คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2020

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2020/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 209, 210, 369, 850

สัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดว่า โจทก์ยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันทำสัญญาและจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันได้รับชำระเงินนั้นเป็นการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนเพื่อให้โจทก์ชำระค่าที่ดิน อันเป็นสารสำคัญของสัญญาซึ่งคู่สัญญาต่างก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดระยะเวลาตามข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับสิทธิที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งมีกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา เมื่อโจทก์มิได้ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามข้อสัญญา โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดและไม่มีสิทธิที่จะขอให้บังคับคดีแก่จำเลยให้โอนขายที่ดินแก่ตนได้ โจทก์จะอ้างว่ามีสิทธิบังคับคดีได้ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือมีคำพิพากษาในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 561 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

โจทก์เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ปลูกห้องแถวที่พิพาท แล้วโจทก์ให้จำเลยเช่าห้องแถวที่พิพาท ถึงแม้ต่อมาสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับกรมธนารักษ์จะสิ้นสุดลง โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้แก่กรมธนารักษ์ตามสัญญาเช่า เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นกำหนดระยะเวลาแล้ว โจทก์จึงยังมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากสถานที่เช่าและเรียกค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ม. 4, 12 (3), 12 (7)

พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์รับหุ้นของธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นประกันการให้สินเชื่อ หรือรับหุ้นของธนาคารพาณิชย์จากธนาคารพาณิชย์อื่นเป็นประกันการให้สินเชื่อ การที่จำเลยซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ ให้ ร. กู้เบิกเงินเกินบัญชี ถือเป็นการให้สินเชื่อตามมาตรา 4 แม้จำเลยจะใช้สิทธิยึดหุ้นของจำเลยจาก ร. ผู้ถือหุ้นไว้เป็นประกันหนี้สินตามข้อบังคับของจำเลยเมื่อ ร. ตกลงจำนำหุ้นไว้กับโจทก์แล้ว อันเป็นการยึดภายหลังจากการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือการให้สินเชื่อแก่ ร. ก็มีผลเท่ากับจำเลยรับหุ้นของตนเองเป็นประกันการชำระหนี้จึงเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อบังคับของจำเลยในส่วนที่ให้จำเลยมีสิทธิยึดหุ้นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นหนี้จำเลยไว้เป็นประกันต่างหนี้สินได้ก่อนบุคคลอื่นจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2010

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2010/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237, 850, 852

การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2และ ที่ 3โดยไม่โอนขายให้โจทก์ก่อนตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมเป็นการทำนิติกรรมทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบนั้นด้วย โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478

จำเลยจัดให้มีการเล่นการพนันไฮโลว์และเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในงานทำบุญศพร้อยวันของแม่ยายเงินของกลางที่ยึดได้มีเพียง 111 บาทผู้ร่วมเล่นมีถึง 15 คน เชื่อได้ว่าเป็นการ เล่นพนันกันครั้งละเล็ก ๆ น้อย ๆสมควรรอการลงโทษจำคุกให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1995

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1987 - 1995/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 188 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ม. ,

ผู้ร้องถูกทางราชการถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ซึ่งผู้ร้องอาจได้สัญชาติไทยอีกเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และพระราชบัญญัติสัญชาติ แต่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ในส่วนที่ไม่ขัดกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้สิทธิผู้ร้องร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยได้ กรณีของผู้ร้องจึงไม่มีกฎหมายสนับสนุนหรือรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยวิธีร้องขอให้ศาลสั่งเช่นนั้น หากผู้ร้องเห็นว่าทางราชการถอนสัญชาติผู้ร้องเป็นการกระทำโต้แย้งสิทธิ ก็ชอบที่จะฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิเป็นคดีต่อศาล ดังนั้น แม้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลและพนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านแล้ว จึงเกิดเป็นคดีมีข้อพิพาทในคดีไม่มีข้อพิพาท แต่เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอต่อศาล ข้อพิพาทในคดีนี้จึงตกไปโดยไม่จำต้องดำเนินคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1745

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1745/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 195, 225 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 55

จำเลยเป็นสมาชิกอาสาสมัครรักษาดินแดน สังกัดกองร้อย อส.อำเภออรัญประเทศปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์รับผู้อพยพลี้ภัยชาวเขมร นายอำเภอได้จ่ายอาวุธปืนคาร์ไปน์ของกลางให้ประจำตัวจำเลย ปืนของกลางจึงเป็นอาวุธปืนของทางราชการที่จ่ายให้เป็นอาวุธปืนประจำตัวของจำเลยใช้ในราชการอาสาสมัครรักษาดินแดน จำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ

ปัญหาตามวรรคแรกแม้จะไม่มีประเด็นมาสู่ศาลฎีกาโดยตรงแต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716/2525

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 56

โจทก์จำเลยสืบพยานของตนในประเด็นที่ศาลฎีกาย้อนสำนวนมาจนแถลงหมดพยานแล้วการที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าให้ศาลแรงงานกลางทำการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีจึงหมายถึงให้พิจารณาพยานหลักฐานโจทก์จำเลยที่นำสืบกันมาแล้วในสำนวนแล้วพิพากษาใหม่เท่านั้น ที่ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยเสียเองเพราะเป็นกรณีต้องฟังข้อเท็จจริงอยู่ด้วยซึ่งศาลฎีกาจะวินิจฉัยเสียเองมิได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 56 วรรคสอง หาได้แสดงว่าศาลฎีกาประสงค์ให้สืบพยานเพิ่มเติมอีกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 241, 665, 672, 680

ชื่อเจ้าของบัญชีและเงินตามสมุดคู่ฝากเป็นของ ว. มารดาโจทก์ ว. นำเงินดังกล่าวไปทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของ อ. ในวันเดียวกับที่เปิดบัญชีเงินฝาก จึงมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ ละ ว. ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว แม้ ว. จะยอมให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามสมุดคู่ฝากร่วมด้วยในภายหลังก็ตามเมื่อ อ. ยังไม่ได้ชำระเงินกู้ให้ธนาคารจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินในบัญชีเงินฝากตามสมุดคู่ฝากแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 44, 60 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 80, 650

คำว่า ผู้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80หมายถึงผู้จัดการที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อโจทก์เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีอำนาจดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอีกคนหนึ่งที่ระบุไว้และประทับตราสำคัญ ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1

การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ ให้แก่โจทก์เห็นได้ชัดว่าประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับของจำเลยที่ 1เป็นปฏิปักษ์แก่กัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 ประโยชน์ทางได้ทางเสียของจำเลยที่ 2 มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 1 ศาลจึงตั้งจำเลยที่ 2ขึ้นเป็นผู้แทนเฉพาะการของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อสู้คดีกับโจทก์ได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE