“มาตรา 1607 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1607” คืออะไร?
“มาตรา 1607” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1607 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมรดกมาเช่นนี้ ทายาทที่ว่านั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการและใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ ๕ ลักษณะ ๒ หมวด ๓ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้นให้ใช้มาตรา ๑๕๔๘ บังคับโดยอนุโลม “
อ่านบทความ : ไม่อยากให้"มรดก"ลูกหลานต้องทำอย่างไร
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "มรดก" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1607” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1607 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2557
กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จ ถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดกทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก อายุความตามมาตรา 1754 จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก
แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของ ก. เจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้ ส. ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ส. ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. คนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วนเท่าจำนวนทายาทของ ก. โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ย่อมเป็นการพิพากษาตามคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสามที่ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขในกรณีที่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติการตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ต่อไปอีก ทั้งการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิในการรับมรดกของทายาท ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำพิพากษาเพื่อบังคับคดี
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1607, ม. 1754
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6782/2544
จำเลยปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดก จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรนั้นเป็นการเฉพาะตัว บุตรของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกย่อมสืบมรดกต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้ว ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1607, 1639
เจ้ามรดกมีบุตร 2 คน คือโจทก์และจำเลย เมื่อจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกและบุตรของจำเลยรับมรดกแทนที่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกเพียงกึ่งหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1606 (5), ม. 1607, ม. 1639
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 247
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2485
การที่โจทก์ฟ้องว่าทรัพย์มรดกอยู่ในความปกครองยึดถือของจำเลย. จำเลยไม่ยอมแสดงบัญชี. โจทก์ไม่ทราบรายละเอียด.แต่โจทก์ประมาณราคาทรัพย์และโจทก์ขอให้จำเลยแสดงบัญชีทรัพย์มรดกดังนี้ ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม. คำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องที่แสดงบัญชีทรัพย์ที่โจทก์ยื่นภายหลังจำเลยให้การแล้วเป็นแต่เพียงการแสดงทรัพย์ซึ่งเบื้องต้นโจทก์ไม่รู้ให้ปรากฏขึ้นเท่านั้น. ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายประการใด.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1606, ม. 1607, ม. 1630, ม. 1631, ม. 1639, ม. 1640, ม. 1641, ม. 1642
ป.วิ.พ. ม. 179, ม. 180, ม. 181