“มาตรา 1600 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1600” คืออะไร?
“มาตรา 1600” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1600 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ “
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "มรดก" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "มรดก" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1600” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1600 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2563
แม้ที่ดินพิพาทมีเพียงแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เมื่อเจ้ามรดกผู้ครอบครองถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ได้แก่ ส. บุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดาจำเลย ว. บุตรเจ้ามรดกและ พ. บุตรเจ้ามรดกซึ่งเป็นมารดาโจทก์ ว. และ พ. พักอาศัยอยู่ในสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทโดยมีโจทก์และจำเลยอยู่ด้วย ส่วน ส. พักอาศัยอยู่ที่อื่น การที่ ว. และ พ. พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาจึงเป็นการครอบครองในฐานะทายาทและแทนทายาทอื่น หลังจาก ว. ถึงแก่ความตายในปี 2538 พ. พักอาศัยอยู่ต่อมาและถึงแก่ความตายในปี 2543 การที่ พ. ยังคงพักอาศัยอยู่ต่อมาก็เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ส่วนที่ ส. ถึงแก่ความตายในปี 2536 ที่ดินมรดกส่วนของ ส. ตกทอดแก่ทายาทของ ส. รวมทั้งจำเลย การที่จำเลยพักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทหลังจากนั้นร่วมกับ ว. และ พ. ก็เป็นการร่วมกันครอบครองแทนทายาทอื่นเช่นกัน ที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกและกรณีต้องถือว่าการที่ พ. และจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นของเจ้ามรดกทุกคน ส่วนการที่จำเลยรื้อถอนบ้านเดิมออกไปและนำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดก็ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครองที่ดินมรดกเป็นครอบครองด้วยตนเองและแสดงเจตนาแก่ฝ่ายโจทก์แล้ว ที่ดินดังกล่าวยังเป็นมรดกของเจ้ามรดก จึงเป็นกรณีที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้มีการแบ่งปันแทนทายาทอื่น ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกเพราะเข้าสืบสิทธิมรดกส่วนของ พ. จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทในส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1381, ม. 1600, ม. 1748
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2561
ร. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่กฎหมายกำหนด หาก ร. ทำผิดเงื่อนไข รัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อ ร. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ร. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ร. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ร. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนรับมรดกกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ร. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา1599 และมาตรา 1600 เมื่อมีผู้บุกรุกที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1367, ม. 1410, ม. 1411, ม. 1599, ม. 1600
พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ม. 11
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560
ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 155 วรรคหนึ่ง, ม. 1531, ม. 1532, ม. 1600