“มาตรา 1729 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1729” คืออะไร?
“มาตรา 1729” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1729 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 แต่กำหนดเวลานี้ เมื่อผู้จัดการมรดกร้องขอก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือน ศาลจะอนุญาตให้ขยายต่อไปอีกก็ได้
บัญชีนั้นต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย
บุคคลซึ่งจะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้ตามมาตรา 1670 จะเป็นพยานในการทำบัญชีใด ๆ ที่ต้องทำขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ไม่ได้ “
อ่านคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ผู้จัดการมรดก" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "บัญชีทรัพย์มรดก" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "การทำพินัยกรรม" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1729” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1729 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6911/2560
คดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 และข้อ 6 มีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ทายาททุกคนที่เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความและผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาต้องเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับทายาทอื่นในการจดทะเบียนโอนที่ดิน และตามข้อ 6 ศ. ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรับโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ แต่ทายาททุกคนรวมทั้ง ศ. ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ผู้ร้องจึงไม่อาจทำหน้าที่แบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ถึงข้อ 6 ได้ ทั้งผู้คัดค้านไม่ยอมรับโอนที่ดินส่วนของตนและได้อายัดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน แต่ไม่ใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงเพิกถอนการอายัด ทนายผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 แล้วให้ผู้คัดค้านไปรับโอนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้พยายามดำเนินการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านจะเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งของกองมรดก แต่การมอบหน้าที่ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวอาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นของกองมรดกได้ ดังนั้น หากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน รวมทั้งทายาทคนอื่นก็สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1727, ม. 1728, ม. 1729, ม. 1730, ม. 1731, ม. 1732, ม. 1733
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2552
คำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนระบุว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลชั้นต้นไม่จัดการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกทำให้ทายาทอื่นที่จะได้รับส่วนแบ่งในกองมรดกได้รับความเสียหายโดยผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านเป็นทำนองปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เนื้อหาตามคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 จึงแสดงรายละเอียดชัดเจนแล้วว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้มายื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นจำต้องไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 เพื่อฟังพยานหลักฐานจากผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ร้องให้ครบถ้วนกระบวนความเสียก่อนว่า ผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ตามคำร้องขอหรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรที่ศาลจะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ดังกล่าวหรือไม่ รวามทั้งผู้ร้องได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1728 ถึง 1733 ซึ่งถือเป็นสาเหตุอย่างอื่นที่ศาลอาจเห็นว่าเป็นเหตุสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสียก็ได้หรือไม่ โดยมิพักต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีเนื้อหาและประเด็นอย่างเดียวกันกับคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเคยยื่นคำร้องขอแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดไปแล้วหรือไม่ เพราะในกรณีเช่นนี้ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 เป็นการเฉพาะตัวของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละคน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1727, ม. 1728, ม. 1729, ม. 1730, ม. 1731, ม. 1732, ม. 1733
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2552
ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟัง แม้ผู้ร้องไปขอรับเงินฝากอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคาร ตามหนังสือทายาทขอรับมรดก แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกัน จึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดก ที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่าในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก
ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1713, ม. 1716, ม. 1725, ม. 1728 (2), ม. 1729, ม. 1736, ม. 1744