Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1581 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1581 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1581” คืออะไร? 


“มาตรา 1581” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1581 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ คดีเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินในระหว่างผู้เยาว์กับผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อำนาจปกครองสิ้นไป
              ถ้าอำนาจปกครองสิ้นไปขณะบุตรยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ให้เริ่มนับอายุความในวรรคหนึ่งตั้งแต่เวลาที่ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ หรือเมื่อมีผู้แทนโดยชอบธรรมขึ้นใหม่ “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1581” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1581 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2558
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นผู้อนุบาล จ. หาได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นการส่วนตัวไม่ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเสียหายและเปิดทางเข้าออก อาจดูเหมือนเป็นการบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดในฐานะส่วนตัวดังที่ศาลชั้นต้นเข้าใจก็เป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการบังคับคดี หาทำให้ฟ้องโจทก์ที่ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้อนุบาลของ จ. กลายเป็นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัวไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะจำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุบาล จ. และสาระสำคัญของฟ้องแย้งก็เป็นเรื่องสัญญาเช่าเดียวกันกับที่โจทก์ใช้เป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าสัญญาเช่าดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาศัยข้ออ้างดังกล่าวเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องแย้งโจทก์ให้ออกไปจากห้องพิพาทและเรียกค่าเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม
ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือคู่สมรสของ จ. เป็นผู้อนุบาลของ จ. ที่เป็นคนไร้ความสามารถนั้น บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ ซึ่งตามคำสั่งศาลจังหวัดภูเก็ตแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในคดีหมายเลขแดงที่ 25/2548 ระบุเพียงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้อนุบาลของ จ. ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะ และมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่จำเลยทั้งสองกระทำการแทน จ. ต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยที่ 1 ร่วมให้การและฟ้องแย้งมานั้นจึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมา จ. ถึงแก่ความตายระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น อันมีผลให้ความเป็นผู้อนุบาลของจำเลยทั้งสองที่มีต่อ จ. ซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถสิ้นสุดลงในภายหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1572 (เดิม), 1581 (เดิม) แก้ไขใหม่มาตรา 1598/6 และ 1598/18 แล้ว และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน จ. เจ้ามรดกจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตก็ตาม ก็หามีผลทำให้การขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ของจำเลยที่ 2 ที่สืบเนื่องมาจากการยื่นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่กระทำโดยปราศจากอำนาจขัดต่อกฎหมาย กลับมีผลเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1572 (เดิม), ม. 1581 (เดิม), ม. 1598/6, ม. 1598/18, ม. 1590
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 177 วรรคสาม

 


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2518
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้อนุบาล ส. ปรากฏว่า ส. ตายระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ ดังนี้ ความตายของส. อันมีผลให้ความเป็นผู้อนุบาลของ ส. สิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1572,1581 ในเวลาภายหลัง ย่อมไม่ทำให้สิทธิหน้าที่ของโจทก์ที่ได้มีอยู่ในขณะฟ้องเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ในฐานะผู้อนุบาลของ ส. มาแต่เริ่มใช้สิทธิเรียกร้องคดีนี้ จึงยังมีสิทธิและอำนาจที่จะฎีกาหลังการตายของ ส.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 30, ม. 1572, ม. 1581
ป.วิ.พ. ม. 1 (11), ม. 42, ม. 55


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2517
กรณีภริยาเป็นผู้อนุบาลสามีซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 นั้น มาตรา 1581ไม่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความปกครองมาบังคับจึงจะนำมาตรา 1561,1562,1563. ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความปกครองมาบังคับแก่ภริยาซึ่งเป็นผู้อนุบาลสามีหาได้ไม่
ภริยาซึ่งเป็นผู้อนุบาลสามี มีสิทธิทำนิติกรรมขายสินบริคณห์ได้โดยลำพัง หากกระทำไปเพื่อประโยชน์ของสามีตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 710/2490 แต่การที่ภริยาเอาที่ดินสินบริคณห์ไปยกให้แก่บุตรคนหนึ่งโดยเสน่หา มิใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์ของสามีแต่อย่างใด ภริยาในฐานะผู้อนุบาลจึงไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนที่เป็นของสามีไปยกให้แก่บุตรโดยเสน่หาได้ คงมีสิทธิกระทำได้ในฐานะที่เป็นภริยา ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินสินบริคณห์นั้นด้วย โดยมิพักต้องได้รับอนุญาตจากสามี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 39 นิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาดังกล่าว จึงผูกพันส่วนที่เป็นของภริยา แต่ไม่ผูกพันส่วนของสามี เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าที่ดินสินบริคณห์นั้น สามีกับภริยามีส่วนคนละเท่าใด และภริยาก็ทำนิติกรรมให้บุตรมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกับสามีอันมีผลเท่ากับภริยายอมสละส่วนของตนให้แก่บุตรเท่านั้น นิติกรรมรายนี้จึงไม่เป็นโมฆะ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 30, ม. 39, ม. 113, ม. 521, ม. 1361, ม. 1457, ม. 1546, ม. 1581
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
ติดต่อเราทาง LINE