“มาตรา 1654 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1654” คืออะไร?
“มาตรา 1654” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1654 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมนั้นให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ทำพินัยกรรมเท่านั้น ความสามารถของผู้รับพินัยกรรมนั้น ให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตายเท่านั้น “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1654” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1654 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2540
ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่เพราะสามารถลงลายมือชื่อตามที่ น. บอกให้ลงลายมือชื่อได้ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรมกับเอกสารอื่นที่ผู้ตายเคยลงลายมือชื่อไว้แล้วมีลักษณะลีลาการเขียนอย่างเดียวกันเพียงแต่อักษรตัวใหญ่กว่าเท่านั้น จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่ออย่างมีสติ พินัยกรรมมีเพียงหน้าเดียวเป็นตัวพิมพ์มีข้อความด้านบนระบุว่าพินัยกรรมทั้งในช่องที่ผู้ตายลงลายมือชื่อนั้นก็พิมพ์ข้อความว่า ผู้ทำพินัยกรรม ไว้ ผู้ตายต้องใช้เวลาในการลงลายมือชื่อถึงครึ่งชั่วโมง โดย น. บอกให้เขียนทีละตัว เชื่อว่าผู้ตายน่าจะเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ดังนั้น การลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม ส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริงและ วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตาม วัน เดือน ปีที่แท้จริงนั้นข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อ แม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1605, ม. 1646, ม. 1654
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1250/2538
การสละมรดก โดยแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 นั้น ตามกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1672 ข้อ 14, 15 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 กำหนดว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่"ดังกล่าว หมายถึงนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ดังนั้น การที่โจทก์กับ ศ.ทำหนังสือสละมรดกมอบไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน จึงไม่ใช่หนังสือสละมรดกตามกฎหมาย
ขณะ ล.เจ้ามรดกทำพินัยกรรทม ล.มีอาการป่วยหนักมีความคิดสับสน ไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ พินัยกรรมดังกล่าวจึงมิได้เกิดจากการแสดงเจตนาของ ล. และเป็นพินัยกรรมปลอม โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในทรัพย์มรดกจึงฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของจำเลยได้
คดีมีทุนทรัพย์ 2,700,000 บาท เมื่อพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดี ประกอบกับเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนี้แล้ว ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความจำนวน 15,000 บาท จึงชอบด้วยตาราง 6ท้าย ป.วิ.พ.
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ซึ่งค่าขึ้นศาลที่โจทก์ผู้ฟ้องอย่างคนอนาถาได้รับยกเว้นนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 112 (เดิม), ม. 1608 (1), ม. 1612, ม. 1646, ม. 1654 วรรคแรก, ม. 1672
ป.วิ.พ. ม. 158, ตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 ม. 40
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2530
การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งทำขึ้นโดยทางราชการแม้จะจัดทำในโรงพยาบาลก็ไม่จำต้องให้แพทย์รับรอง เพราะการจะพิจารณาว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะดีหรือไม่ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้ทำพินัยกรรมย่อมมีความรู้ความสามารถพอที่จะพิจารณาได้
คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกแม้มิได้ระบุเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกไว้ แต่ได้ระบุว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้แนบสำเนาสูติบัตรของผู้รับพินัยกรรมมาให้เห็นว่าเป็นผู้เยาว์ ก็ถือว่าเป็นคำร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713(1) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55.(ที่มา-ส่งเสริม)
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1654, ม. 1658, ม. 1713
ป.วิ.พ. ม. 55