คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/34 (7)
การให้บริการประเภทบัตรเครดิตเป็นวัตถุประสงค์ของธนาคารโจทก์การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บัตรดังกล่าวจากสมาชิกโจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆให้แก่สมาชิกและการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากสมาชิกภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนกรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/34(7) ตามใบแจ้งยอดหนี้เอกสารท้ายฟ้องกำหนดให้จำเลยชำระหนี้ที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปภายในวันที่10กุมภาพันธ์2534แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่18กันยายน2538จึงพ้นกำหนด2ปีสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7848/2540
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14
แม้จำเลยจะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยยอมจะจ่ายให้โจทก์ตามกฎหมายและหน้าที่ทางศีลธรรมซึ่งกำหนดให้มีการชำระเป็นงวด ๆ ในจำนวนไม่มากนัก ส่วนหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนั้น จำเลยก็ถูกหักเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินเดือนของจำเลยเหลือไม่พอจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ ทั้งยังได้ความอีกว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์รับเงินเดือนส่วนที่เหลือได้ แต่โจทก์ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยดี แต่โจทก์กลับไม่ยอมรับ เมื่อคำนึงถึงว่าขณะโจทก์จำเลยหย่ากันนั้นมีทรัพย์สินเช่นบ้านและที่ดินเป็นสินสมรสแต่จำเลยก็ยกให้โจทก์ทั้งหมด โดยจำเลยไม่ต้องการส่วนแบ่งในทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด รูปคดีจึงมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7830/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 74
การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดโดยเจ้าพนักงานศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74นั้น ให้ปฏิบัติดังนี้ (2) ให้ส่งแก่คู่ความหรือบุคคลซึ่งระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสาร ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลนั้น ดังนั้น การ ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาให้แก่จำเลย โดยเจ้าพนักงานศาลจึงไม่จำเป็นต้องส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยเท่านั้น แต่อาจส่งให้แก่จำเลย ณ สำนักทำการงานของจำเลยได้ บ้านเลขที่ 409 เป็นสำนักงานของบริษัทอ.ซึ่งจำเลยเป็นผู้บริหารและนั่งทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานนั้นทุกวัน บ้านเลขที่ดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานของจำเลย และในการดำเนินคดีนี้โจทก์ได้ดำเนินการส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้องและหมายต่าง ๆ ให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 409 ดังกล่าว ดังนี้ การที่เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัด ฟัง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ บ้านเลขที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นสำนักทำการงานของจำเลย จึงเป็นการส่งหมายนัด ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7667/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68, 80, 288
แม้ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมและจำเลยต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยใช้มีดของกลางแทงทำร้ายโจทก์ร่วม ส่วนโจทก์ร่วมใช้ไม่ตีจำเลยจนได้รับบาดเจ็บแต่เมื่อปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยดื่มสุราจนมึนเมา กลับมายังที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านของมารดาโจทก์ร่วมที่จำเลยเช่าอยู่ และได้ขึ้นไปนอนขวางประตูหน้าห้องเช่าของบุคคลอื่นโจทก์ร่วมและเพื่อนของจำเลยช่วยกันพยุงจำเลยลงมาที่ห้องพักของจำเลยบริเวณชั้นล่าง ในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยถูกบุคคลอื่นพูดจาถากถาง เกิดความไม่พอใจ จึงใช้มีดของกลางทุบตีรั้วสังกะสีและส่งเสียงดัง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุตรเจ้าของบ้านย่อมมีความชอบธรรมที่จะเข้าทำการห้ามปรามจำเลยแต่จำเลยกลับใช้มีดของกลางแทงโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงใช้ไม้ตีต่อสู้เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นจำเลยเป็นผู้ก่อขึ้นก่อนการที่จำเลยทำร้ายโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงมิใช่การป้องกันตัว โจทก์ร่วมถูกจำเลยใช้มีดของกลางซึ่งมีขนาดความยาวถึง11 นิ้วแทงหลายทีในระยะกระชั้นชิดติดต่อกัน เกิดบาดแผล4 แห่ง ซึ่งล้วนอยู่ในตำแหน่งของอวัยวะสำคัญบาดแผลดังกล่าวบางแห่งเป็นบาดแผลฉกรรจ์ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีมีโอกาสถึงแก่ชีวิตได้ แสดงว่าจำเลยแทงโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาฆ่า แต่เนื่องจากแพทย์ทำการรักษาได้ทันโจทก์ร่วมจึงไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7934/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 149, 166, 295, 296, ตาราง 5
ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งการคำนวณราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนด ถ้าไม่ตกลงกัน ให้คู่ความที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 วรรคสอง กล่าวคือโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดราคาเสียใหม่ได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านและต่อมาโจทก์ขอถอนการยึดและเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการยึดและถอนการบังคับคดีเรื่องนี้กับได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบแล้ว ต่อมาโจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องขอคืนค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินจากทุนทรัพย์ในคดีที่โจทก์ ควรเสียเป็นคดีนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยมานานถึง 5 ปีแล้ว กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองจึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งยกคำร้องของโจทก์เสีย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7883/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 442
จากสภาพรอยห้ามล้อของรถจำเลยที่ 1 ซึ่งปรากฏบนถนนที่เกิดเหตุมีความยาวถึงประมาณ 8 เมตร แสดงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถมาด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุมีควันไฟหนา ไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้ จำเลยที่ 1 จึงพยายามหยุดรถอย่างแรง ทำให้ล้อรถไถไปตามถนนโดยไม่หมุน ในที่สุดรถของจำเลยที่ 1 พุ่งเข้าชนท้ายรถของโจทก์ซึ่งจอดอยู่บนถนนจนตกไปบนไหล่ทางและเกิดความเสียหายความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถของโจทก์ดังกล่าวจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์
เมื่อโจทก์ขับรถมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ เห็น จ. ขับรถฝ่าเข้าไปในควันไฟซึ่งเกิดขึ้นจากไฟไหม้หญ้าข้างทาง เนื่องจากควันไฟดังกล่าวหนาทึบทำให้ไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้เช่นนี้ โจทก์ควรหยุดรถรอให้ควันไฟเบาบางลงก่อนแล้วค่อยขับรถต่อไป แต่โจทก์กลับเสี่ยงภัยขับรถตาม จ. ฝ่าควันไฟเข้าไป จนกระทั่งชนท้ายรถของ จ. ทำให้รถของโจทก์จอดกีดขวางช่องทางจราจร โจทก์จึงมีส่วนประมาทก่อให้เกิดความเสียหายด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถมายังที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูงทั้ง ๆที่มองไม่เห็นทางจนเป็นเหตุทำให้รถของจำเลยที่ 1 พุ่งเข้าชนท้ายรถของโจทก์อย่างแรงแล้ว ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อมากกว่าโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7854/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 90 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ม. 10, 12
แม้การจัดให้มีการเล่นการพนันเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนและการเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบ อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันก็ตาม แต่จำเลยนั่งขายสลากกินรวบที่บ้านพักของจำเลย เมื่อมีลูกค้ามาซื้อ จำเลยได้เขียนโพยสลากให้แก่ผู้ซื้อแล้วมอบโพยสลากให้ผู้ซื้อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ส่วนสำเนาโพยสลากจำเลยเก็บไว้จนถูกเจ้าพนักงานจับกุมได้พร้อมเงินสดของกลาง ดังนี้แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดทั้งฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตนและฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ด้วยก็ตามแต่จำเลยกระทำโดยมีเจตนาอันเดียวกันคือขายสลากกินรวบนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้เพียงกรรมเดียว มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7853/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1490 (3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 172 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8 (7), 8 (9), 9, 153
การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น เจ้าหนี้เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองจะเป็นหนี้โจทก์จริงหรือไม่ และจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาเมื่อมีประเด็นโต้เถียงกัน คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการโดยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองตกลงจะ ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 19,020,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้และออกเช็คเพื่อชำระหนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสอง 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้โจทก์จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(7)และ(9) ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9และครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 153 แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีหลายครั้ง และจำเลยที่ 1เบิกความเสร็จเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1ขอเลื่อนไปสืบพยานที่เหลือในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537วันที่ 19 ธันวาคม 2537 วันที่ 6 และ 20 กุมภาพันธ์ 2538เวลา 9 นาฬิกา รวม 4 วัน ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่าสืบพยานจำเลยที่ 1 เสร็จเมื่อใดให้จำเลยที่ 2 สืบต่อ เมื่อถึงวันนัดที่เลื่อนมาจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าเตรียมพยานมาโดยผิดหลงขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อในนัดหน้า โดยจำเลยที่ 1 ขอสืบ ส. อีกปากเดียว ศาลชั้นต้นอนุญาตครั้นถึงวันนัด จำเลยที่ 1 แถลงหมดพยานศาลชั้นต้นจึงให้จำเลยที่ 2 นำพยานเข้าสืบต่อจำเลยที่ 2 ขอเลื่อนอ้างว่าไม่ได้เตรียมพยานมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 2 รวม 2 นัดตามที่นัดไว้เดิม เมื่อถึงวันนัดต่อมา จำเลยที่ 2ขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยที่ 2 ติดอบรมที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 3 เดือน และแถลงว่าติดใจสืบตัวจำเลยที่ 2กับ ส. เพียง 2 ปากนอกนั้นจะขอส่งคำให้การพยานจากศาลแขวงนครราชสีมาแทน สำหรับ ส.อาจจะไม่สืบ ต้องรอคำเบิกความจำเลยที่ 2ก่อน และแถลงเพิ่มเติมว่านัดหน้าจะนำตัวจำเลยที่ 2หรือส.มาเบิกความ จะไม่ขอเลื่อนคดีอีกศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อตามที่นัดไว้เดิม ถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำตัวจำเลยที่ 2 หรือส.มาเบิกความแต่กลับขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยที่ 2 ติดการอบรมที่กรุงเทพมหานครดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2หลายครั้งแล้ว และครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนก็แถลงว่าจะนำตัวจำเลยที่ 2 หรือส. มาเบิกความและจะไม่ขอเลื่อนคดีอีก แต่เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 2ก็ไม่ได้นำตัวจำเลยที่ 2 หรือส. มาเบิกความตามที่แถลงไว้ พฤติการณ์ของ จำเลยที่ 2 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เลื่อนคดีและ งดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยาน มาสืบจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจริง ในการกู้ยืมเงินจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมด้วย โดยจำเลยที่ 2 เคยไปรับเงินกู้จากโจทก์พร้อมกับจำเลยที่ 1 หลายครั้งนอกจากนี้เมื่อสามีโจทก์ไปพบจำเลยที่ 2 และได้พูดเรื่อง หนี้สินกับจำเลยที่ 2 กับขอให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ก็รับปากจะใช้หนี้สินทั้งหมดให้แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 กลับไม่ยอมลงชื่อในสัญญาค้ำประกันดังนี้ เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 2รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินตลอดมา แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ฉบับดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยที่ 2 รับรู้ในหนี้ที่จำเลยที่ 1ก่อขึ้นตลอดมา ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกันจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(3)ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกันต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7852/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173, 179, 180
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จงใจทุจริตยักยอกเงินค่าภาษีและค่าธรรมเนียมรถจักรยานยนต์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนจำเลยที่ 5 จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่โจทก์วางไว้ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ แม้จะได้ความว่ายอดเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกจะมาจากใบเสร็จรับเงินต่างเล่มและคนละเลขที่กัน ทั้งการตรวจพบการกระทำทุจริตยักยอกจะเป็นคนละครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 5กระทำละเมิดต่อโจทก์ในระยะวันเวลาเดียวกันที่โจทก์ได้ฟ้องคดีก่อนไว้แล้ว ฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมเป็นเรื่องเดียวกับที่โจทก์ฟ้องในคดีดังกล่าว ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ เพราะเป็นการขอเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและมีความเกี่ยวข้องกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179,180 การที่โจทก์กลับมาฟ้องเป็นคดีนี้อีกจึงเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1607/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174 (2)
คดีนี้โจทก์ยื่นคำฟ้องวันที่ 14 สิงหาคม 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับคำฟ้อง หมายส่งสำเนาให้จำเลย ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดี โดยปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีนั้น โจทก์ยื่นคำแถลงลงวันที่ 22 สิงหาคม 2538 ต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นจัดส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งแสดงว่าโจทก์ยังติดใจจะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้โจทก์ยังได้เสียค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 3 ในวันยื่นคำฟ้องแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ได้ชำระค่าธรรมเนียมนำส่งหมายเรียกหลังจากวันฟ้องแล้วเพียง 8 วัน ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งจำหน่ายคดี ซึ่งแสดงว่าโจทก์ยังติดใจดำเนินคดีต่อไปอีกเช่นกัน จึงเป็นพฤติการณ์ที่ยังไม่สมควรจำหน่ายคดีโจทก์ซึ่งเพิ่งยื่นฟ้องได้เพียง 8 วัน