“มาตรา 1629 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1629” คืออะไร?
“มาตรา 1629” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1629 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๓๐ วรรค ๒ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(๑) ผู้สืบสันดาน
(๒) บิดามารดา
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา ๑๖๓๕ “
อ่านหลักเกณฑ์การแบ่งมรดกให้ทายาทโดยธรรมจากทนายความ
อ่านมากกว่า 87 คำปรึกษาจริงเรื่อง"ทายาท"
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1629” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1629 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2564
การจัดการทำศพเป็นกิจการซึ่งไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตาย การจะทำให้บังเกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายต้องแสดงเจตนาโดยทำเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 แต่คำสั่งเสียด้วยวาจาของผู้มรณภาพที่ให้โจทก์เป็นผู้จัดการทำศพไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 ย่อมไม่บังเกิดผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้มรณภาพมิได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดก และทรัพย์สินของผู้มรณภาพได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623 ส่วนโจทก์และน้องคนอื่นของผู้มรณภาพ แม้เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 ตามมาตรา 1629 (3) ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้มรณภาพ ย่อมไม่อาจมอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพผู้มรณภาพ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามผลของมาตรา 1623 อันเป็นจำนวนมากที่สุด จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพผู้มรณภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบศพผู้มรณภาพแก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1623, ม. 1629, ม. 1646, ม. 1649, ม. 1663
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3225/2563
การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่งไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากผู้ร้อง โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ผู้ตายมีภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรส ไม่มีบุตรด้วยกัน และบิดา มารดาผู้ตายได้ถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) และ 1633 และเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง มีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งได้ ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 มีอำนาจร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1629, ม. 1633, ม. 1649 วรรคสอง
ป.วิ.อ. ม. 2 (4), ม. 5, ม. 44/1
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2563
บ. ห. และโจทก์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน บ. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพร้อมบ้านและตึกแถวให้แก่ ห. เมื่อ บ. ถึงแก่ความตายทรัพย์สินดังกล่าวจึงตกทอดแก่ ห. ต่อมา ห. ถึงแก่ความตายโดยไม่มีภริยาและบุตร ทรัพย์สินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทโดยธรรม คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คือ โจทก์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของ บ. ที่รับมรดกแทนที่ บ. แม้จะเป็นทรัพย์สินเดียวกันก็ตาม โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินและเงินค่าเช่า 1 ใน 2 ส่วน
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1629 (3)
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 246, ม. 252