“มาตรา 1709 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1709” คืออะไร?
“มาตรา 1709” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1709 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลได้ก็ต่อเมื่อความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้นถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลเช่นนั้น พินัยกรรมนั้นก็จะมิได้ทำขึ้น
ความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับ แม้ถึงว่ากลฉ้อฉลนั้น บุคคลซึ่งมิใช่เป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมได้ก่อขึ้น
แต่พินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นโดยสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมมิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่ที่ได้รู้ถึงการสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้น “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1709” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1709 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4693/2545
การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในเอกสารประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 บัญญัติให้ผู้เชี่ยวชาญอาจแสดงความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะต้องการ เมื่อพันตำรวจโท ป.ทำความเห็นในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ตายเป็นหนังสือมาแล้ว โดยให้ความเห็นว่าลายมือชื่อเขียนไม่คงที่ไม่อาจลงความเห็นใด ๆ ได้เช่นนี้ การให้พันตำรวจโท ป.มาเบิกความประกอบรายงานอีกจึงไม่มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดีแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงเป็นดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า พินัยกรรมของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ซึ่งพินัยกรรมปลอมกับพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเพราะพินัยกรรมปลอมไม่มีผลบังคับเป็นพินัยกรรมแต่อย่างใด ส่วนพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลมีผลบังคับเป็นพินัยกรรมได้ แต่อาจจะถูกศาลสั่งเพิกถอนได้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว นอกจากนี้พินัยกรรมที่ได้ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมมิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1709 ฉะนั้น ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ จึงมิได้รวมถึงการใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้ผู้ตายทำพินัยกรรมด้วย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1709
ป.วิ.พ. ม. 88, ม. 95, ม. 130, ม. 183
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2535
โจทก์กล่าวในฟ้องว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นบุตร ของ ส.ซึ่งมีสิทธิได้รับทรัพย์คนละส่วนตามข้อกำหนดในพินัยกรรมของส.กับพินัยกรรมมีข้อกำหนดให้ทรัพย์อีกส่วนหนึ่งตกได้แก่ผู้ทำบุญ อุทิศให้แก่ ส.เมื่อส.ถึงแก่กรรมอันเป็นเจตนาของส. จำเลยที่ 3ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมต่อนายอำเภอ คดีนี้ เมื่อโจทก์เห็นว่าพินัยกรรมไม่ถูกต้อง เป็นโมฆะทำขึ้นโดย มีการบังคับขู่เข็ญหรือฉ้อฉลไม่เป็นไปตามเจตนาเดิมของ ส. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทของ ส. ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมดังกล่าวได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1708 และมาตรา 1709.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1708, ม. 1709
ป.วิ.พ. ม. 55
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3293/2525
โจทก์ฟ้องว่าในขณะทำพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมเจ็บป่วยจนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีเจตนาในการทำพินัยกรรม พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะ หาได้ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกข่มขู่ไม่ จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 มาใช้บังคับตามที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1708, ม. 1709, ม. 1710