คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145
โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยพิมพ์ฉลากสำหรับใช้ปิดสับปะรดกระป๋องจำเลยได้ส่งมอบฉลากให้โจทก์รับไปแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าจ้างพิมพ์ฉลากให้แก่จำเลย จำเลยจึงได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลบังคับโจทก์ชำระเงินค่าจ้างพิมพ์ฉลากโจทก์ให้การต่อสู้ว่าจำเลยพิมพ์ฉลากไม่ตรงตามตัวอย่างเป็นการผิดสัญญาและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาพิมพ์ฉลากไม่เหมือนตัวอย่างเป็นคดีนี้ มูลกรณีที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้อง จึงเป็นมูลคดีเดียวกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ คดีทั้งสองสำนวนศาลพิจารณาพิพากษารวมกันเมื่อคดีแรกศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พิมพ์ฉลากถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ มิได้ผิดสัญญาคดีถึงที่สุดแล้ว ผลแห่งคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145โจทก์จะฎีกาในคดีนี้ว่าจำเลยพิมพ์ฉลากไม่ตรงตามตัวอย่าง เป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382
จำเลยให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินของตนปลูกบ้านอยู่อาศัยต่อมาผู้เช่าได้ขยายการครอบครองเข้าไปในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยโดยจำเลยมิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวดูแลหรืออนุญาตให้ผู้เช่ากระทำเช่นนั้นถือว่าจำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาท และผู้เช่ามิได้ครอบครองที่พิพาทแทนจำเลย แม้ผู้เช่าจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาเกิน 10 ปี จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2525
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ม. 4, 8
ธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรรัฐบาลไทย และเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย มิใช่สิ่งของอันอาจนำไปจำหน่ายเป็นสินค้าอย่างธรรมดาทั่ว ๆ ไปได้ธนบัตรของกลางจึงมิใช่ "ของ" ตามความหมายในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่นำธนบัตรของกลางออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 มาตรา 27
ธนบัตรและเรือเพลายาวของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิดได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดหรือได้มาโดยการกระทำผิดและการกระทำของจำเลยก็มิได้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 จึงริบธนบัตรและเรือของกลางไม่ได้ทั้งจ่ายรางวัลให้เจ้าพนักงานก็ไม่ได้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 739 - 740/2525
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 31, 95, 121, 123 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49
การเลิกจ้างอย่างไรเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 นั้น ศาลสามารถวินิจฉัยได้โดยคำนึงถึงเหตุอันควรไม่ควรในการเลิกจ้าง.ประกอบกับระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งไม่จำต้องวินิจฉัยโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121,123ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 406, 407, 420, 1007
ผู้สั่งจ่ายออกเช็คล่วงหน้าสั่งธนาคารโจทก์จ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่ ช. ต่อมาได้มีการแก้ไขจำนวนเงินในเช็คให้สูงขึ้น แล้ว ส. ได้นำเช็คดังกล่าวมามอบให้ธนาคารจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของ ส. ครั้นเช็คถึงกำหนด จำเลยได้เรียกเก็บเงินจากโจทก์หักล้างหนี้ของ ส.ต่อมาผู้สั่งจ่ายทราบจึงเรียกเงินคืนจากโจทก์ โจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนที่ถูกแก้ไขให้สูงขึ้นแก่ผู้สั่งจ่ายแล้วมาฟ้องเรียกคืนจากจำเลย ดังนี้ เมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประจักษ์ในข้อสำคัญเมื่อผู้สั่งจ่ายไม่ได้รู้เห็นยินยอมในการแก้ไขด้วย จำเลยผู้ทรงเช็คย่อมมีสิทธิบังคับการใช้เงินตามเช็คได้เพียงจำนวนเงินเดิมก่อนมีการแก้ไขเท่านั้นจำนวนที่เกินเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เมื่อโจทก์มิได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไปตามอำเภอใจ แต่จ่ายไปโดยเชื่อว่าผู้สั่งจ่ายออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามจำนวนที่แก้ไข จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนที่รับเกินมาแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์แจ้งให้ทราบ
แม้ผู้สั่งจ่ายเขียนเช็คเว้นช่องว่างหน้าตัวเลขและตัวหนังสือจำนวนเงินไว้มากเป็นเหตุให้มีการเพิ่มเติมจำนวนเงินได้ง่าย แต่จำนวนเงินส่วนเกินที่จำเลยรับก็เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ หากจำเลยได้รับความเสียหายจากความประมาทเลินเล่อของผู้สั่งจ่ายอย่างไรก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องว่ากล่าวเอาแก่ผู้สั่งจ่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 453, 487, 1249, 1250, 1252, 1259 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 61, 172
แม้โจทก์จะตั้งข้อหาในฟ้องว่า ซื้อขาย เช็ค แต่คำฟ้องของโจทก์ที่แท้จริงอยู่ที่คำบรรยายฟ้องเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นเรื่องจ้างทำของก็ต้องถือว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องสัญญาจ้างทำของ เช็คที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเป็นเพียงการอ้างถึงหลักฐานแห่งการชำระหนี้ส่วนหนึ่งของจำเลยที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระเท่านั้น
สัญญาจ้างทำของกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้แนบสัญญาจ้างทำของหรือบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเช็คมาในฟ้อง หรือบรรยายรายละเอียดว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ทำตั้งแต่วันใด กี่คราวบ้าง ก็เป็นเรื่องรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงหาเคลือบคลุมไม่
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่โดยมีช.เป็นผู้จัดการเมื่อจดทะเบียนเลิกห้างแล้วช. เป็นผู้ชำระบัญชีของโจทก์ต่อมาช. จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์เพื่อชำระสะสางการงานของห้างโจทก์ให้เสร็จไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249,1250 และ 1252 โดยผู้ชำระบัญชีไม่จำต้องแต่งทนายความให้มาดำเนินคดีใหม่หรือยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้าดำเนินคดีแทนห้างโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 84, 161, 167
คู่ความท้ากันขอให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นเดียวว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทหรือไม่ เมื่อศาลฟังว่าจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาได้โดยไม่จำต้องหยิบยกประเด็นที่ว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในตึกแถวพิพาทหรือไม่ขึ้นวินิจฉัย ข้อวินิจฉัยของศาลดังกล่าวไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น
ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมาตรา 167 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้ศาลสั่งลงไว้ในคำพิพากษาไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่และมาตรา 161ก็บัญญัติให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามคำท้าที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกให้จำเลยรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องข้ออื่นนั้นคำว่าข้ออื่นมิได้หมายความถึงค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ศาลจึงต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 125
ตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด พ.ศ.2492(ฮ.ศ.1368) ข้อ 20 กำหนดจำนวนกรรมการที่จะเป็นองค์ประชุมไว้ว่ากรรมการมาประชุมเกินกว่ากึ่งหนึ่งจึงนับเป็นองค์ประชุม เมื่อกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครมีจำนวน15 นายกรรมการต้องมาประชุมอย่างน้อย 8 นาย จึงจะครบเป็นองค์ประชุมการประชุมของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครจำนวน 7 นายที่ลงมติถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอิหม่ามไม่ครบองค์ประชุมจึงไม่มีผลบังคับโจทก์
แม้ข้อบังคับการประชุมฯ จะกำหนดให้ใช้ข้อบังคับนี้นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประธานกรรมการลงนามแล้วเป็นต้นไปและข้อบังคับที่ส่งศาลไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ประกาศไม่ได้ลงชื่อประธานกรรมการคงมีแต่แบบพิมพ์เว้นว่างไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นเอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างอิงคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้คัดค้านว่าเป็นข้อบังคับที่ไม่มีต้นฉบับหรือว่าต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือข้อความที่ลงพิมพ์ไม่ถูกต้องกับต้นฉบับจึงถือได้ว่าข้อบังคับดังกล่าวใช้บังคับแล้วและข้อความที่ลงพิมพ์ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 727/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1646, 1647, 1713
การที่ผู้ทำพินัยกรรมใช้ถ้อยคำว่า 'ขอทำพินัยกรรมไว้' ในพินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้น ถือว่าเป็นการกำหนดการเผื่อตายไว้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1647
เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมแต่ผู้เดียวผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้เสียในมรดกตามพินัยกรรมนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1627/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประมวลรัษฎากร ม. 3 อัฏฐ
อำนาจขยายหรือให้เลื่อนกำหนดเวลาตามความในมาตรา 3 อัฏฐแห่งประมวลรัษฎากร เป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในอันที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งการโดยเฉพาะ เป็นคนละขั้นตอนกับการที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้พิพากษาบังคับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เมื่อตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าคำสั่งของอธิบดีที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาการอุทธรณ์กระทำไม่ชอบหรือผิดกฎหมายอย่างใดอธิบดีกรมสรรพากรจึงมีอำนาจที่จะออกคำสั่งในเรื่องนี้ได้โดยชอบ