คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
ในกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยบุกรุก ขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกและให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทตลอดจนชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นั้น เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้เป็นที่ยุติแล้วว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ ดังนี้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลฎีกาก็จำต้องถือตาม จะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่(อ้างฎีกาที่ 1172/2513)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายโดยทุจริต มิได้ฟ้องว่าจำเลยไม่คืนไม้ที่จับไว้จากผู้เสียหายศาลไม่ฟังว่าจำเลยเรียกเงิน จึงลงโทษจำเลยเพราะไม่คืนไม้เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 พระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ.2477
ตำรวจจับจำเลยได้พร้อมด้วยเฮโรอีน กัญชา และบ้องกัญชาเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดฯ พ.ศ.2465 มาตรา 20 ทวิฉบับที่ 4 พ.ศ.2504 มาตรา 6 กระทงหนึ่ง ผิดตาม พระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ.2477 มาตรา 102 กระทง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (4)
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงไว้ก่อนในข้อหาบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ คดีอยู่ระหว่างนัดไต่สวนมูลฟ้องอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 3 (อัยการจังหวัดนครราชสีมา) ฟ้องจำเลยในมูลกรณีเดียวกันต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดนครราชสีมา) ในข้อหาพยายามลักทรัพย์ คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนั้นศาลได้มีคำพิพากษาก่อนว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด คดีถึงที่สุดแล้วดังนี้ เห็นว่า การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นเคหสถานและฆ่าสุกรของโจทก์นั้น เป็นการกระทำที่ประสงค์ต่อผลในการลักสุกรหรือฆ่าสุกรการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกฟ้องเกี่ยวกับการกระทำครั้งเดียวกันนี้ในข้อหาพยายามลักทรัพย์ และศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว แม้โจทก์จะได้ยื่นฟ้องคดีไว้ก่อนคดีดังกล่าวก็ตาม แต่คดีที่อัยการฟ้องนั้นศาลได้มีคำพิพากษาก่อนสิทธิของโจทก์ที่ได้ฟ้องไว้แล้วย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา39(4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 306 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
โจทก์อ้างว่ารับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ มีแต่แบบพิมพ์การโอนซึ่งผู้เช่าซื้อลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความโจทก์ไม่ใช่เจ้าของและไม่ใช่ผู้เช่าซื้อ ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะรถยนต์ถูกชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1152/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 170 วรรคหนึ่ง, 193 วรรคหนึ่ง, 193 ทวิ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ นำมาปรับแก่คดีซึ่งอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้องดังนี้ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2522
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 329
ฝ่ายจำเลยและฝ่ายโจทก์ร่วมมีข้อโต้แย้งกันเรื่องแนวเขตรั้วที่จำเลยจะสร้างขึ้นใหม่ ขณะเจรจายังไม่ตกลงกันจำเลยได้กล่าวถ้อยคำต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจผู้มาทำการไกล่เกลี่ยว่าที่ต้องสร้างรั้วใหม่ เพราะไอ้คนนี้ (หมายถึงโจทก์ร่วม) มันเข้าไปข่มขืนคนในบ้านฉัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่วงเลยมาเป็นเวลานาน 2 ปีเศษแล้วดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 329
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 425 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โดยขับรถยนต์ประมาทชนนายหนูใบถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะนายจ้างของจำเลยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางจวงภรรยานายหนูใบผู้ตายไปแล้วเป็นเงิน 30,000 บาท โจทก์จึงฟ้องไล่เบี้ยจำเลยให้ชดใช้เงินคืน โจทก์ได้รับชดใช้คืนบ้างแล้วโดยได้รับชดใช้เงินคืนจากผู้ค้ำประกันจำเลยในการเข้าทำงานกับโจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท กับได้รับชดใช้จากการหักเงินเดือนของจำเลยอีก 287 บาท 94 สตางค์คงเหลือที่จำเลยจะต้องใช้คืนอีก 26,712 บาท 06 สตางค์ ดังนี้ เห็นได้ชัดว่าจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชดใช้คืนจากผู้ค้ำประกัน น่าจะมีความผิดพลาดในรายละเอียด เพราะนอกจากโจทก์จะได้ยืนยันถึงจำนวนเงินคงเหลือที่โจทก์จะได้รับชดใช้ไล่เบี้ยเอาจากจำเลยอีกเป็นเงิน 26,712 บาท 06 สตางค์แล้ว ตามคำขอท้ายฟ้องก็ยังระบุให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์อีก กรณีมิใช่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายครบถ้วนแล้วยังมาฟ้องเรียกค่าเสียหายอีก จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะได้ทำการชี้สองสถานและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 448
อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขตั้งกรรมการสอบสวนกรณียักยอกเงินคณะกรรมการเปรียบเสมือนเครื่องมือของกรม ถือว่ากรมรู้ตัวผู้รับผิดในวันที่คณะกรรมการรายงานให้กรมทราบ ซึ่งเป็นวันที่ 10 มิถุนายน 2518 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 มิถุนายน 2519 คดีขาดอายุความตาม มาตรา 448 การที่อธิบดียังไม่ได้พิจารณารายงานและให้กองนิติการพิจารณาให้ความเห็นอีก ก็ไม่เป็นเหตุที่จะกล่าวว่ากรมซึ่งผู้รักษาการแทนอธิบดีเป็นผู้แทนนิติบุคคลอยู่ยังไม่รู้ตัวผู้ต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2522
ประมวลรัษฎากร ม. 111, 118 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 (1), 177, 249 วรรคสอง
ปัญหาว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการปิดอากรแสตมป์ไม่ครบ จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นก็ยังยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่า อนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งชี้ขาดแล้วดังสำเนาคำชี้ขาดพร้อมด้วยคำแปลท้ายฟ้อง จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าคำชี้ขาดนี้ขัดต่อกฎหมายไทย เป็นการยอมรับแล้วว่ามีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังสำเนาที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องจริง ไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำสืบแสดงว่ามีคำชี้ขาดดังกล่าวอีก ดังนั้นถึงจะฟังว่าต้นฉบับปิดอากรแสตมป์ไม่ครบก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกฟ้อง