คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 147 พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ม. 24
พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 มาตรา 24 มิได้บัญญัติให้อำนาจนายอำเภอแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่แต่อย่างใด การที่นายอำเภอมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานสำรวจสำหรับเขตหมู่บ้านและแต่งตั้งให้มีเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในหมู่บ้านที่ตนปกครองรับผิดชอบ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลให้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ แม้ต่อมาจำเลยได้จัดเก็บเงินภาษีบำรุงท้องที่จากราษฎร แล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 165 (1)
โจทก์จำเลยติดต่อซื้อขายไม้ซุงกันโดยจำเลยรับเงินล่วงหน้าไปจากโจทก์เมื่อจำเลยส่งไม้ซุงให้โจทก์ก็คิดหักราคากัน และต่อมาเมื่อคิดบัญชีกันแล้วยังมีเงินค่าไม้ซุงที่จำเลยรับไปล่วงหน้าเหลืออยู่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่เหลือดังกล่าวคืนมิใช่เป็นการฟ้องเรียกหนี้ค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา165(1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี หากแต่มีอายุความ 10ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2523
ประมวลรัษฎากร ม. 30 (2), 32, 33
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ออกหมายเรียกโจทก์ผู้อุทธรณ์มาไต่สวนได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 32
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนโจทก์รับหมายเรียกแล้วไม่ไปชี้แจงและรับการไต่สวนโดยไม่มีเหตุสมควร โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2),33
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 40, 226 (2)
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นไม่รับอ้างว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแม้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจะไม่มีผลเป็นอุทธรณ์เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย แต่ก็ย่อมมีผลเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยอุทธรณ์ในปัญหานี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปจอดคอยอยู่ที่ปากซอยบ้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 และพวก 2 คนเข้าไปปล้นทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหนีมาขึ้นรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 2 และพวกหนีออกไปในลักษณะรีบร้อนเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ปล้นทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กัน จึงเป็นตัวการในความผิดฐานปล้นทรัพย์มาตรา 340 ตรี เป็นเพียงเหตุให้รับโทษหนักขึ้น มิใช่ความผิดอีกบทหนึ่งโดยเฉพาะศาลลงโทษโดยอ้าง มาตรา 340 ประกอบ มาตรา 340 ตรี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 295 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 67 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 213
คดีอาญาจำเลยยื่นอุทธรณ์ อุทธรณ์จำเลยเป็นคำคู่ความ การยื่นคำคู่ความประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในการยื่นหรือสั่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดอันจะต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ เจ้าพนักงานคู่ความหรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องจะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์นั้น ฯลฯ" จำเลยอุทธรณ์โดยใช้กระดาษแบบพิมพ์ที่กระทรวงยุติธรรมจัดไว้ และมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 67. คงขาดลายมือชื่อผู้เรียง ในช่องผู้เรียงในกระดาษแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ ถือว่ายังไม่บริบูรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้แล้วศาลอุทธรณ์ชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขให้บริบูรณ์เสียก่อนชี้ขาดตัดสินคดี จะยกอุทธรณ์จำเลยยังไม่ชอบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์มาในฉบับเดียวกันศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง เพราะเหตุไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงในท้ายอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ฎีกาขึ้นมาคนเดียว เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ชอบที่จะสั่งให้แก้ไขให้บริบูรณ์ ก็พิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วยได้เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (7) พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508 ม. 36, 37
น.มิได้เป็นผู้ซึ่งจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ และไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามวรรคสองของมาตรา 36 พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508 การที่น.ได้เรียงหรือแต่งฟ้องฎีกาให้จำเลยซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 37 ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาซึ่งเกิดจากการกระทำอันไม่ชอบศาลฎีกาไม่อาจรับพิจารณาให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458/2523
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ม. 41
โจทก์เป็นผู้เช่านาพิพาทของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กู้เงินจำเลยที่ 2 แล้วโอนขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยมีเจตนาที่จะให้ที่นาพิพาทเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ขายนาคืนให้จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 เพียงเพื่อให้ที่ดินเป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้นั้น กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 41 โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ขายนาพิพาทให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 457/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 533
โจทก์ฟ้องคดีเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณ เมื่อพ้นหกเดือนนับแต่วันที่โจทก์ทราบเหตุเช่นนั้นฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 340 ตรี
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา340 ตรี เป็นเพียงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตราที่ระบุไว้ได้รับโทษหนักขึ้นเท่านั้น หาได้เป็นความผิดต่างหากอีกบทหนึ่งไม่ และไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มโทษดังนั้นเมื่อลงโทษให้ประหารชีวิตแล้วก็ไม่มีทางที่จะระวางโทษหนักกว่าหรือหนักขึ้นกึ่งหนึ่งตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี บัญญัติไว้ได้ จึงนำ มาตรา 340 ตรี นี้มาปรับด้วยไม่ได้