“มาตรา 338 หรือ มาตรา 338 อาญา คืออะไร?
“มาตรา 338 ” หรือ “มาตรา 338 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐] “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 338” หรือ “มาตรา 338 อาญา” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2563
โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยฐานรีดเอาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 338 แต่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ ฟังไม่ได้ว่ามีคลิปวิดีโอที่มีภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นวัตถุความลับตามฟ้องที่จะไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอยู่จริง การกระทำของจำเลยไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาจะข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้สร้อยคอทองคำ โดยการขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายที่
2 ไม่ยินยอม จำเลยจะนำคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 ไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับโดยคลิปวิดีโอนั้น อย่างไรก็ตามได้ความว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 มีเพศสัมพันธ์กันอันถือเป็นเรื่องเสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยถือเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายที่ 2 ผู้ถูกขู่เข็ญ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ยอมคืนสร้อยคอทองคำแก่จำเลย การกระทำจึงเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานกรรโชกซึ่งมีโทษเบากว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวพันกันกับความผิดข้อหาอื่นที่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยมาและเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12685/2558
การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338 หมายความว่า การขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยเหตุการณ์ข้อเท็จจริงที่ไม่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป และเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าของความลับประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ ดังนี้ ความลับจึงไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน หากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและเจ้าของข้อเท็จจริงประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นรู้ก็ถือว่าเป็นความลับแล้ว เมื่อฎีกาของจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีภริยาอยู่แล้ว แต่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาประมาณ 1 ปี ข้อเท็จจริงที่จำเลยกับผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน แสดงว่าผู้เสียหายประสงค์จะปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นโดยเฉพาะภริยาจำเลยรู้เรื่องดังกล่าว เรื่องนั้นจึงเป็นความลับของผู้เสียหาย การที่จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายว่าหากผู้เสียหายไม่นำเงินจำนวน 20,000 บาท มาให้จำเลย จำเลยจะนำเรื่องความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างจำเลยซึ่งมีครอบครัวแล้วกับผู้เสียหายไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น จึงเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับของผู้เสียหาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 338