“มาตรา 1719 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1719” คืออะไร?
“มาตรา 1719” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1719 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1719” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1719 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2565
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ม. ผู้ตาย ซึ่งมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่เพียงทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์มรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันได้แก่การแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมทุกคนเท่านั้น แม้ในการจัดการมรดกทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาท จำเลยที่ 1 อาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายมรดกได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท แต่ต้องเป็นการกระทำเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จำเลยที่ 1 ไม่อาจกระทำการใด ๆ ต่อทรัพย์มรดกโดยประการอื่นได้ การที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้เป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดการมรดกโดยทั่วไปเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากแต่เป็นการกระทำใด ๆ กับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยทุจริต แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำโดยอาศัยสิทธิการเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่อาจกระทำได้ หากปราศจากความยินยอมของทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะรับฟังว่าซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพราะจำเลยที่ 3 ซื้อจากจำเลยที่ 1 ซึ่งขายที่ดินพิพาทแล้วเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น อันมิใช่เป็นการทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตามที่กฎหมายให้อำนาจผู้จัดการมรดกให้กระทำได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขาย การที่โจทก์และ อ. ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถือเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงมีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1299 วรรคสอง, ม. 1336, ม. 1719
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2564
คดีก่อน น. ฟ้องจำเลยที่ 20 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจำเลยที่ 20 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงขายที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นสินสมรสของ น. โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือให้สัตยาบันจาก น. เป็นการจัดการมรดกโดยมิชอบ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพัน น. จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งเป็นของ น. สองในสามส่วนอันเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1462 วรรคสอง (เดิม) ส. ผู้เป็นสามีมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ได้แต่ผู้เดียวโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจาก น. ภริยาก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1468 (เดิม) และมาตรา 1473 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น ส. ย่อมมีอำนาจทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์รวมทั้งในส่วนที่เป็นสินสมรสของ น. ให้แก่ผู้อื่นได้โดยลำพัง โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจาก น. ก่อน จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 20 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. คู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ ส. ทำไว้ก่อนตายได้ การที่จำเลยที่ 20 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกในการจัดการทรัพย์สินของ ส. เพื่อชำระหนี้ที่ ส. มีความรับผิดอยู่ก่อนตาย และเพื่อนำทรัพย์สินที่เหลือมาจัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ส. ตามกฎหมาย อันเป็นการจัดการทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ตามหน้าที่ที่จำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หาใช่เป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่ของผู้จัดการมรดกไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพัน น. รวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ น. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 20 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วและผูกพันโจทก์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นอย่างอื่นว่า ส. ไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 20 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของ น. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1462 (เดิม), ม. 1473 (เดิม), ม. 1719
ป.วิ.พ. ม. 145 วรรคหนึ่ง
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3478/2564
คดีนี้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยนำสมุดบัญชีเงินฝากประจำธนาคารเป็นหลักประกัน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างพิจารณา แต่ในระหว่างการเลื่อนคดีไปเพื่อนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 สัญญาประกันตัวจำเลยที่ 4 เป็นอันสิ้นสุดลง ศาลชั้นต้นต้องคืนหลักประกันแก่ผู้ประกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 118 แต่เมื่อจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ประกันถึงแก่ความตาย ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลและผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับมรดกหลักประกันดังกล่าวตามพินัยกรรมต่างยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น การพิจารณาคำร้องดังกล่าวย่อมเป็นกรณีพิจารณาความเกี่ยวกับสัญญาประกันตัวจำเลยที่ 4 ในคดีอาญา และเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาทางอาญา การใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 และลักษณะ 2 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติว่าเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างไรแล้ว ให้คำสั่งหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นถึงที่สุดแต่ประการใด ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้คืนหลักประกันให้แก่ผู้ร้องได้ป.วิ.อ. มาตรา 118 บัญญัติว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดหรือความรับผิดตามสัญญาประกันหมดไปตามมาตรา 116 หรือโดยเหตุอื่น ให้คืนหลักประกันแก่ผู้ที่ควรรับไป” ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตายอันเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) สัญญาประกันตัวจำเลยที่ 4 เป็นอันสิ้นสุดลง ศาลจึงชอบที่จะคืนหลักประกันให้แก่ผู้ที่ควรรับไป แม้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 ตามคำสั่งศาลมีหน้าที่ตามกฎหมายในการรวบรวมทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ผู้ตายรวมเข้าไว้ในกองมรดกผู้ตายรวมถึงการขอคืนหลักประกันของจำเลยที่ 4 ผู้ตายเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 แต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันดังกล่าวด้วย โดยอ้างว่าจำเลยที่ 4 ทำพินัยกรรมยกมรดกเป็นสมุดบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกและผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดเพชรบุรี กรณีจึงยังฟังได้ไม่แน่นอนว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นผู้ที่ควรได้รับสมุดบัญชีเงินฝากประจำอันเป็นหลักประกันไปจากศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นผู้สั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวใช้ดุลพินิจให้รอฟังคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีในคดีดังกล่าว จึงชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1719
ป.วิ.อ. ม. 39 (1), ม. 116, ม. 118