คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1987 - 1995/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 188 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ม. ,
ผู้ร้องถูกทางราชการถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ซึ่งผู้ร้องอาจได้สัญชาติไทยอีกเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และพระราชบัญญัติสัญชาติ แต่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ในส่วนที่ไม่ขัดกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็มิได้บัญญัติให้สิทธิผู้ร้องร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยได้ กรณีของผู้ร้องจึงไม่มีกฎหมายสนับสนุนหรือรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยวิธีร้องขอให้ศาลสั่งเช่นนั้น หากผู้ร้องเห็นว่าทางราชการถอนสัญชาติผู้ร้องเป็นการกระทำโต้แย้งสิทธิ ก็ชอบที่จะฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิเป็นคดีต่อศาล ดังนั้น แม้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลและพนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านแล้ว จึงเกิดเป็นคดีมีข้อพิพาทในคดีไม่มีข้อพิพาท แต่เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอต่อศาล ข้อพิพาทในคดีนี้จึงตกไปโดยไม่จำต้องดำเนินคดีต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1745/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 195, 225 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 55
จำเลยเป็นสมาชิกอาสาสมัครรักษาดินแดน สังกัดกองร้อย อส.อำเภออรัญประเทศปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์รับผู้อพยพลี้ภัยชาวเขมร นายอำเภอได้จ่ายอาวุธปืนคาร์ไปน์ของกลางให้ประจำตัวจำเลย ปืนของกลางจึงเป็นอาวุธปืนของทางราชการที่จ่ายให้เป็นอาวุธปืนประจำตัวของจำเลยใช้ในราชการอาสาสมัครรักษาดินแดน จำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
ปัญหาตามวรรคแรกแม้จะไม่มีประเด็นมาสู่ศาลฎีกาโดยตรงแต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716/2525
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 56
โจทก์จำเลยสืบพยานของตนในประเด็นที่ศาลฎีกาย้อนสำนวนมาจนแถลงหมดพยานแล้วการที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าให้ศาลแรงงานกลางทำการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีจึงหมายถึงให้พิจารณาพยานหลักฐานโจทก์จำเลยที่นำสืบกันมาแล้วในสำนวนแล้วพิพากษาใหม่เท่านั้น ที่ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยเสียเองเพราะเป็นกรณีต้องฟังข้อเท็จจริงอยู่ด้วยซึ่งศาลฎีกาจะวินิจฉัยเสียเองมิได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 56 วรรคสอง หาได้แสดงว่าศาลฎีกาประสงค์ให้สืบพยานเพิ่มเติมอีกไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 241, 665, 672, 680
ชื่อเจ้าของบัญชีและเงินตามสมุดคู่ฝากเป็นของ ว. มารดาโจทก์ ว. นำเงินดังกล่าวไปทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของ อ. ในวันเดียวกับที่เปิดบัญชีเงินฝาก จึงมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ ละ ว. ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว แม้ ว. จะยอมให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามสมุดคู่ฝากร่วมด้วยในภายหลังก็ตามเมื่อ อ. ยังไม่ได้ชำระเงินกู้ให้ธนาคารจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินในบัญชีเงินฝากตามสมุดคู่ฝากแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 44, 60 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 80, 650
คำว่า ผู้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80หมายถึงผู้จัดการที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อโจทก์เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีอำนาจดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอีกคนหนึ่งที่ระบุไว้และประทับตราสำคัญ ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1
การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ ให้แก่โจทก์เห็นได้ชัดว่าประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับของจำเลยที่ 1เป็นปฏิปักษ์แก่กัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 ประโยชน์ทางได้ทางเสียของจำเลยที่ 2 มิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 1 ศาลจึงตั้งจำเลยที่ 2ขึ้นเป็นผู้แทนเฉพาะการของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อสู้คดีกับโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 60, 61, 144 (4), 243, 245, 247
เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยเพื่อทำคำให้การแก้คดีแล้ว จำเลยโดย ป. ผู้รับมอบอำนาจได้แต่งตั้งให้ ส.เป็นทนายความของจำเลย ส. ยื่นคำให้การของจำเลยและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยต่อมาจนเสร็จคดีแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้ ป. ดำเนินคดีแทนดังนั้น การที่ บ. เข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยก็ดี แต่งตั้งให้ ส. เป็นทนายจำเลยก็ดี และการที่ ส.ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยต่อมาจนเสร็จคดีก็ดี จึงเป็นการกระทำของบุคคลภายนอกที่ไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทน จำเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาของบุคคลดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ผูกพันจำเลย
กรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยและให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนั้นได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดถูกฟ้องให้รับผิดร่วมกันอันเป็นหนี้ร่วม ก็สมควรให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างตลอดไปถึงจำเลยอื่นด้วย (วรรคสองอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 345/2520)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1976/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 172, 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158
บรรยายฟ้องว่าจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่าอย่างไร และเบิกความในชั้นศาลว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าจำเลยกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จหรือเบิกความเท็จ โดยอ้างว่าหากข้อความที่จำเลยให้การในชั้นศาลเป็นความจริง ที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนก็ย่อมเป็นเท็จ และหากข้อความที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นความจริงการเบิกความต่อศาลก็ย่อมเป็นเท็จ แสดงว่าโจทก์เองก็ไม่ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไร เป็นฟ้องที่ขัดกันเองอยู่ในตัวไม่อาจทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้องเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 119, 194, 303, 306, 315 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 280, 287, 289, 295
จำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างโรงพยาบาลกับกระทรวงสาธารณสุขแล้วทำสัญญากับธนาคารผู้ร้องโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยในเงินค่าจ้างเหมาทั้งหมดที่จะได้รับตามสัญญาเป็นเงิน 9 ล้านบาทเศษให้แก่ผู้ร้อง เพื่อเป็นการชำระหนี้ที่กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากผู้ร้อง 3 ล้านบาท ดังนี้ ผู้ร้องมีสิทธิในเงินดังกล่าว เพราะสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมโอนให้แก่กันได้ และกฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องมีค่าตอบแทนแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่ว่าหนี้สินที่จำเลยมีต่อผู้ร้องจะมากหรือน้อยกว่าสิทธิเรียกร้องที่มี ต่อกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจำเลยโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องโดยชอบ ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิ
เมื่อลูกหนี้ของจำเลยให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วจำเลยจึงมิใช่เจ้าหนี้อันลูกหนี้มีสิทธิที่จะเลือกชำระหนี้ได้การที่ลูกหนี้ส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขออายัดของโจทก์โดยสำคัญผิด เมื่อได้บอกล้างในภายหลังการชำระหนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอถอนการอายัดได้
จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้แต่ผู้เดียว ผู้ร้องย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีสิทธิร้องขอให้ถอนการอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับชำระหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 581, 582 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
จำเลยจ้างโจทก์ 2 ระยะ ระยะแรกจนถึงเกษียณอายุคือวันที่ 22 มิถุนายน 2517 ต่อมาจำเลยต่ออายุการทำงานของโจทก์ไปอีก อันเป็นการจ้างระยะที่สองซึ่งมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2518 ดังนี้ วันทำงานของโจทก์สำหรับระยะการจ้างระยะแรกกับระยะที่สองขาดตอนไม่ต่อเนื่องกันจึงต้องถือว่าการจ้างระยะที่สองเป็นการจ้างใหม่ แม้จะ มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แต่จำเลยมิได้เลิกจ้าง โจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ในการจ้างระยะที่สองนี้อีกจำนวนหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1972/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 64, 87, 88, 95, 113
การเบิกความต่อศาลเป็นกิจเฉพาะตัว โดยสภาพไม่อาจตั้งให้ผู้อื่นทำแทนได้
ตามบัญชีพยานระบุว่าจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน โดยมิได้ระบุ ส. เป็นพยานดังนี้แม้ปรากฏว่า ส. ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ยื่นคำให้การและเบิกความแทนจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยนำ ส. เข้าเบิกความศาลก็จะรับฟังคำเบิกความของ ส. เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2), 88