“มาตรา 170 หรือ มาตรา 170 อาญา คืออะไร?
“มาตรา 170 ” หรือ “มาตรา 170 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาลให้มาให้ถ้อยคำ ให้มาเบิกความหรือให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใดในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐]”
3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 170” หรือ “มาตรา 170 อาญา” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2533
บทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 170 มีความมุ่งหมายจะเอาโทษแก่ผู้ที่ได้ขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาลให้มาให้ถ้อยคำ ให้มาเบิกความหรือให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใดในการพิจารณาคดีอันเป็นบทบัญญัติถึงการกระทำความผิดต่อศาลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมโดยเฉพาะแม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยขัดขืนคำสั่งศาลไม่ส่งเงินที่อายัดไว้ไปยังศาลแพ่ง แต่ก็ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการกระทำผิดของจำเลย เพราะโจทก์จำเลยมิได้มีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการล่วงสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2522
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 มุ่งหมายเอาโทษแก่ผู้ที่ขัดขืนคำสั่งของศาลที่ให้ส่งเอกสารในการพิจารณาคดี อันเป็นบทบัญญัติถึงการกระทำความผิดต่อศาลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมโดยตรงเฉพาะ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรานี้
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1880/2516
ศาลหมายเรียกเอกสารไปยังจำเลยให้ส่งมาศาลตามคำขอของโจทก์ (ราษฎร) เมื่อจำเลยไม่ส่งเอกสารมาให้โดยอ้างว่าเอกสารนั้นไม่มี ทั้งที่เอกสารนั้นมีอยู่ก็เป็นความผิดที่กระทำต่อศาลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรม โจทก์หาใช่ผู้เสียหายโดยตรงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 ไม่ และการกระทำของจำเลยไม่เข้าลักษณะเป็นความผิด ตามมาตรา 187,188