“มาตรา 1563 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1563” คืออะไร?
“มาตรา 1563” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1563 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา “
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "อุปการะเลี้ยงดู" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1563” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1563 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6393/2551
ตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุจำนวนเงินจำกัดความรับผิด กรมธรรม์ประกันภัยนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะสัญญาข้อที่มีจำนวนเงินจำกัดความรับผิดระบุไว้เท่านั้น ในข้อสัญญาดังกล่าวไม่ระบุถึงต้องรับผิดในส่วนค่าขาดไร้อุปการะด้วยการที่จำเลยจ่ายเงินไปเห็นได้ชัดว่าเป็นค่าปลงศพเท่านั้น การจ่ายเงินค่าซ่อมรถก็เป็นค่าเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งค่าเสียหายทั้งสองรายการนี้ต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับจำเลยร่วมเท่านั้น ในการทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม ประกอบมาตรา 1563 ไม่ว่าในขณะเกิดเหตุผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และในอนาคตจะอุปการะกันหรือไม่ การที่โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องจำเลยร่วมที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขอให้ศาลเรียกเข้ามานั้น ไม่มีผลเกี่ยวกับจำเลยทั้งห้าเพราะคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของกรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่เป็นการปลดหนี้ให้แก่จำเลยร่วมอันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนนี้ ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมว่าไม่ติดใจเรียกร้องอะไรอีกนั้น เป็นกรณีเฉพาะการประนีประนอมยอมความกันในเรื่องค่าซ่อมรถเท่านั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 340, ม. 443 วรรคสาม, ม. 1563
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2548
ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1563 และมาตรา 1564 บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึงบุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายแต่ประการใด ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา บุตรนอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะจากผู้กระทำละเมิดให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้
ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้และมิได้ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา142 (5) ประกอบมาตรา 246
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 443 วรรคสาม, ม. 1563, ม. 1564
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2541
แม้โจทก์เป็นบุตร ท.และจำต้องอุปการะเลี้ยงดู ท.ตามป.พ.พ.มาตรา 1563 ก็ตาม แต่เมื่อ ท.ป่วยเป็นอัมพาตไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้โจทก์เป็นผู้ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ความช่วยเหลือ ท.ตลอดมาจนกระทั่ง ท.ถึงแก่กรรมเช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้อุปการะ ท.ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 4 (2) ด้วย
โจทก์ฟ้องบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยให้ชำระเงินบำเหน็จตกทอดตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 โดยอาศัยสิทธิในฐานะเป็นผู้อุปการะ ท.โดยโจทก์มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิในฐานะเป็นบุตร ท.เมื่อโจทก์เป็นผู้อุปการะ ท.ผู้ตาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดตามมาตรา 49
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1563
พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ม. 4 (2)
พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2499 ม. 8