Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1740 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1740 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1740” คืออะไร? 


“มาตรา 1740” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1740 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เว้นแต่เจ้ามรดกหรือกฎหมายจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้จัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ตามลำดับต่อไปนี้
              (๑) ทรัพย์สินนอกจากอสังหาริมทรัพย์
              (๒) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งจัดสรรไว้ชัดแจ้งในพินัยกรรมว่าสำหรับชำระหนี้ถ้าหากว่ามีทรัพย์สินเช่นนั้น
              (๓) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งทายาทโดยธรรมชอบที่จะได้รับในฐานะเช่นนั้น
              (๔) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งโดยมีเงื่อนไขว่า ผู้นั้นต้องชำระหนี้ของเจ้ามรดก
              (๕) อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะทั่วไปดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๑
              (๖) ทรัพย์สินเฉพาะอย่างซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะเฉพาะดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๑
              ทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งได้จัดสรรไว้ตามความที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ให้เอาออกขายทอดตลาด แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้ โดยชำระราคาทรัพย์สินนั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้ จนพอแก่จำนวนที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ “


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1740” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1740 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2541
สำหรับการแบ่งขายที่ดินครั้งแรก จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกอ้างว่าขายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ของเจ้ามรดก จึงเป็นการจัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ ซึ่งจะต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ.มาตรา 1740 วรรคท้ายกล่าวคือ ให้เอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้โดยชำระราคาทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้ จนพอแก่จำนวนที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่จำเลยที่ 1 หาได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าให้ความยินยอมในการขายที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการซื้อขายที่ไม่ชอบ สำหรับการขายที่ดินครั้งที่สองในที่ดินส่วนที่เหลือนั้น
แม้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 282 เป็นสินสมรสของเจ้ามรดกกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งก็ตามแต่จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิในฐานะเจ้าของรวมกับเจ้ามรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส่วนของเจ้ามรดกครึ่งหนึ่งย่อมตกได้แก่ทายาทซึ่งมีโจทก์ทั้งห้าที่เป็นทายาทรวมอยู่ด้วยทันที จำเลยที่ 1 จึงยังมีสิทธิในฐานะเจ้าของรวมกับทายาทของเจ้ามรดกคนอื่น แม้ในเวลาต่อมาจำเลยที่ 1 จะทำการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง จำเลยที่ 1 และทายาทของเจ้ามรดกคนอื่นก็ยังเป็นเจ้าของรวมที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ จำเลยที่ 1 จะแบ่งแยกแล้วกำหนดว่าเป็นของตนส่วนใดโดยมิได้รับความยินยอมจาเจ้าของรวมคนอื่น ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1364หาได้ไม่ ดังนั้น ที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 15 ไร่ จึงมิใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1การที่จำเลยที่ 1 รับโอนมรดกที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 15 ไร่ ใส่ชื่อจำเลยทั้งสองและต่อมาโอนขายส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า จึงเป็นการโอนโดยมิชอบเช่นกัน เมื่อการทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งสองครั้งของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จะเป็นทายาท แต่รับโอนในฐานะผู้ซื้อมิใช่รับโอนในฐานะทายาท จึงมิใช่เป็นไปเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก แต่เป็นการกระทำนอกขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกต้องเสียเปรียบ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิที่จะเพิกถอนการโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกในสภาพเดิม
จำเลยที่ 2 ใช้หนี้ของเจ้ามรดกให้แก่ธนาคารไป 548,000บาท ดังนั้น จึงต้องหักเงินกองมรดกใช้หนี้ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เสียก่อนแบ่งมรดก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1364, ม. 1740


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2541
เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และจะต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วันตามมาตรา 1728 หากในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของ อ. จำเป็นต้องขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเพื่อนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินนั้นไปขายได้ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นการจัดการมรดกหรือมีการทำบัญชีทรัพย์มรดก การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ก็มิใช่เพื่อจะนำเงินที่ขายได้มาแบ่งปันให้แก่ทายาทของ อ.แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินส่วนหนึ่งของเงินมัดจำที่โจทก์มอบให้ไว้ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไปใช้จ่ายในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง อีกทั้งก่อนโจทก์และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับพิพาทกันจำเลยที่ 1 และโจทก์รู้อยู่แล้วว่าทายาทของ อ. ไม่ต้องการให้ขายที่ดินแปลงพิพาท โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของ อ.ได้ยื่นคำขออายัดที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ กับได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ อ.และศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ อ.แทนจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ เมื่อมิใช่เป็นการทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ อ.ทั้งยังเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน โดยไม่สุจริต นอกจากนี้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจปรับเข้ากับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 และมาตรา 1740 ได้ เพราะมิใช่กรณีที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการที่จำเป็นตามมาตรา 1736 หรือเป็นการขายทรัพย์ เพื่อชำระหนี้ตามมาตรา 1740 ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงไม่ผูกพันทายาทของ อ. โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1719, ม. 1724, ม. 1728, ม. 1736, ม. 1740


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701/2520
ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายฝากทรัพย์มรดก (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1236/2491) เมื่อขายแล้วไม่แบ่งเงินให้ทายาทก็เป็นเรื่องระหว่างผู้จัดการมรดกกับทายาทที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก หาทำให้นิติกรรมซื้อขายที่ผู้จัดการมรดกทำไปเป็นโมฆะไม่
การที่เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้จัดการมรดกโดยมิได้สอบสวนว่าทายาทได้ยินยอมและผู้จัดการมรดกมีเหตุผลในการขายสมควรอย่างไรหรือไม่นั้น ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เพราะไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติเช่นนั้น
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 420, ม. 1719, ม. 1720, ม. 1724, ม. 1736, ม. 1740
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
ติดต่อเราทาง LINE