“มาตรา 1489 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1489” คืออะไร?
“มาตรา 1489” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1489 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1489” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1489 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2558
คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4 ) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 295
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 193/14 (2), ม. 295, ม. 692, ม. 1489, ม. 1490 (4)
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2558
จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยมิได้ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าหนี้ที่จำเลยกู้เงินจากบิดามานั้นเป็นหนี้ร่วมที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดคนละกึ่งหนึ่ง หรือขอให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยให้หักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยหักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อนจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้ง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
การที่สามีภริยารับผิดในหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 และมาตรา 1490 นั้น จะต้องรับผิดต่อเมื่อสามีหรือภริยาชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว หากฝ่ายที่ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปเกินส่วนที่ตนได้สินสมรสไปเท่าใดก็มีสิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ให้ มิใช่ว่าหากสามีหรือภริยาหย่าและแบ่งสินสมรสแล้วจะต้องนำหนี้ร่วมมาหักออกจากสินสมรสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บรักษาไว้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงจะแบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือกัน เพราะหากไม่นำเงินที่หักไว้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้อาจเรียกให้อีกฝ่ายรับผิดชำระหนี้เงินกู้เต็มจำนวนได้อยู่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1489, ม. 1490
ป.วิ.พ. ม. 142
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2548
พ.ร.ก. บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 7 กำหนดว่า ในการโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้วก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ดังนั้น ตามสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร ท. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินกับโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีสิทธิที่จะเข้าสวมสิทธิของธนาคาร ท. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะใช้สิทธิเพื่อบังคับคดีในคดีแพ่งตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมอ้างมูลหนี้ตามคำพิพากษาอันอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้
หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการค้าอันเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองทำด้วยกันระหว่างสมรส แม้มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพียงลำพังก็ตาม แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสของจำเลยทั้งสองจึงเป็นสินสมรสของจำเลยทั้งสองที่ยังไม่มีการแบ่งแยกและต้องนำมาชำระหนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489, 1490 (3)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1489, ม. 1490 (3)
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ม. 7