“มาตรา 1605 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1605” คืออะไร?
“มาตรา 1605” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1605 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น “
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ทายาท" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1605” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1605 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562
จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน
ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยักย้ายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว โอนขายแก่จำเลยที่ 4 ในราคา 11,100,000 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินซึ่งขายสูงกว่าราคาประเมินตามที่โจทก์และฝ่ายจำเลยรับกันว่ามีราคา 9,950,000 บาท หากแบ่งเป็นสินสมรสในส่วนของจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 8 ส่วน ทายาทจะได้รับคนละ 693,750 บาท แต่จำเลยที่ 2 ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนอื่นอีก อันมีมูลค่ามากกว่าที่ดินโฉนดที่โอนขายไป จำเลยที่ 2 จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ยักย้าย คิดเป็นเงิน 5,550,000 บาท เมื่อแบ่งเป็น 7 ส่วน ทายาทอื่นได้รับคนละ 792,857 บาท และจำเลยที่ 2 ยังคงเหลือส่วนที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกอยู่อีกคิดเป็นเงิน 4,856,250 บาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งมิใช่ทายาท จำนวน 16,000 หุ้น จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกส่วนนี้คนละ 8,000 หุ้น เพราะน้อยกว่าหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 พึงจะได้รับหลังแบ่งแก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งแล้ว คนละ 11,875 หุ้น ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเพียงบางส่วน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1605 วรรคหนึ่ง, ม. 1747, ม. 1750 วรรคสอง
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558
การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 พร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายและจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและจำเลยมีอยู่ก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายและจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกจำกัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1471 (1), ม. 1474, ม. 1605
ป.วิ.พ. ม. 94
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7706/2548
ที่ดินพิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เมื่อ ม. เจ้ามรดกเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ม. จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่ ม. ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 และต่างฝ่ายต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดเป็นการโอนไปซึ่งการครอบครองให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว ม. ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอีกต่อไป เมื่อ ม. ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ ม. การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกของ ม. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ม. ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ทั้งไม่อาจกำจัดมิให้จำเลยที่ 1 ได้รับมรดกของ ม. ฐานยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก
โจทก์ตั้งประเด็นมาในฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยมิได้ฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของ ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในฐานะโจทก์เป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 จึงพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1377, ม. 1724, ม. 1600, ม. 1605
ป.วิ.พ. ม. 142, ม. 148