คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2525
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 72 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91
จำเลยเป็นกรรมการของบริษัท ช. และให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับบริษัท ช. กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ช. ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522. มาตรา 72
โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันถึงวันเวลาที่จำเลยกับพวกร่วมกันก่อสร้างอาคารพาณิชย์โดยไม่รับอนุญาต กับวันเวลาที่จำเลยกับพวกฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นคนละวันและเวลากัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391, 538
โจทก์เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 10 ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่าและจำเลยได้รับเงินกินเปล่าจำนวนหนึ่งเมื่อครบ 3 ปี จำเลยไม่ต่อสัญญาเช่าให้โจทก์ จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามส่วนที่โจทก์ได้อยู่ในห้องเช่า หาใช่กรณีเป็นเรื่องบอกเลิกสัญญาเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ไม่ เพราะกำหนดเวลาเช่าที่เกินกว่า 3 ปี ได้สิ้นการบังคับลงโดยผลของกฎหมาย โดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่จำต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 143/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 143
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าสินค้าพร้อมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงิน 47,339.95 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเพียง 46,591.95 บาทตามคำฟ้องเดิมจึงเท่ากับว่าศาลพิพากษาให้จำเลยชำระไม่เต็มตามคำฟ้องโจทก์ เงินที่ขาดไปไม่ใช่เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์ฎีกาไปตามลำดับ เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ ศาลย่อมไม่มีอำนาจแก้ไขได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94
หนังสือสัญญากู้มีข้อความว่า จำเลยได้รับเงินกู้ไปเสร็จแล้วในวันทำสัญญา จำเลยให้การต่อสู้ว่ามิได้รับเงินกู้ เพราะโจทก์ซึ่งเป็นบิดาของภริยาจำเลยกับจำเลยได้ตกลงกันว่า โจทก์จะจัดการฌาปนกิจศพภริยาจำเลยและจะนำเงินซึ่งมีผู้มาช่วยงานศพมาใช้คืนโจทก์ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ไว้เพื่อป้องกันมิให้จำเลยอ้างสิทธิในเงินที่มีผู้มาช่วย และโจทก์ได้รับเงินที่มีผู้มาช่วยงานศพไปแล้ว ดังนี้ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยต่อสู้มูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยก็ไม่เกิดขึ้น สัญญากู้ที่ทำกันระหว่างโจทก์และจำเลยย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับเท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรค2 จำเลยจึงมีสิทธินำสืบตามข้อต่อสู้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 616, 617, 618, 861, 869, 877, 880 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ล. ได้เอาประกันภัยทางทะเลสำหรับความเสียหายอันเกิดแก่สินค้าที่สั่งซื้อจากต่างประเทศไว้ต่อโจทก์ จำเลยเป็นผู้รับทำการขนสินค้าดังกล่าวจากสิงคโปร์มากรุงเทพ ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวได้สูญหายไปบางส่วน โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ล. ไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ แม้ในกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคลล ล. นั้นจะมิได้ประทับตามสำคัญของบริษัทโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลล. กับโจทก์ซึ่งต่างก็ได้ปฏิบัติไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้กันไว้โดยไม่มีข้อคัดค้านโต้เถียงเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยแต่ประการใดจึงหาเป็นเหตุให้จำเลยพ้นความรับผิดไปได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 103/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 379, 680 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 112
จำเลยบันทึกรับรองไว้ในบัญชีทรัพย์สินท้ายสัญญาประกันผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนโจทก์ ความว่า ข้าพเจ้าขอรับรองว่าหลักทรัพย์ตามรายการนี้มีจริง และสามารถติดตามตัวนายประกันได้ และนายประกันไม่ได้นำทรัพย์สินดังกล่าวนี้ไปทำนิติกรรมใด ๆ จริง หากมีการผิดพลาดเกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอรับผิดร่วมกับนายประกันด้วย มีความหมายเพียงว่าจำเลยได้รับรองว่าผู้ประกันเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งผู้ประกันนำมายื่นเป็นหลักประกัน ทั้งทรัพย์สินนั้นไม่อยู่ในการติดพันใด ๆ ตามที่ผู้ประกันกล่าวอ้างมาจริง และรับรองว่าผู้ประกันมีตัวและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งสามารถติดตามตัวมาบังคับบัญชาตามสัญญาประกันได้ ถ้าหากการมิได้เป็นไปตามที่จำเลยรับรองไว้ เป็นเหตุให้โจทก์เอาค่าปรับเพราะเหตุผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ได้หรือไม่ครบจำนวนหรือไม่สามารถเรียกตามตัวผู้ประกันมาบังคับบัญชาได้ จำเลยยินยอมร่วมรับผิดร่วมกับผู้ประกันเพื่อให้โจทก์ได้รับค่าปรับตามสัญญาประกันที่ผู้ประกันทำไว้เท่านั้นเอง หามีความหมายทำให้จำเลยกลายเป็นผู้ประกันร่วมกับผู้ประกันไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499
ในข้อหายักยอกโจทก์อุทธรณ์ว่าตามพยานหลักฐานของโจทก์ต้องถือว่าจำเลยได้เบียดบังเอาทรัพย์ไปโดยทุจริต และในข้อหาฉ้อโกงโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์นำสืบพฤติการณ์โดยชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตดังนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์กล่าวถึงว่าจำเลยยักยอกเงินที่ขายเครื่องหยุดและตัดด้ายอัตโนมัติด้วย เป็นข้ออ้างที่ขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้ง ถึงหากจะเป็นข้อกฎหมาย ก็เป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 61/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 (2), 149 วรรคหนึ่ง, 254 (1), 259, 267 วรรคสอง, ตาราง 5
คำร้องขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉินนั้นจำเลยอาจทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อจำเลยขอให้ศาลไต่สวนคำร้องทันทีและศาลก็ได้ทำการไต่สวนและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในวันนั้น จึงถือว่าศาลอนุญาตให้จำเลยทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งสำเนาคำร้องของจำเลยให้โจทก์ และไม่ให้โอกาสโจทก์คัดค้านคำร้องของจำเลยจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การยึดและอายัดทรัพย์สินชั่วคราวก่อนพิพากษาต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับการยึดและอายัดทรัพย์สินเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย โจทก์ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้โจทก์จะไม่ได้รับประโยชน์จากการยึดและอายัดทรัพย์สินก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172
ระหว่างเกิดเหตุ จ. เป็นผู้จัดการของบริษัทจำเลยย่อมถือได้ว่าจ. เป็นผู้แทนบริษัทจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในอันที่จะแสดงออกถึงความประสงค์แทนบริษัทจำเลยได้ การที่ จ. ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ทำการติดตั้งถังน้ำในโรงงานเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยแม้จะฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทที่ระบุว่าต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งร่วมลงนามด้วย แต่ระหว่างที่โจทก์ดำเนินการตามสัญญากรรมการของบริษัทจำเลยคนอื่นไม่ได้ทักท้วงและรับมอบผลงานนั้นจากโจทก์ไว้แล้ว จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาต่อโจทก์หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 188
สัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย จำเลยเอาไปดูแล้วไม่ยอมคืนให้ผู้เสียหาย ทั้งกลับปฏิเสธอ้างว่าผู้เสียหายคืนให้จำเลยเพราะจำเลยชำระหนี้แล้ว ดังนี้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188