Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1574 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1574 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1574” คืออะไร? 


“มาตรา 1574” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1574 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
              (๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
              (๒) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
              (๓) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
              (๔) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
              (๕) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
              (๖) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
              (๗) ให้กู้ยืมเงิน
              (๘) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
              (๙) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
              (๑๐) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
              (๑๑) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๔ (๑) (๒) หรือ (๓)
              (๑๒) ประนีประนอมยอมความ
              (๑๓) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย “

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1574” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1574 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2564
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดก แต่ยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เยาว์โดยจะรอให้บรรลุนิติภาวะเสียก่อน แต่ น. มารดาของโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินจึงมาขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และ วัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจปกครองโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งไม่บรรลุนิติภาวะจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะทายาทที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่มารดาของโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (4) แต่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่ น. มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252 และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อฟ้องโจทก์เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โดยตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยมิได้เสียค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต และมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ถือว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะหักล้างบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 6, ม. 1299 วรรคสอง, ม. 1574 (4), ม. 1733 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 252


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2561
ว. เป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งทรัพย์สินหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องอันเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ บทบัญญัติมาตรา 1574 มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์โดยให้ศาลกำกับดูแล การฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนก็ไม่ได้ตัดอำนาจทำนิติกรรมแทนของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิกล่าวอ้างเพื่อตัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 150, ม. 153, ม. 1566, ม. 1571, ม. 1574
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 40


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5534/2558
ป.พ.พ. มาตรา 1574 บัญญัติเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องที่ผู้ร้องขออนุญาตขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสามและอนุญาตให้ผู้ร้องขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสาม ประเด็นดังกล่าวจึงยุติ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องขออนุญาตขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสามในราคาใหม่ คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า สมควรกำหนดให้ขายใหม่ในราคาเท่าใดเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ร้องต้องนำสืบเกี่ยวกับราคาอสังหาริมทรัพย์ว่ามีราคาเท่าใดและสมควรขายในราคาเท่าใด หาได้เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าถูก ก. หลอกลวงขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้คัดค้านหลงเชื่อวางเงินมัดจำให้ ก. ก็เป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านต้องไปว่ากล่าวต่อ ก. เอง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิคัดค้านการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ทั้งสาม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1574
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.