มาตรา 1686 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1686” คืออะไร?
“มาตรา 1686” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1686 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ อันว่าทรัสต์นั้น จะก่อตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางอ้อมด้วยพินัยกรรมหรือด้วยนิติกรรมใด ๆ ที่มีผลในระหว่างชีวิตก็ดีหรือเมื่อตายแล้วก็ดี หามีผลไม่ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการก่อตั้งทรัสต์เท่านั้น “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1686” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1686 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7278 - 7279/2554
ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นที่ดินที่ชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยนที่มาจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ร่วมกันออกเงินซื้อมาก่อตั้งเป็นทรัสต์เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝังศพของชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยน เมื่อทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าจัดตั้งขึ้นก่อน ป.พ.พ. บรรพ 6 มาตรา 1686 ประกาศใช้ย่อมมีผลใช้บังคับกันได้ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เว้นแต่ผู้รับประโยชน์ทุกคนตกลงให้เลิกกันเมื่อ ล ทรัสตีคนเดิมถึงแก่ความตาย ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการย่อมร้องขอต่อศาลให้ตั้งทรัสตีคนใหม่แทนเพื่อให้ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋ามีผู้ดูแลจัดการได้ต่อไป
ผู้ร้องเป็นทายาทของ ต ชั้นหลานและศพของ ต ได้ฝังอยู่ในป่าช้าจีนบ้าบ๋า ซึ่งผู้ร้องและญาติได้มาเคารพกราบไหว้ตามประเพณี เมื่อที่ดินดังกล่าว ต ล และชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยนที่มาจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ร่วมกันออกเงินซื้อมาจัดตั้งเป็นทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝังศพของชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยนมิใช่เพื่อชาวจีนกลุ่มอื่น ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นทรัสตีของทรัสต์ป่าช้าบ้าบ๋าได้
ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 เป็นชาวจีนแคะ แม้มีบิดาเลี้ยงเป็นชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยน ผู้คัดค้านที่ 3 ก็มิได้เกี่ยวข้องกับบิดาเลี้ยงทางสายโลหิต ย่อมไม่มีบรรพบุรุษฝังอยู่ในป่าช้าจีนบ้าบ๋า และเมื่อผู้คัดค้านที่ 3 เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ครอบครองปรปักษ์ที่ดินป่าช้าจีนบ้าบ๋าซึ่งศาลฎีกาตัดสินว่า การดำเนินคดีของผู้คัดค้านที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริต แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจบังคับได้ ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ความย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่จะขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าแทน ล ทรัสตีคนเดิม ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1686
ป.วิ.พ. ม. 142 (5), ม. 145, ม. 246, ม. 247
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2540
โฉนดที่ดินซึ่งออกให้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2462 มีข้อความว่า โฉนดที่ดินฉบับนี้ให้ไว้เป็นสำคัญแก่ ล. ในหน้าที่ทรัสต์ป่าช้าจีน แสดงให้เห็นว่า ล. มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวในฐานะเป็นทรัสต์ที่จะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกที่ดินแปลงนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของ ล. อันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
ทรัสต์ที่ตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 ซึ่งเป็นวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มาตรา 1686 มีผลสมบูรณ์ใช้ได้เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง
ล. มีชื่อเป็นทรัสต์ในโฉนดที่ดินก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 จึงต้องใช้กฎหมายก่อนนั้นบังคับ คือ พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 2พ.ศ. 2459 มาตรา 8 ซึ่งกำหนดว่า ถ้าผู้ใดเป็นทรัสต์ในเรื่องที่ดินมีโฉนดแผนที่แล้วให้มีอำนาจมาจดทะเบียนชื่อให้มีข้อความบ่งชัดในหลังโฉนดว่าเป็นทรัสต์ด้วย เมื่อโฉนดที่ดินว่าโฉนดที่ดินมีข้อความฉบับนี้ให้ไว้เป็นสำคัญแก่ ล. ในหน้าที่ทรัสต์ป่าช้าจีน จึงฟังได้ว่ามีการตั้งทรัสต์ขึ้นจริง เพราะตามกฎหมายเรื่องทรัสต์ขณะนั้นการตั้งทรัสต์ไม่ต้องทำเป็นตราสารตามแบบพิธีอย่างใดเป็นพิเศษ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1686
พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2459 ม. 8
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2540
ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทที่ชาวจีนฮกเกี้ยนได้ช่วยกันออกเงินซื้อที่ดินโดยให้ล.เป็นผู้จัดการขณะร่วมกันออกเงินซื้อที่พิพาทซึ่งยังไม่มีใบสำคัญสำหรับที่ดินเพื่อทำเป็นป่าช้าฝังศพโดยตั้งเป็นทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าและให้ล. เป็นทรัสตีต่อมาล.ได้ไปดำเนินการออกโฉนดที่พิพาทและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าอันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดินฉบับที่2พ.ศ.2459มาตรา8การตั้งทรัสต์และทรัสตีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1686แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจดทะเบียนกันไว้หรือไม่ก็มีผลบังคับได้ ลักษณะของป่าช้าจีนบ้าบ๋าไม่ใช่สถานีที่ฝังศพสำหรับเฉพาะคนในตระกูลหรือกลุ่มพวกพ้องของล. เท่านั้นแต่ใช้เป็นที่ฝังศพของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมากโดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นใครถือได้ว่าทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพและบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตายอันเป็นประโยชน์ต่อชาวจีนฮกเกี้ยนทั่วไปลักษณะของทรัสต์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลหรือทรัสต์มหาชนจึงเป็นทรัสต์ถาวรไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไปเองดังเช่นทรัสต์เอกชนทั่วไปแม้ต่อมาล. ได้ถึงแก่กรรมที่ประเทศสิงคโปร์แล้วก็ตามแต่ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าก็ไม่ได้เลิกหรือสิ้นสภาพไปผู้มีส่วนได้เสียของทรัสต์ดังกล่าวหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งทรัสตีคนใหม่แทนได้ แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของล. คนในบังคับอังกฤษผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์และศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตามแต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นบังคับคดีว่าที่พิพาทเป็นของล. ในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของล. ดังที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอทั้งตามลักษณะที่พิพาทในขณะนั้นก็ยังเป็นป่าช้าฝังศพของชาวจีนอยู่และที่พิพาทส่วนใหญ่เป็นที่ฝังศพก่อปูนซีเมนต์มีรูปแบบเป็นฮวงซุ้ยของชาวจีนทั่วไปจากสภาพของป่าช้าดังกล่าวย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าไปยึดถือเพื่อตนทั้งตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพเนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่พิพาทอย่างเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้างการดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา5ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 5, ม. 1382, ม. 1686
ป.วิ.พ. ม. 1 (7), ม. 292 (2)
พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2459 ม. 8