Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1713 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1713 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1713” คืออะไร? 


“มาตรา 1713” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1713 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
              (๑) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
              (๒) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
              (๓) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
              การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ผู้จัดการมรดก" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ผู้จัดการมรดก" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1713” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1713 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2563
การที่ผู้ตายที่ 2 เคยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองร่วมกับผู้ตายที่ 1 มาก่อน โดยมีข้อที่ 3 ระบุว่า พินัยกรรมฉบับนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผู้ทำพินัยกรรมคนหนึ่งคนใดจะถอนพินัยกรรมฉบับนี้ หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะต้องกระทำในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสองคนและต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย ถ้าผู้ทำพินัยกรรมฉบับนี้คนหนึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ถอนพินัยกรรมส่วนของตน หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ไม่ได้ หากทำพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นจะไม่มีผลทำให้พินัยกรรมฉบับนี้ไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด นั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันในส่วนของผู้ตายที่ 2 เพราะถือเป็นข้อกำหนดของผู้ตายที่ 1 เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่นคือผู้ตายที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายภายหลัง ทั้งผู้ตายที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมฉบับแรกก็ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลัง ยกทรัพย์สินแก่บุตร 7 คน รวมทั้งผู้คัดค้าน โดยไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นของผู้ตายที่ 2 นอกพินัยกรรม จึงเป็นกรณีที่พินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกเฉพาะส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1693 และ 1694 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องมิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฉบับหลัง ถือว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมของผู้ตายที่ 2 เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในส่วนของผู้ตายที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1608 วรรคท้าย, ม. 1693, ม. 1694, ม. 1713


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2562
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากผู้คัดค้านผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการแสดงเจตนา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้ผู้ตายและผู้คัดค้านยังไม่ได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียน การเลิกรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายและผู้คัดค้านย่อมมีผลแล้วนับแต่เวลาที่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1598/36 ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและไม่อยู่ในฐานะทายาทลำดับที่หนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28, 1629 ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
บทบัญญัติในวรรคสองของ ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยพิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1598/28, ม. 1598/36, ม. 1629, ม. 1713


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2561
แม้สูติบัตรจะระบุว่าเจ้ามรดกเป็นมารดาและผู้ร้องเป็นบิดาของผู้ร้องขอ แต่เอกสารดังกล่าวก็หาใช่พยานหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างเด็ดขาดว่า ผู้ร้องขอเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะการที่เอกสารดังกล่าวปรากฏชื่อเจ้ามรดกกับผู้ร้องเป็นมารดาและบิดาของผู้ร้องขอ ก็เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการบอกเล่าและบันทึกลงในเอกสารดังกล่าวตามการบอกกล่าวของผู้แจ้งเท่านั้น หาใช่เป็นการตรวจพิสูจน์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่หากมีการคัดค้านเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ต้องมีภาระการพิสูจน์ความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารดังกล่าว
ผู้ที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้" ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 มิได้เป็นทายาทของเจ้ามรดก และแม้ผู้คัดค้านที่ 7 จะเป็นทายาทของผู้ร้องและผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1713
ป.วิ.พ. ม. 127
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
ติดต่อเราทาง LINE