คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5386/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 91, 341 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 195, 215, 225 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ม. 30, 82
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง คำฟ้องของโจทก์ในตอนแรกที่บรรยายว่าจำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายซึ่งประสงค์จะไปทำงานให้แก่นายจ้างที่ประเทศญี่ปุ่น โดยจำเลยกับพวกเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นค่าตอบแทนจากผู้เสียหายโดยจำเลยกับพวกมิได้รับใบอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมายส่วนคำฟ้องตอนหลังที่บรรยายว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นได้ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานและไม่สามารถจัดส่งคนไปทำงานตามที่ได้หลอกลวงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงให้จำเลยกับพวกจัดหางานให้และเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกได้ไปซื้อทรัพย์สินจากผู้เสียหายโดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องยืนยันว่าจำเลยกระทำผิดคราวเดียวกัน2ฐานปล่อยให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดจากผลการพิจารณาข้อเท็จจริงเอาเองทั้งจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดีฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม แม้คำฟ้องตอนแรกบรรยายว่าจำเลยจัดหางานโดยเรียกรับค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนตามกฎหมายแต่คำฟ้องตอนหลังที่ว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานยังประเทศญี่ปุ่นได้ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดส่งคนไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น ตามที่ได้หลอกลวงแต่อย่างใดเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานการกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ.2528มาตรา30,82
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5377/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 320, 492
แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา320โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้จะบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้เป็นอย่างอื่นผิดไปจากที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ไม่ได้ซึ่งตามสัญญาระบุให้ชำระสินไถ่เป็นจำนวน8,800,000บาทสินไถ่จำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมากการชำระค่าสินไถ่ด้วยแคชเชียร์เช็คซึ่งเป็นเช็คที่ทางธนาคารออกให้เช็คดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเงินสดหากจำเลยมีความสงสัยว่าเป็นเช็คปลอมหรือไม่มีเงินก็อาจตรวจสอบโดยโทรศัพท์สอบถามไปยังธนาคารที่ออกแคชเชียร์เช็คได้แต่จำเลยก็ ยืนกรานไม่ยอมรับแคชเชียร์เช็คซึ่งเป็นการผิดปกติเพราะหากจำเลยต้องการรับชำระหนี้ด้วยเงินสดก็น่าจะระบุไว้ในสัญญาหรือแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมรับชำระหนี้เองและโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากแล้ว แม้โจทก์มิได้ติดต่อกับจำเลยเรื่องไถ่ถอนการขายฝากด้วยตนเองแต่ส.ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกระทำแทนแล้วส่วนการติดต่อล่วงหน้า30วันก่อนมีการไถ่ถอนหรือไม่ไม่ปรากฎซึ่งแม้จะติดต่อการไถ่ถอนล่วงหน้าไม่ครบ30วันแต่จำเลยก็ได้มาพบโจทก์กับพวกที่ธนาคารและไม่ได้ยกระยะเวลาดังกล่าวขึ้นเป็นสาระสำคัญจำเลยคงยกเรื่องไม่รับแคชเชียร์เช็คและต้องการเงินสดเท่านั้นแสดงว่าระยะเวลาบอกกล่าวการไถ่ถอนล่วงหน้า30วันไม่เป็นสาระสำคัญอีกต่อไปโจทก์จึงไม่ผิดสัญญาในข้อนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86, 94 วรรคท้าย, 104, 177 วรรคสอง, 224 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์จำเลยให้การว่าจำเลยตกลงขายเฉพาะที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ขายบ้านพิพาทให้ด้วยจำเลยเคยไปตรวจสอบสัญญาซื้อขายแล้วเดิมมีข้อความระบุไว้เพียงว่าขายเฉพาะที่ดินแต่ภายหลังกลับมีข้อความเพิ่มเติมขึ้นมาว่าจำเลยขายบ้านพิพาทด้วยศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์จำเลยแล้วต่างแถลงรับตรงกันว่าวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทบ้านพิพาทได้ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาทแล้วและนอกจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้วทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อขายบ้านพิพาทอีกดังนี้คำแถลงรับของคู่ความดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบกับสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่มีการระบุว่าขายบ้านพิพาทด้วยก็แสดงว่ามีการเพิ่มเติมข้อความส่วนนี้เข้าไปในสัญญาดังกล่าวตามข้อต่อสู้ของจำเลยซึ่งเท่ากับจำเลยต่อสู้ว่ามีการปลอมข้อความของสัญญาขึ้นบางส่วนนั่นเองจำเลยย่อมมีสิทธิจะนำพยานบุคคลมาสืบหักล้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94วรรคท้ายข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์กับข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้แน่ชัดต่อไปแม้ว่าศาลชั้นต้นได้สอบถามคู่ความแล้วก็ตามจึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งงดสืบพยานโจทก์พยานจำเลยและพิพากษาขับไล่จำเลยตามฟ้องโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5373/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 59 (1) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 27, 99
จำเลยที่1เป็นผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่1พอใจราคาตามที่จำเลยที่1สำแดงและเห็นว่าใบเสร็จรับเงินในการเสียภาษีอากรขาเข้าจำนวนเงินตรงกับหลักฐานการนำเข้าจึงตรวจปล่อยสินค้าไปต่อมาโจทก์ที่1ตรวจพบว่าใบเสร็จรับเงินในการเสียภาษีอากรขาเข้าเป็นเอกสารปลอมโดยจำเลยที่6ซึ่งมีจำเลยที่7เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ทำปลอมขึ้นและใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่1ทำให้สำคัญผิดว่าจำเลยที่1ชำระภาษีอากรขาเข้าถูกต้องแล้วจึงตรวจปล่อยสินค้าไปกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องที่รัฐใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาค่าภาษีในกรณีที่จำเลยที่1ยื่นใบขนสินค้าสำแดงรายการถูกต้องพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่1รับใบขนสินค้ารับรองเอกสารกับทั้งได้ตรวจสอบสินค้าของจำเลยที่1เป็นที่ถูกต้องแล้วจึงบันทึกตรวจปล่อยส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่1รับไปจากอารักขาของโจทก์ที่1กรณีจึงมิใช่จำเลยที่1หลีกเลี่ยงซ่อนเร้นการเสียภาษีหรือไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรียกเก็บภาษีอันจะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา27และ99แห่งพระราชบัญญัติ ศุลกากรพ.ศ.2469ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่1ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่2ถึงที่5ดังนั้นคดีนี้จึงมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา167เดิม(มาตรา193/31ที่แก้ไขใหม่) แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยที่1ยังมิได้ชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์แต่จำเลยที่1และที่3ได้ให้การต่อสู้คดีโดยยกเหตุอายุความขึ้นต่อสู้และคดีฟังได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วจำเลยที่1ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเจ้าของสินค้าและจำเลยที่3หุ้นส่วนผู้จัดการจึงมีสิทธิจะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้และการที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้การที่จำเลยที่1และที่3ยื่นคำให้การต่อสู้เรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา59(1)ให้ถือว่าทำแทนซึ่งกันและกันจำเลยที่2ที่4และที่5ซึ่งเป็นหุ้นส่วนย่อมได้รับผลแห่งอายุความด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5362/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362
จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในบังคับห้ามโอนจึงไม่อาจสละหรือโอนการครอบครองให้แก่ผู้อื่นได้การที่จำเลยทำสัญญาก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินและทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ร่วมมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมภายในกำหนดเวลาห้ามโอนจึงไม่มีผลตามกฎหมายโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทการที่จำเลยจ้างบุคคลอื่นเข้าไปไถปรับพื้นที่และล้อมรั้วที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5354/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 334 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185
จำเลยนำโทรศัพท์มือถือมาปรับจูนและก๊อปปี้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายแล้วใช้รับส่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเพียงการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ของผู้เสียหายโดยไม่มีสิทธิ มิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ต้องพิพากษายกฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5353/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/29, 193 เดิม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 59 (1), 177
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันละเมิดต่อโจทก์ขอให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ซึ่งมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่4ที่8และที่9จะไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้และจำเลยอื่นมิได้ยื่นคำร้องให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวก็ได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้และคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่3และที่7ด้วยโดยถือการดำเนินกระบวนพิจารณาของคู่ความร่วมคนหนึ่งเมื่อกระทำไปแล้วย่อมถือว่าได้กระทำแทนคู่ความอื่นร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา59(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4784/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248
โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยที่ 4 กับพวก ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดให้แก่โจทก์ทั้งสี่แม้จะฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเป็นราย ๆ ไป โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าปลงศพ 20,000 บาท และฟ้อง เรียกค่าขาดไร้อุปการะโดยโจทก์ที่ 1 เรียกมา 50,000 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เรียกมา 400,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคนเรียกร้องจำนวนเท่าใด แต่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ต่างก็เป็น บุตรผู้เยาว์ของผู้ตาย ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคนคงไม่แตกต่างกันมาก จึงพออนุมานได้ว่าค่าขาดไร้อุปการะ ที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เรียกร้องมารวมกับค่าปลงศพ ที่แต่ละคนเรียกร้องมามีจำนวนไม่เกินคนละสองแสนบาทและค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องมาไม่เกินสองแสนบาทเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)
โจทก์ที่1ส่งมอบเครื่องกลึงโลหะและอุปกรณ์การกลึงเรียวให้แก่จำเลยที่1ตามสัญญาซื้อขายจำเลยที่1ได้รับมอบตลอดจนอนุมัติให้จ่ายเงินค่าเครื่องกลึงโลหะและอุปกรณ์การกลึงเรียวให้แก่โจทก์ที่1ครบถ้วนแล้วต่อมาเมื่อจำเลยที่1บอกเลิกสัญญาและเครื่องกลึงโลหะกับอุปกรณ์การกลึงเรียวมิได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่2กับที่1เท่านั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5352/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448, 1382
จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของบุตรสาวที่ยินยอมให้จำเลยอยู่อาศัยแสดงว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้เจตนาเป็นเจ้าของแม้ครอบครองติดต่อกันนานเกินกว่า10ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ตลอดเวลาที่ยังอยู่ในที่ดินนั้นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้รื้อถอนบ้านออกไปจึงไม่ขาดอายุความ