คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2523/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 574

ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า "ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างดีที่สุด… หากเกิดความเสียหายขึ้นจะโดยเหตุเพราะผู้เช่าซื้อหรือบุคคลภายนอก หรือโดยอุบัติเหตุสุดวิสัยก็ตาม อันเป็นเหตุให้ทรัพย์สินสูญหายไป หรือเสียหายจนไม่อาจจะแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ หรือการซ่อมแซมแก้ไขนั้นคิดเป็นเงินเกินกว่าครึ่งหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อแล้วผู้เช่าซื้อตกลงจะใช้ราคาทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ…" ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปประสบอุบัติเหตุเสียหายทั้งคันและถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพใช้การได้ดีคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทนตามสัญญาที่ตกลงกันดังกล่าวข้างต้น การที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบถึงอุบัติเหตุดังกล่าวหาทำให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 408, 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475

เอกสารระบุว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญา โจทก์จะนำเงินของผู้ใดมาให้จำเลยกู้ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ ไม่ทำให้สัญญากู้และสัญญาจำนองเสียไปแต่ประการใด

จำเลยกู้เงินโจทก์ 500,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ30 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2475 ตกเป็นโมฆะ เท่ากับการกู้เงินรายนี้มิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยไว้ แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินโจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้วจำเลยผิดนัด โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์เป็นการชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 30 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท ด้วยความสมัครใจของจำเลยตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ จำเลยจะเรียกคืนหรือนำมาหักกับต้นเงิน 500,000 บาท มิได้ จำเลยจึงยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่ 500,000 บาท

การกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตกเป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยเกินอัตราเท่านั้น ไม่ทำให้การกู้เงินตกเป็นโมฆะไปด้วย สัญญากู้ส่วนที่มีการกู้เงินกันจริงยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญากันอยู่ จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้ยกเลิกสัญญามิได้ ทั้งไม่มีเหตุให้เพิกถอนสัญญาจำนองอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้เงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 904, 921, 940 วรรคสาม, 989, 1003 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 172, 225, 249 ตาราง 2 ค่าธรรมเนียมอื่น

โจทก์มิได้เสียค่าอ้างเอกสาร เพราะไม่ทราบว่ามีค่าอ้างเอกสารค้างชำระอยู่ ครั้นเมื่อโจทก์ทราบก็รีบจัดการชำระค่าอ้างเอกสารก่อนยื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับไว้ อันเป็นการแก้ไขข้อผิดหลงให้ถูกต้องแล้วไม่ทำให้การรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวของโจทก์เสียไป

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับเช็คตามฟ้องจากจำเลยทั้งสามเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์สลักหลังเช็คนั้นไปขายลดแก่ธนาคารต่าง ๆ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารที่รับซื้อลดเช็คนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ โจทก์ได้ใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่ธนาคารผู้ทรงเช็คเรียบร้อยแล้วและได้รับเช็คคืนมา พร้อมทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนข้อที่ว่าโจทก์นำเงินไปชำระแก่ธนาคารและรับเช็คคืนมาเมื่อวันที่เท่าใดเป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท ซึ่งเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดหรือสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทนำไปขายลดแก่ธนาคารต่าง ๆ ธนาคารผู้รับซื้อลดเช็คไว้ย่อมเป็นผู้ทรงเช็ค การสลักหลังของโจทก์จึงเป็นเพียงประกัน (อาวัล)สำหรับผู้สั่งจ่าย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 โจทก์อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงเท่านั้น หาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังตามกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแทนจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 กรณีดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ไล่เบี้ยจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 หาใช่มีอายุความ 6 เดือน ตามป.พ.พ.มาตรา 1003 ไม่

ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งหกฉบับรวมเป็นเงิน 1,757,500 บาท ชำระหนี้ให้โจทก์ แม้จำเลยที่ 1และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับแก่โจทก์ไปแล้วบางส่วนเป็นจำนวนเงิน 670,603.56 บาท โดยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระไปนั้นเป็นเงินค่าดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าเป็นค่าดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการนำสืบของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบแม้ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเป็นประเด็นขึ้นมาได้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 161 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 4

การที่ผู้ออกเช็คจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 นั้น คำฟ้องโจทก์ต้องบรรยายแสดงถึงการกระทำของจำเลยอันเป็นองค์ประกอบความผิดสำคัญเบื้องต้นว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายข้อความดังกล่าวไว้ให้ครบถ้วนชัดแจ้ง คงบรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แต่มิได้ระบุให้ชัดว่าเป็นหนี้อะไร บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่เพียงใด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีสัญญากู้ระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสี่แนบท้ายฟ้องแต่ประการใด จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดไม่อาจฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษตามฟ้องได้ ต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 383

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา383วรรคแรกกำหนดไว้ว่าถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ซึ่งในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้นจำต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางเสียในเชิงทรัพย์สินเมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไปการที่โจทก์ใช้สิทธิต้องการเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาเป็นรายวันอีกนั้นแม้เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่1ทำสัญญาตกลงกันก็เป็นเรื่องเงินค่าปรับที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายเป็นเงิน538,000บาทโจทก์ได้รับเงินมัดจำร้อยละ10ของราคาสิ่งของทั้งหมดไปแล้วโจทก์มาฟ้องจำเลยที่1ที่ไม่ส่งมอบของให้โจทก์ตามสัญญาโดยคำนวณเบี้ยปรับรายวันอัตราร้อยละ0.20ของราคาสิ่งของที่จำเลยที่1ไม่ได้ส่งมอบนับจากวันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแต่โจทก์ไม่อาจพิสูจน์ค่าเสียหายเพื่อการไม่ชำระหนี้อันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่1ได้อีกและโจทก์ได้รับเงินประกันคิดเป็นเงินร้อยละ10ของราคาสิ่งของทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายพอสมควรไปแล้วจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายเป็นค่าปรับอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183, 226

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา183วรรคสี่จำเลยทั้งสองมีสิทธิคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ไม่ถูกต้องโดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นส่งกำหนดประเด็นและศาลชั้นต้นต้องชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยานซึ่งคำชี้ขาดคำคัดค้านดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226ปรากฎว่าเมื่อวันที่16มิถุนายน2537ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามฟ้องหรือไม่ทนายจำเลยทั้งสองได้แถลงโต้แย้งด้วยวาจาขอให้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไว้ด้วยศาลชั้นต้นมิได้ชี้ขาดคำคัดค้านของทนายจำเลยทั้งสองแต่มีคำสั่งให้ยื่นบันทึกข้อโต้แย้งต่อศาลภายใน7วันต่อมาวันที่22มิถุนายน2537ทนายจำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงให้ยกคำร้องถือว่าเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา183วรรคสี่จำเลยทั้งสองต้องโต้แย้งไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226วรรคสองจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้แต่การที่จำเลยทั้งสองระบุท้ายคำร้องลงวันที่22มิถุนายน2537ว่าให้ถือคำแถลงฉบับดังกล่าวเป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลเพื่อสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไปนั้นเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งชี้ขาดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(2)จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304, 1387 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172

โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 73454 และโฉนดเลขที่ 37455จาก น.เมื่อปี 2532 โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงโดยใช้ทางพิพาทมาก่อน ทั้งไม่ปรากฏว่า น.หรือบุคคลอื่นที่เคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงเคยใช้ทางพิพาทมาก่อน ดังนี้ ถึงแม้ว่าบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ติดทางพิพาทได้ใช้ทางพิพาทมาเกิน 10 ปี ที่ดินของจำเลยในส่วนทางพิพาทตัดผ่านก็ไม่เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ แต่อาจเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงอื่นเท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่า ด.เจ้าของที่ดินพิพาทเดิมได้อุทิศถนนซอยพิพาทให้แก่มัสยิดเพื่อให้ประชาชนใช้ร่วมกันไปทำศาสนกิจในมัสยิด และได้อุทิศทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ร่วมกันโดยไม่หวงห้าม แสดงว่าได้อุทิศทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว จำเลยซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ด.จึงไม่มีสิทธิขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์ และศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะได้เพราะโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าทางพิพาทนอกจากเป็นทางภาระจำยอมแล้วยังเป็นทางสาธารณะอีกด้วย ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (6), 163, 164 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 15, 22 (5)

ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า เช็คฉบับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้ตามมูลหนี้เดียวกับเช็คตามฟ้องทั้ง 2 ฉบับ แต่ขณะโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ยังหาเช็คและใบคืนเช็คฉบับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่พบ ต่อมาโจทก์พบเช็คและใบคืนเช็คดังกล่าวในแฟ้มเอกสารโจทก์จึงมาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ถือได้ว่ามีเหตุอันควรและโจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 1 ปี 6 เดือน เมื่อผลสุดท้ายศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยกระทงละ 6 เดือน จึงไม่เกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 และมาตรา 22(5)

จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลย่อมลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ โดยโจทก์ไม่ต้องอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ไม่ใช่กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 190

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 190/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 177, 183, 226

จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องคงมีข้อต่อสู้เฉพาะอุปกรณ์แห่งหนี้ว่าไม่ต้องรับผิดเท่านั้นจึงย่อมรับฟังตามคำรับของจำเลยโดยไม่ต้องอาศัยตราสารได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องจริงส่วนข้อต่อสู้เรื่องอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็ได้บันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าส่วนที่จำเลยให้การว่าตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข5ในข้อ8โจทก์เติมข้อความ"ตลอดจนดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทน"โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายอื่นใดนั้นโจทก์แถลงว่าตามสัญญาค้าประกันเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ในข้อ1ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตลอดจนดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนไว้ชัดเจนแล้วศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีประเด็นนี้อีกการที่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้มีผลเท่ากับจำเลยได้ยอมรับผิดตามข้ออ้างของโจทก์ในส่วนนี้แล้วเพราะถ้าจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะคัดค้านไว้โดยเฉพาะคดีนี้จำเลยได้เสนอประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยมีสิทธิที่จะคัดค้านได้อยู่แล้วแต่ก็มิได้คัดค้านว่าไม่ถูกต้องประการใดประเด็นข้อพิพาทจึงต้องเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดจะยกขึ้นคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2518/2540

ประมวลรัษฎากร ม. 30, 89 (4)

ใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์นำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์2535เป็นใบกำกับภาษีซื้อสำหรับการก่อสร้างอาคารของโจทก์ที่ส่วนหนึ่งจะใช้เป็นสำนักงานของโจทก์ส่วนที่เหลือจะให้เช่าเป็นสำนักงานซึ่งขอคืนภาษีซื้อไม่ได้เนื่องจากกิจการให้เช่าอาคารได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่จะใช้เป็นสำนักงานนั้นขอคืนภาษีซื้อได้แต่จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อโดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่29)เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา82/6แห่งประมวลรัษฎากรลงวันที่9มีนาคม2535คือแจ้งจำนวนพื้นที่ที่จะใช้เป็นอาคารสำนักงานให้จำเลยที่1ทราบแต่โจทก์ก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่1ทราบโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับคืนภาษีซื้อสำหรับใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นไว้จึงแสดงจำนวนภาษีซื้อเกินไปเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเบี้ยปรับจากโจทก์ได้ตามมาตรา 89(4)แห่งประมวลรัษฎากรแต่เนื่องจากภาษีซื้อที่โจทก์ขอคืนเป็นภาษีซื้อของเดือนแรกและเดือนที่สองที่ประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มและหลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวก็เพิ่งจะประกาศในวันที่9มีนาคม2535หลังจากที่โจทก์ขอคืนและรับภาษีซื้อไปแล้วทั้งเมื่อโจทก์ถูกทักท้วงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีดังกล่าวโจทก์ก็คืนภาษีในส่วนที่รับคืนไปแล้วโดยมิได้อิดเอื้อนและเกี่ยวงอนจึงสมควรงดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์ทั้งหมด ศาลมีอำนาจงดหรือลดเบี้ยปรับได้เพราะเมื่อบทบัญญัติมาตรา30(2)แห่งประมวลรัษฎากรให้โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลเพื่ออุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ศาลย่อมมีอำนาจในการพิจารณาว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียเบี้ยปรับเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่หากแปลความว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องต่อศาลได้แต่ห้ามศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่การฟ้องคดีของโจทก์ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด

« »
ติดต่อเราทาง LINE