัดการสินสมรสนั้นได้ ในการนี้ศาลจะมีคำสั่งใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1484” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1484 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2552
โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันโดยแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างกัน ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการลดจำนวนภาษีย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์ที่ขอแบ่งทรัพย์ซึ่งทำมาหาได้ จึงเป็นการขอเข้าจัดการสินสมรสร่วมกับจำเลยซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอได้ตราบเท่าที่โจทก์และจำเลยยังคงมีฐานะเป็นสามีภริยากันอยู่และกรณีนี้มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ยินยอมให้จำเลยจัดการสินสมรสเพียงผู้เดียวตลอดมา จนกระทั่งปี 2543 โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยมีภริยาอีกคน โจทก์จึงขอให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าการที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมแบ่งถือว่าจำเลยจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งแยกสินสมรสได้ตามมาตรา 1484 วรรคสอง และมาตรา 1492
เงินค่าซื้อที่ดินและเงินสดที่ยกให้บุตรทั้งสี่คนรวมแล้วประมาณ 40,000,000 บาท เป็นการยกสินสมรสให้บุตรโดยความยินยอมของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสนี้ ส่วนเงินที่ได้มาจากการทำมาหาได้ของจำเลยหลังจากจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ จึงต้องฟังว่า เงินดังกล่าวและดอกเบี้ยอีก 660,000 บาท เป็นสินสมรส ต้องนำมาแบ่งกันสำหรับหุ้นด้อยสิทธิของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2546 จำเลยไปไถ่ถอนในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 อันเป็นการไถ่ถอนก่อนครบกำหนด และไม่แบ่งแก่โจทก์ ย่อมเป็นการจัดการสินสมรสโดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเข้าจัดการสินสมรสในส่วนนี้ได้ จำเลยต้องแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่ตามรายการโอนเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยเข้าบัญชีที่โจทก์เสนอแสดง ไม่ปรากฏรายการโอนดอกเบี้ย 5,000,000 บาท เข้าบัญชีตามที่โจทก์เบิกความ จึงไม่อาจบังคับในส่วนของดอกเบี้ยได้ ส่วนที่ดินพร้อมบ้านพิพาท จำเลยซื้อที่ดินมาในปี 2541 และปลูกบ้านในปี 2544 ถึง 2545 ดังนี้ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการหย่าเป็นโมฆะ ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิใส่ชื่อร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 155, ม. 193/9, ม. 1484 (1), ม. 1484 วรรคสอง, ม. 1492
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2548
จำเลยกับโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่ แต่เมื่อยังมิได้จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยกับโจทก์จึงยังมีฐานะเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้านครหลวง เงินชดเชย เงินค่าตอบแทนพิเศษเนื่องจากการลาออก เงินค่าหุ้นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ และเงินโบนัส ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง จำเลยหรือโจทก์ซึ่งเป็นสามีภริยาย่อมมีอำนาจจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่การจัดการสินสมรสจะต้องจัดการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เป็นที่เสียหายและต้องไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสตามมาตรา 1476 วรรคสอง และมาตรา 1484 (1) (5)
จำเลยเป็นฝ่ายจัดการสินสมรส แต่จำเลยมอบอำนาจให้สหกรณ์ออมทรัพย์รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ เงินชดเชย เงินโบนัส และเงินได้อื่น ๆ ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเงินค่าหุ้นของจำเลยในสหกรณ์ออมทรัพย์ชำระหนี้จำนองโดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้สัตยาบันในหนี้จำนองส่วนนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับเงินค่าหุ้นของจำเลย 186,000 บาท และรับเงินจากการไฟฟ้านครหลวง 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 486,000 บาท นำมาชำระหนี้จำนองของจำเลยบางส่วนแล้ว จำเลยยังได้รับเงิน 564,825 บาท ไปจากการไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย ซึ่งเงินจำนวนหลังนี้จำเลยได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์และบุตรมิได้รับการช่วยเหลือเลี้ยงดูจากจำเลย คงเหลือเงินสินสมรสอยู่เพียง 1,221,340 บาท ถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด และทำความเสียหายให้แก่สินสมรส รวมทั้งไม่นำเงินสินสมรสนั้นมาอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีเหตุสมควรร้องขอให้แยกสินสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (1) (2) (5)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1474, ม. 1476, ม. 1484
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2548
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอลงชื่อร่วมในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสและขอค่าอุปการะเลี้ยงดู ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในเรื่องการตกลงหย่าขาดและแบ่งสินสมรส ศาลพิพากษาตามยอม ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวโจทก์และจำเลยตัองปฏิบัติดังนี้ ข้อ 1 จำเลยต้องขายที่ดินสองแปลงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน แล้วนำเงินที่หักค่าใช้จ่ายมาชำระให้แก่โจทก์ ข้อ 2 จำเลยตกลงโอนที่ดิน 5 โฉนดให้แก่โจทก์ ข้อ 3 ที่ดินนอกจากนี้ให้เป็นของจำเลยข้อ 4 โจทก์จำเลยตกลงหย่ากัน เมื่อโจทก์ได้รับเงินตามข้อ 1 และได้รับโอนตามข้อ 2 เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยยังจำหน่ายที่ดินตามข้อ 1 ไม่ได้ และระยะเวลา 6 เดือนที่กำหนดไว้ผ่านไปแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ครบถ้วน สถานภาพของการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย ยังคงมีผลตามกฎหมาย คู่สมรสคงต้องมีภาระหน้าที่รับผิดต่อบุคคลภายนอกหรืออาจได้รับความเสียหายจากการจัดการสินสมรสของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เพื่อขอเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว โดยมีเหตุจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินสินสมรส ชอบที่โจทก์จะขอเป็นผู้จัดการสินสมรสฝ่ายเดียวและจัดการแยกสินสมรส จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและเป็นคนละประเด็นกัน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1484, ม. 1515, ม. 1531, ม. 1532
ป.วิ.พ. ม. 55, ม. 138