“มาตรา 1499 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1499” คืออะไร?
“มาตรา 1499” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1499 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ
การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มา เพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นทำให้ฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะ แล้วแต่กรณี ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพในกรณีนี้ ให้นำมาตรา ๑๕๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๕๒๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพตามวรรคสาม มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔๙ มาตรา ๑๔๕๐ หรือมาตรา ๑๔๕๘ หรือนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๕๒
มาตรา ๑๔๙๙/๑ ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ข้อตกลงระหว่างคู่สมรสว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด หรือฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ให้ทำเป็นหนังสือ หากตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่ถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา ๑๕๘๒ ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ และให้นำความในมาตรา ๑๕๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม “
อ่านคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "การสมรสที่เป็นโมฆะ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้ ”มาตรา 1499” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1499 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5905/2533
โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยกับ พ. สามีโจทก์เป็นโมฆะ จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะทายาทของ พ.ให้ชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยถูกพ. ใช้กลฉ้อฉลให้จดทะเบียนสมรส กับให้ใช้ค่าเลี้ยงชีพที่จำเลยขาดรายได้และค่าเสียหายที่โจทก์เอารถยนต์ที่จำเลยกับ พ. เป็นเจ้าของร่วมกันไป ดังนี้เป็นฟ้องแย้งในเรื่องอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ ไม่ชอบที่จะรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 1496, ม. 1499
ป.วิ.พ. ม. 18, ม. 177 วรรคสาม
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4163/2532
โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกในฐานะภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกจำเลยให้การต่อสู้ว่าการจดทะเบียนสมรสของโจทก์กับเจ้ามรดกเป็นไปโดยทุจริตและคดีโจทก์ขาดอายุความ ในวันนัดชี้สองสถาน คู่ความยอมรับข้อเท็จจริงกันว่า ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาเพิกถอนการสมรสดังกล่าวไปแล้ว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำการสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงยังไม่ยุติ ซึ่งหากข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทำการสมรสโดยสุจริตแล้ว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1499 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยว่าโจทก์กับเจ้ามรดกสมรสกันโดยไม่สุจริต ก็ไม่ปรากฏการวินิจฉัยของศาลฎีกาในข้อนี้แต่อย่างใด ทั้งยังมีประเด็นเรื่องอายุความอีกด้วย ดังนี้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานกับพิพากษาคดีไป และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการไม่ชอบและเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา มีเหตุสมควรต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1499
ป.วิ.พ. ม. 243, ม. 247
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2530
การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะนั้นเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้จะมีคำขอเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย คู่ความก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 ทั้งคำขอในส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนนี้ยังเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวอีกด้วย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้
ขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอยู่แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สมรสโดยสุจริตเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1496, ม. 1499
ป.วิ.พ. ม. 248