Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1627 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1627 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1627” คืออะไร? 


“มาตรา 1627” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1627 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ “

อ่านบทความ : แบ่งมรดกให้ลูกบุญธรรมอย่างไรในกรณีที่เป็นผู้สืบสันดาน

 

อ่านคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "บุตรบุญธรรม" ได้ที่นี่ คลิกเลย !


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1627” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1627 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7272/2562
โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเนื่องจากโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627, 1629 (1) ดังนั้น โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามมาตรา 1627 ซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริง 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดก และส่วนที่สองคือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้ามรดกที่รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของตน เช่น เจ้ามรดกเป็นผู้แจ้งเกิดให้แก่โจทก์ว่าโจทก์เป็นบุตรของตน ยอมให้ใช้ชื่อสกุล เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู และส่งเสียให้การศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนแนะนำและแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปอย่างเปิดเผยว่าโจทก์เป็นบุตร
หลักฐานทางทะเบียนราษฎรระบุว่า โจทก์เป็นบุตรของ ข. กับ บ. สำเนาทะเบียนบ้านซึ่งเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 โจทก์ต้องมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมั่นคงและน่าเชื่อถือมานำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงจะรับฟังได้ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1627, ม. 1629 (1)
ป.วิ.พ. ม. 127

 


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9313/2559
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายอันเกิดแต่เจ้ามรดกกับ ส. ส่วนผู้คัดค้านจะเป็นบุตรของเจ้ามรดกจริงหรือไม่ หากเป็นบุตรจะมีสถานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้ว เป็นเรื่องที่ศาลสามารถปรับข้อกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการนำสืบพยานได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นแต่อย่างใด
แม้ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่า เจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. อย่างไร เมื่อใด แต่มีสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ประกอบกับผู้คัดค้านใช้ชื่อสกุลเดียวกับเจ้ามรดกและหนังสือที่เจ้ามรดกมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนที่ดินระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร จึงเป็นหลักฐานให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คัดค้านกับเจ้ามรดก และเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก ฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกรับรองแล้ว และถือเป็นผู้สืบสันดาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
แม้ผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในพินัยกรรมว่าลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมมิใช่ลายมือชื่อของเจ้ามรดกจะเป็นเพียงความเห็นของเจ้าพนักงานผู้ตรวจ ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าลายมือชื่อปัญหากับลายมือชื่อตัวอย่างมีคุณสมบัติการเขียนรูปร่างลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกันหลายจุดและสรุปความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกันไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้ตรวจรู้จักหรือมีสาเหตุกับคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะมีการทำรายงานการตรวจพิสูจน์ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ทั้งลายมือชื่อตัวอย่างลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุด โดยไม่มีสะดุด ขณะลายมือชื่อปัญหาในพินัยกรรมมีลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรทีละตัว คล้ายการลากเส้นช้า ๆ ตามตัวอย่างทำให้น้ำหนักลายเส้นมีลักษณะแข็งไม่อ่อนพลิ้วเหมือนลายมือชื่อตัวอย่าง ทั้งผู้ร้องไม่เคยโต้แย้งเอกสารที่ผู้คัดค้านขอส่งไปตรวจพิสูจน์ เพิ่งมากล่าวอ้างโต้แย้งเอกสารหลังจากปรากฏผลการตรวจพิสูจน์แล้ว ข้ออ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.วิ.พ. ม. 127, ม. 183
ป.พ.พ. ม. 1627


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558
โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เนื่องจาก ป. จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดย ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ให้ความยินยอมด้วย โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อน ป. โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัว ป. คู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของ ส. ด้วยตามมาตรา 1635 แม้ ป. ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. แสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 ป. จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ตามกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ส. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ในส่วนที่ตกแก่ ป. ได้
จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสามแปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1612, ม. 1627, ม. 1629, ม. 1635, ม. 1754
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
ติดต่อเราทาง LINE