คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1157/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1356, 1627, 1755
โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของ ข. ระหว่างที่ ข. อยู่กินกับมารดาโจทก์ โจทก์ใช้นามสกุลของ ข. และ ข. เลี้ยงดูโจทก์มา 6-7 ปี ถือได้ว่า ข. ให้การรับรองว่าโจทก์เป็นบุตรจึงเป็นผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 มีสิทธิรับมรดกและมีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับมรดกได้
ทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทเท่านั้นที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 ได้จำเลยซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิได้เป็นทายาทโดยธรรมไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้
ทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของบิดามารดา ข. ที่ตกทอดแก่ข. ถือไม่ได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ข. เป็นเจ้าของร่วมกับ ข. ในทรัพย์พิพาทดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 242 (1), 249
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาทจำเลยสู้ว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิมารดาและบิดาบุญธรรมของจำเลย ไม่ได้อยู่โดยอาศัยสิทธิโจทก์ ถือว่ามิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ เพราะการกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์นั้นจะต้องเป็นการกล่าวแก้ว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง(อ้างฎีกาที่ 1054/2509) จึงเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแม้คู่ความอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้คู่ความมีสิทธิฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146 - 1147/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 240 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา 114 และ มาตรา 115 แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เป็นคนละเรื่องกันกับการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้ต้องใช้อายุความสิบปีตาม มาตรา164
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 56
จำเลยที่ 2 อายุ 18 ปี ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 อายุครบ 20 ปี บรรลุนิติภาวะจำเลยที่ 2 จึงมีความสามารถบริบูรณ์ มีอำนาจเป็นคู่ความด้วยตนเองศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาคดีไปได้ โดยไม่จำต้องสั่งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
โจทก์ฎีกาโดยคัดลอกเอาข้อความที่อุทธรณ์มาเป็นฎีกา แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยเหตุผลคนละอย่างกับที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องฎีกาโจทก์จึงไม่เป็นฎีกาที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224
คดีฟ้องให้จดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขาย เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 6
การกำหนดอัตราค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนโจทก์ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น คิดคำนวณจากทุนทรัพย์ตามฟ้อง มิใช่คำนวณจากทุนทรัพย์ที่ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118
โจทก์ไปติดต่อกู้เงินจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 โดยนำรถยนต์พิพาทไปเป็นหลักประกัน จำเลยที่ 3 ที่ 4 ตกลงโดยทำเป็นวิธีการให้โจทก์โอนขายรถยนต์พิพาทแก่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 3 ขายต่อไปยังจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จึงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทนั้นจากจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นวิธีการทางการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงแม้ว่าขณะโจทก์ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นยังไม่ได้มีการกรอกข้อความก็ตามแต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบถึงวิธีการทางการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ดีอยู่แล้วจึงมอบหมายให้จำเลยที่ 1 กรอกข้อความในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อได้หาใช่การไม่มีข้อความกรอกไว้ขณะโจทก์ลงชื่อเป็นหลักฐานว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นเป็นนิติกรรมอำพรางไม่แม้ความประสงค์เดิมของโจทก์เป็นเรื่องต้องการกู้เงิน ไม่ใช่ต้องการได้รถยนต์พิพาทแต่เมื่อโจทก์ยอมทำนิติกรรมตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 เพื่อในที่สุดจะได้เงินตามที่ต้องการ ก็แสดงว่าโจทก์เปลี่ยนมายินยอมผูกพันตามนิติกรรมที่ทำขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713, 1734, 1737
เจ้าหนี้กองมรดกซึ่งมีผู้จัดการมรดกหรือทายาทของผู้ตายที่จะต้องรับผิดชำระหนี้จากกองมรดกให้อยู่แล้วจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713ไม่มีสิทธิคัดค้านและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2523
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2497 ม. 4 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 4 บัญญัติว่า "นา"หมายถึงที่ดินซึ่งโดยสภาพใช้เป็นที่เพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ และคำว่า "พืชไร่" หมายความว่าพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและมีอายุสั้นหรือสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือน
จำเลยปลูกพืชจำพวกพริก หอม กระเทียม ผักกาด คะน้ามันเทศ ถั่วลิสง และมันแกวในที่พิพาท ไม่ได้ปลูกข้าวที่พิพาททั้งสี่ด้านมีต้นมะม่วงปลูกอยู่โดยรอบ ส่วนในที่พิพาทยกเป็นร่องในร่องมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่บนร่องปลูกต้นมันเทศบางร่องมีต้นถั่วฝักยาวปลูกอยู่ที่พิพาทมีคันดินทั้ง 4 ด้าน สูงเกินศีรษะทำไว้เพื่อกันน้ำท่วม แสดงว่าพืชที่จำเลยปลูกบนร่องเป็นพืชที่ไม่ต้องการให้น้ำท่วม เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย พืชที่จำเลยปลูกจึงเป็นพืชไร่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ.2517 และที่ดินที่จำเลยปลูกพืชไร่ย่อมถือว่าเป็น "นา" ตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว