คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1653, 1671, 1705 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 145, 183

โจทก์ฟ้องว่าพินัยกรรมของ อ. ซึ่งยกทรัพย์มรดกให้จำเลยเป็นพินัยกรรมปลอม ให้จำเลยแบ่งมรดกของ อ.ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ปรากฏว่าอีกคดีหนึ่งซึ่งจำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามพินัยกรรม และโจทก์คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมนั้น คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างว่า มิใช่พินัยกรรมปลอมคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความในคดีนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ดังนั้น ในคดีนี้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอมหาได้ไม่

แม้พินัยกรรมจะมิได้ลงชื่อผู้พิมพ์พินัยกรรมตามมาตรา 1671ก็ตาม หาก อ. ผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้จัดพิมพ์พินัยกรรมเองก็ไม่จำต้องลงชื่อระบุว่าเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมตามมาตราดังกล่าว ทั้งพินัยกรรมที่มิได้ลงชื่อผู้พิมพ์ก็หาทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไม่ เพราะมาตรา 1705หาได้บัญญัติให้พินัยกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามมาตรา 1671เป็นโมฆะด้วยไม่

คดีมีประเด็นว่าพินัยกรรมตามที่จำเลยอ้างเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ไม่มีข้อเท็จจริงโต้เถียงกันว่าจำเลยเป็นผู้เขียนหรือผู้พิมพ์พินัยกรรมหรือไม่แต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้นำสืบและมิใช่ประเด็นแห่งคดี โดยฟังว่าจำเลยเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรม แล้วนำมาวินิจฉัยปรับเป็นข้อกฎหมายว่าจำเลยต้องห้ามมิให้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1653,1705ย่อมเป็นการชี้ขาดตัดสินคดีนอกฟ้องนอกประเด็น แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ก็จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1287

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1287/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1291 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142, 188

การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติอันฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1291 อาจทำ เป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาท โดยไม่จำต้องฟ้องสมาคมเป็นจำเลยก็ได้

โจทก์ฟ้องคณะกรรมการบริหารสมาคม 14 คนเป็นจำเลยขอให้จำเลยเพิกถอนมติที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ โดยระบุว่าจำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบบริหารกิจการตามข้อบังคับจำเลยได้ลงมติฝ่าฝืนข้อบังคับของสมาคม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นสมาชิกสมาคม ดังนี้โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้รับผิดชอบกิจการของสมาคม ให้เพิกถอน มติโดยฝ่าฝืนข้อบังคับได้ หาจำต้องฟ้องสมาคม ด้วยไม่

โจทก์ฟ้องคณะกรรมการบริหารสมาคมแม้คำขอของ โจทก์ระบุเจาะจง ให้จำเลยเพิกถอนมติก็ตาม แต่สภาพ แห่งการบังคับอาจไม่ เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1291 ก็บัญญัติให้ศาล เพิกถอนมตินั้นเสียโดยไม่ต้องบังคับให้บุคคลใด เพิกถอน ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนมติ ของสมาคม โดยไม่ได้บังคับจำเลยได้ ไม่เป็นการเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1284

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1284/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382

การครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382 นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ครอบครองต้องทราบมาก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินมีโฉนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1264

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1264/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 17, 36 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 ม. 64 ทวิ วรรคสอง, 64 ตรี, 74, 74 ทวิ

การขอคืนของกลางตามพระราชบัญญัติป่าไม้ในกรณีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลไม่พิพากษาให้ริบนั้น ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองขอคืนได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 64 ทวิ วรรคสอง ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 มาตรา 26แต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ริบตามมาตรา 74 และ 74ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้นั้นมิได้บัญญัติเรื่องการขอคืนของกลางไว้ในที่ใดในพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องใช้บทบัญญัติทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ประกอบด้วยมาตรา 17บุคคลภายนอกผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกริบมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดย่อมจะร้องขอต่อศาลให้สั่งคืนของกลางแก่ตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2522

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 39 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอคืนรถยนต์ของกลางที่ศาลสั่งริบ ศาลสั่งยกคำร้อง เพราะผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันที่ขอคืน คดีถึงที่สุด การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางคันดังกล่าวในคดีนี้อีกโดยอ้างว่ารถยนต์เป็นของผู้ร้องนั้น จึงเป็นการรื้อร้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 406

ศาลพิพากษาให้โจทก์ใช้เงินค่าจ้างว่าความแก่จำเลยเป็นเงินได้โดยชอบตามกฎหมาย โจทก์อ้างว่าจำเลยว่าความให้โจทก์ในคดีนั้นโดยไม่ถูกต้องและหลอกลวงโจทก์ จำเลยไม่ควรได้ค่าจ้างทนายความ จึงฟ้องเรียกเงินคืน ดังนี้ กรณีไม่ใช่ลาภมิควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269 - 1273/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 86, 104, 227, 243 (2) ประมวลรัษฎากร ม. 65 ตรี (9), 65 ตรี (10, 65 ตรี (11, 65 ตรี (13, 65 ตรี (14, 70 ทวิ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยเห็นว่าตามคำฟ้อง คำให้การ และเอกสารที่คู่ความส่งศาล ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้แล้วไม่จำเป็นต้องสืบพยานฟังข้อเท็จจริงอีกต่อไป แล้วยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายให้ยกฟ้องโจทก์ ดังนี้ เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้

ประเด็นข้อสำคัญของคดีทั้ง 5 สำนวนซึ่งพิจารณารวมกันมีว่า เงินที่สาขาธนาคารโจทก์ในกรุงเทพฯ จ่ายให้สำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นในต่างประเทศเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (9)(10)(11) หรือไม่ และเงินดังกล่าวถือว่าเป็นกำไรซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา70 ทวิหรือไม่ ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่ดอกเบี้ยที่คิดสำหรับเงินทุนเงินสำรองหรือเงินกองทุนของตนเอง ไม่ใช่เงินกำไรหรือกันไว้จากกำไร แต่เป็นเงินได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายและเป็นรายจ่ายที่จะทำให้ได้กำไรมาสำหรับดำเนินกิจการสาขาธนาคารโจทก์ในประเทศไทยโดยเฉพาะไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13)(14) จึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้จำเลยต่อสู้ว่าการจ่ายเงินดังกล่าวภายในธุรกิจนิติบุคคลเดียวกันต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (9)(10)(11) และถือว่าโจทก์จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ กับต่อสู้เกี่ยวกับข้อที่โจทก์อ้างว่ามีค่าใช้จ่ายโดยต่อสู้ด้วยว่า โจทก์จะยกเรื่องค่าใช้จ่ายนำมาฟ้องไม่ได้เพราะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ดังนี้ การที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวข้างต้นจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้เถียงกันเสียก่อนว่า เงินที่สาขาธนาคารโจทก์ในกรุงเทพฯจ่ายไปนั้นเป็นเงินที่จ่ายไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือตามที่จำเลยต่อสู้และมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ทั้งโจทก์ยกเรื่องค่าใช้จ่ายขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือไม่นอกจากนี้ในบางสำนวนยังมีข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้เถียงกันอยู่ เกี่ยวกับโจทก์จำหน่ายเงินกำไรออกไปเมื่อไรก่อนหรือหลังมาตรา 70 ทวิใช้บังคับเจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีถูกต้องหรือไม่ ประเมินให้ชำระภาษีซ้ำหรือไม่ โจทก์ชำระเงินภาษีบางปีไปโดยผิดหลงหรือไม่ ทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ คดีขาดอายุความหรือไม่ โจทก์จำหน่ายเงินออกไปต่างประเทศจำนวนเท่าใด กันไว้เป็นเงินสำรองหรือไม่ ดังนั้นย่อมจำเป็นต้องสืบพยานของจำเลยทั้งสองฝ่ายเพื่อฟังข้อเท็จจริงให้ยุติเสียก่อนจึงจะวินิจฉัยได้ การที่ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนทั้ง 5 สำนวนที่พิจารณารวมกันไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานของคู่ความแล้วพิพากษาใหม่จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1258

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1258/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 437 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 243

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะจำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์โดยประมาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420ประการหนึ่ง และให้รับผิดในฐานะจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ขณะเกิดเหตุตามมาตรา 437 อีกประการหนึ่งฉะนั้น แม้คดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า ต. เป็นคนขับรถจำเลยก็ตาม ในคดีนี้ศาลก็ยังต้องวินิจฉัยต่อไปว่าความรับผิดของจำเลยตามมาตรา 437 มีเพียงใด ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามาตรา 437มุ่งหมายให้มีข้อสันนิษฐานเป็นคุณแก่ฝ่ายที่มิใช่ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล โจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล ไม่อาจบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 437 ได้นั้น เป็นการกล่าวเกี่ยวกับภาระแห่งการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบ มิใช่วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 437ที่ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94

สืบพยานบุคคลว่า ผู้กู้ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้มิได้กรอกข้อความ ซึ่งความจริงเป็นการร่วมทุนทำนาโดยโจทก์ออกค่าใช้จ่ายจำเลยออกแรงทำในนาของจำเลย เป็นการสืบว่าสัญญาไม่สมบูรณ์ สืบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2522

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 8 ทวิ คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519

อาวุธปืนตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนนั้นหมายความรวมถึงอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียนและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในความครอบครองและอาวุธปืนซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียน และไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในความครอบครองด้วย เมื่อจำเลยพาอาวุธปืนซึ่งไม่มีหมายเลขทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในความครอบครองติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว จำเลยจึงต้องมีความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายมาตรานี้ด้วย

« »
ติดต่อเราทาง LINE