คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304, 1305 ประมวลกฎหมายที่ดิน
ทางกระบือสาธารณะพิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินของ ส. แต่อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ซึ่งออกทับทางกระบือสาธารณะ เป็นการออกโฉนดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ ทางกระบือสาธารณะนั้นแม้จะสิ้นสภาพไปเพราะการไม่มีผู้ใด ใช้ประโยชน์ก็ยังมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ เว้นแต่ จะได้โอนไปโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 อธิบดีกรมที่ดิน จำเลยจึงมีอำนาจที่จะเพิกถอน แก้ไขหรือออกใบแทนโฉนดที่ดินของโจทก์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145
ในคดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องกับที่พิพาท ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนผู้มีชื่อ หลังจากผู้มีชื่อยกที่พิพาทให้โจทก์ครอบครองแล้ว จำเลยก็มิได้เกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกเลย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองในที่พิพาทคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จำเลยจะมาโต้เถียงในคดีนี้ว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองที่พิพาท โดยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของอีกไม่ได้ และจะยกระยะเวลา 1 ปีขึ้นต่อสู้โจทก์ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 243 (1)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าที่พิพาทเป็นมรดกตกได้แก่จำเลย ขอให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหายศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง โดยฟังว่าจำเลยมิได้รับความเสียหาย แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่าจะให้ขับไล่โจทก์ตามฟ้องแย้งหรือไม่ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งซึ่งศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเสียแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาใหม่ได้ตามมาตรา243(1)แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปก็ชอบที่จะกระทำได้ กรณีมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องอุทธรณ์ดังนั้นแม้จำเลยจะอุทธรณ์แต่ในเรื่องค่าเสียหายศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาให้ขับไล่โจทก์ด้วยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94 (ข), 202 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 203, 653
หนี้เงินยืมเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ เมื่อหนี้ดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาชำระหนี้ไว้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดก็ได้ จำเลยจะขอนำพยานบุคคลมาสืบตามคำให้การว่า ได้มีข้อตกลงระหว่างจำเลยกับโจทก์ให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวดและหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระหาได้ไม่ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
เมื่อจำเลยไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบตามข้อต่อสู้ในคำให้การ คดีของจำเลยย่อมไม่มีทางชนะ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าจำเลยจงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2525
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือลูกจ้างเกี่ยวแก่การศึกษาของบุตรกำหนดว่า ลูกจ้างที่มีสิทธิจะได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้อันได้แก่เงินที่นายจ้างจ่ายให้เพื่อตอบแทนการทำงาน ลูกจ้างที่ถูกพักงานแม้จะมีระเบียบให้จ่ายเงินแก่ลูกจ้าง เงินนี้ก็มิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน นอกจากนี้ระเบียบดังกล่าวยังกำหนดให้ลูกจ้างผู้มีสิทธิเบิกค่าเล่าเรียนบุตรภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้ชำระเงินให้โรงเรียน และมิได้ระบุถึงสิทธิของลูกจ้างที่ถูกพักงาน ดังนั้นระเบียบนี้จึงให้สิทธิเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานตามปกติเท่านั้น ลูกจ้างที่ถูกพักงานไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเงินค่าเล่าเรียนบุตร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1739/2525
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 13, 14,
การที่นายจ้างแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างนั้น เพียงแต่นายจ้างปิดประกาศข้อเรียกร้อง และส่งสำเนาประกาศแก่หัวหน้าแผนกทราบ เพื่อชี้แจงแก่ลูกจ้างในแผนกก็เป็นการเพียงพอแล้ว
การเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างโดยลูกจ้างจัดการเอง ต้องมีการประชุมลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ในกรณีที่ข้อเรียกร้องของนายจ้างเกี่ยวกับเงื่อนไขในการจ่ายค่าจ้างข้อเรียกร้องนี้จึงเกี่ยวข้องกับลูกจ้างทั้งหมด การประชุมเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างจึงต้องเป็นการประชุมลูกจ้างทั้งหมดเพื่อพิจารณาว่าสมควรตั้งผู้ใดเป็นผู้แทนในการเจรจากับฝ่ายนายจ้างไม่ใช่เลือกตั้งกันเป็นแผนก ๆ เพราะลูกจ้างที่แผนกอื่นเลือกตั้งมาอาจไม่ใช่ผู้ที่ลูกจ้างในอีกแผนกหนึ่งประสงค์จะเลือกเป็นผู้แทนก็ได้
ถ้าผู้แทนที่เลือกตั้งมาไม่ใช่ผู้แทนของลูกจ้างทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง การเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างนั้นไม่ชอบ เมื่อผู้ซึ่งไม่ได้เป็นผู้แทนลูกจ้างที่แท้จริงไปทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับนายจ้าง ข้อตกลงนั้นทั้งฉบับไม่มีผลบังคับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 538 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174 (2), 224, 249
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเช่าห้องแถวจากโจทก์มีกำหนดเวลาสามสิบปีค่าเช่าเดือนละสี่สิบบาทโดยไม่ได้จดทะเบียนการเช่าจึงมีสิทธิการเช่าเพียงสามปี ครบกำหนดและบอกเลิกการเช่าแก่จำเลยแล้ว ขอให้ขับไล่ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาจะต้องไปจดทะเบียนการเช่ามีกำหนดสามสิบปี ในวันทำสัญญาจำเลยได้เสียค่าตอบแทนแก่โจทก์และได้ตกแต่งห้องแถวเป็นเงินจำนวนหนึ่ง สัญญาเช่าจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าตามสัญญาดังนี้ เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท ซึ่งจำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาเช่า ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา เพราะโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยเช่ามีกำหนดสามสิบปี จำเลยได้ออกเงินชำระค่าก่อสร้าง ได้เสียเงินค่าตอบแทนและได้ปรับปรุงตกแต่งห้องพิพาทสิ้นเงินไปจำนวนหนึ่งนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งว่า หมายเรียกส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้โจทก์ ให้โจทก์แก้ฟ้องแย้งภายใน 8 วัน ส่งหมายเรียกไม่ได้ ให้จำเลยแถลงภายใน 15 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ ถ้าไม่แถลงให้ถือว่าจำเลยทิ้งฟ้องแย้ง ดังนี้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้นำเจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องแย้งแก่โจทก์แล้วแต่ส่งไม่ได้ ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบอยู่แล้วถึงการส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องแย้งไม่ได้จำเลยจึงต้องแถลงให้ศาลทราบภายใน 15 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ เมื่อจำเลยยื่นคำแถลงเกินกำหนดดังกล่าว ต้องถือว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลกำหนด เป็นการทิ้งฟ้องแย้ง ชอบที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2525
พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
โจทก์ที่ 1 เป็นคนสัญชาติญวน เข้ามาในราชอาณาจักรไทยในฐานะญวนอพยพมิใช่บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ที่ 1 แม้เกิดในราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้สัญชาติไทย ทั้งนี้โดยผลแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1720/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 341, 342 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 102
แม้ว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 จะให้สิทธิแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้หักกลบลบหนี้กันได้ แต่วิธีหักกลบลบหนี้ก็จะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 342 โดยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ปรากฏว่าเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยอายัดเงินที่ผู้ร้องเป็นลูกหนี้จำเลยและให้ส่งเงินนั้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์. ผู้ร้องได้ส่งเงินฝากดังกล่าว ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ หนี้เงินฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องเป็นอันระงับลงสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ย่อมสิ้นสุดลง ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอหักกลบลบหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172 พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ.2520 ม. 8 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
โจทก์บรรยายฟ้องว่าองค์การเหมืองแร่จำเลยว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย แม้ได้ความตามทางพิจารณาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ กรมทรัพยากรธรณีกระทรวงอุตสาหกรรม และถูกเลิกจ้างก่อนที่จะมีการจัดตั้งองค์การจำเลยขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. 2520 ก็ตาม แต่ พระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวมาตรา 8 บัญญัติให้ กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการโอนกิจการ ทรัพย์สินสิทธิ หนี้และความรับผิดของศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้แก่องค์การจำเลย ดังนี้ หนี้ที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์จึงโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยด้วย จำเลยจึงเข้าใจได้แล้วว่าเป็นการฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยที่จำเลยผูกพันต้องชำระตามที่รับโอนมาข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาจึงหาใช่ข้อเท็จจริงนอกฟ้องไม่