คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7100/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องหมายถึงยกฟ้องโจทก์ร่วมด้วย เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีโจทก์ร่วมจึงยุติ โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7095/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 349 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
การที่เช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามวันสั่งจ่ายครั้งแรกนั้นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ย่อมเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จแล้วนับแต่วันนั้น แม้ต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยจะได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่โดยจำเลยได้ใช้เช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คฉบับเดิมมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันสั่งจ่ายใหม่แล้วมอบชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายก็หาได้ทำให้เช็คพิพาทเป็นเช็คฉบับใหม่ขึ้นมาไม่ เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอีก ก็ไม่ทำให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สอง เพราะเป็นการกระทำความผิดอันเดียวกัน จะเกิดเป็นความผิดสองครั้งไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7091/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1401 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 88, 104, 172
โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นจำต้องเผชิญสืบทางพิพาท แต่โจทก์มิได้กล่าวอ้างให้เห็นชัดแจ้งว่าขาดพยานหลักฐานสำคัญใดบ้างที่จะทำให้ฝ่ายโจทก์เสียเปรียบหรือไม่ได้รับความยุติธรรม ประกอบกับพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบก็เพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องเผชิญสืบทางพิพาทอีก
โจทก์ฟ้องขอเปิดทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 60880 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าว และได้สร้างกำแพงคอนกรีตในที่ดินนั้น ดังนี้ คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของฝ่ายโจทก์ โจทก์จึงย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ห. เจ้าของที่ดินเดิมเพียงแต่อนุญาตให้ความยินยอมโจทก์บางรายเดินผ่านทางพิพาท เพราะเกี่ยวพันเป็นญาติกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นการใช้ทางพิพาทในลักษณะเอื้อเฟื้อต่อกัน ทั้ง ห. ก็ยังหวงแหนทางพิพาทอยู่ มิใช่เป็นการที่โจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นภารจำยอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7085/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296, 296 จัตวา
แม้ผู้ร้องที่ 1 จะมีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนทางด้านทิศตะวันออกโดยผู้ร้องที่ 1มารดายกให้ก็ตาม แต่ในชั้นนี้เป็นชั้นบังคับคดีซึ่งโจทก์ขอให้บังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบริวาร เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รื้อถอนโรงเรือนออกไปแล้ว คงเหลือเพียงบริวารซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และปลูกสร้างโรงงานในที่ดินพิพาทมาแต่เดิมอันเป็นผู้ที่จะต้องถูกบังคับในคดีนี้ มิใช่ผู้ร้องทั้งสอง ส่วนที่ผู้เช่าทั้งสามดังกล่าวทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากผู้ร้องทั้งสองภายหลังที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วกรณีจะทำให้ผู้เช่าทั้งสามไม่ต้องรื้อถอนโรงงานออกไปหรือไม่เป็นเรื่องที่ ผู้เช่าทั้งสามจะต้องเป็นผู้มายื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษ ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296จัตวา (3) ส่วนที่ตามสัญญาเช่าซึ่งผู้ช่าทั้งสามยอมยกสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสองผู้ให้เช่านั้น เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้เช่าที่จะต้องไปว่ากล่าวกันเอง ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รื้อถอนโรงเรือนในที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสอง
คำให้การที่ขัดแย้งกันเองได้แก่คำให้การที่ยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด ตอนแรกจำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยรู้จักหรือไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยไม่เคยกู้เงินและไม่เคยรับเงินจากโจทก์ แต่ในตอนต่อมาจำเลยกลับให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดจากภริยาจำเลยเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และภริยาจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความและให้โจทก์ยึดถือไว้ในการที่ภริยาจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ แล้วโจทก์กรอกข้อความในสัญญาดังกล่าวโดยที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกันคำให้การดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์และหนังสือสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม แต่เหตุแห่งการปฏิเสธขัดแย้งกันไม่ชัดแจ้งว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอมเพราะเหตุใด คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง
แม้จำเลยไม่มีประเด็นนำสืบตามคำให้การ แต่คดียังมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง จึงจะชนะคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7061/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 52, 54 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 ยื่นหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ย่อมเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างที่ไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ให้ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างและมีผลสมบูรณ์นับแต่ยื่นหนังสือเลิกจ้างดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์รับหนังสือเลิกจ้างแล้วโจทก์ยื่นหนังสือลาออกให้จำเลยที่ 2ก็มิใช่เป็นการตกลงกันใหม่ให้ถือเป็นการลาออกดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ดังนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานปรับข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
รายได้พิเศษอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือผ่านสิทธิและรับรองเงินเดือนเป็นเงินค่าภาษีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากร จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจึงออกภาษีเงินได้ให้แก่กรมสรรพากรแทนโจทก์ โดยมิได้หักจากเงินเดือนของโจทก์ ดังนี้ภาษีเงินได้ดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการ และเมื่อเงินดังกล่าวมิใช่เงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือ 6 เดือนจำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์เพียง 3 เดือน ยังคงค้างค่าชดเชยอีก 3 เดือน แต่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือ6 เดือน โดยมิได้ยกเหตุใด ๆ ขึ้นอ้างเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ย่อมไม่ชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 52 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7040/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14, 683, 715
หนังสือค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อย่างไม่มีจำกัด กับมีจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองให้ไว้ต่อโจทก์ และมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 683,715 ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์โดยยินยอมรับผิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยนั้น จำเลยที่ 2และที่ 3 หาจำต้องรับผิดร่วมด้วยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตนจะต้องรับผิดแต่แรกไม่เพราะเป็นความรับผิดคนละส่วนกัน
หนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1ยักยอกเงินโจทก์ไป เป็นหนี้คนละจำนวนกับหนี้ตามฟ้องในคดีอาญาเรื่องก่อน การที่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์คดีนี้ได้เคยแถลงไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่าผู้เสียหายตกลงกับจำเลยได้โดยผู้เสียหายได้รับชำระหนี้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป ขอถอนคำร้องทุกข์เป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ในคดีก่อนเท่านั้น หาใช่เป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ในคดีนี้ไม่ เช่นนี้ หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ในคดีนี้จึงมีมูลหนี้อยู่จริงและหนี้นั้นยังไม่ระงับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 142 (5), 205, 246, 247 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17, 29 พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 ม. 25 (3) บัญชีอัตราภาษีป้ายประเภท (2)
การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจะถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องหาได้ไม่ เนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีขาดนัดศาลจะวินิจฉัยคดีให้คู่ความที่มาศาลชนะคดีต่อเมื่อศาลเห็นว่า ข้ออ้างของคู่ความเช่นว่านี้มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจชี้ขาดโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาแล้ววินิจฉัยว่ายังไม่เพียงพอรับฟังได้ตามที่โจทก์อ้างมาทั้งหมด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว หาใช่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ไม่
คำว่า เครื่องหมายนั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า สิ่งที่ทำขึ้นแสดงความหมายเพื่อจดจำหรือกำหนดรู้ ดังนั้น ย่อมหมายถึงสิ่งใด ๆ ก็ได้ที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความหมายนั้น ซึ่งตามรูปลักษณ์ที่จำเลยทำขึ้นที่แสดงความหมายถึงรูปหัวใจ หากไม่พินิจดูอย่างละเอียดแล้วก็ไม่อาจทราบได้ว่ารูปดังกล่าวประกอบด้วยตัวอักษร C และ D ประกบกันอยู่ เนื่องจากตัวอักษรทั้งสองมีลักษณะไม่เหมือนกับตัวอักษรต่างประเทศ C และ D โดยทั่วไป แต่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแทนความหมายของรูปหัวใจ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่า เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบการค้าของจำเลยอันมีความหมายทำนองเดียวกับคำว่าเครื่องหมายนั่นเองป้ายโฆษณาของจำเลยที่ใช้อักษรย่อว่า "CD" เขียนเป็นรูปลักษณะคล้ายหัวใจและมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า "CATHAYDEPARTMENTSTORE" ทับข้อความภาษาไทยว่า "คาเธ่ย์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์"และ"ซุปเปอร์มาร์เก็ตเปิดบริการ ถึง 4 ทุ่ม" ต่อท้ายอักษรย่อดังกล่าว จึงเป็นป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและเครื่องหมายอื่น ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภท (2) ท้ายพระราชบัญญัติป้าย พ.ศ.2510
คดีนี้จำเลยได้รับแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2536 ครบกำหนดชำระภาษีป้ายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 การเสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 25(3) จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไป มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2536 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 และ 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246 และ 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7035/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 27, 27 ทวิ, 31 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 94
กรณีที่จะมีการกำหนดรายได้เพื่อประเมินภาษีอากร มิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง และการที่ศาลภาษีอากรรับฟังพยานบุคคลเกี่ยวกับการกำหนดรายได้ของบริษัทโจทก์ก็เป็นการรับฟังว่าสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์และถูกต้องตามความเป็นจริง ทั้งในประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ได้ขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จำนวน 31 หลัง ให้แก่ผู้ซื้อตามที่ระบุไว้หนังสือสัญญาขายที่ดินนั้น ภาระการพิสูจน์ตกโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาที่ดินและทาวน์เฮาส์ที่โจทก์แจ้งขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อตามสัญญาจะซื้อขายพิพาทมิใช่ราคาอันแท้จริงและปรากฏว่าโจทก์ขายที่ดินและทาวน์เฮาส์จำนวน 30 หลัง ในราคาหลังละ 459,000 บาท และการประเมินราคาทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดิน 26.5 ตารางวา ของเจ้าพนักงานถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำเอารายได้ดังกล่าวมาถือเป็นรายรับของโจทก์ในการคำนวณภาษีการค้าจากการขายอสังหาริมทรัพย์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532ส่วนที่เกี่ยวกับการขายที่ดินและทาวน์เฮาส์นั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุสงสัยว่าราคาที่ดินและทาวน์เฮาส์ที่โจทก์แจ้งในขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายพิพาทมิใช่ราคาอันแท้จริง เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินราคาขายที่ดินและทาวน์เฮาส์ที่แท้จริงตามพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ แม้การคำนวณต้นทุนค่าก่อสร้างของโจทก์จากราคาค่าก่อสร้างของกรมโยธาธิการบวกด้วยกำไรร้อยละ 25 แล้วนำมาคำนวณรวมกับที่ดินตามราคาประเมินของกรมที่ดินจะไม่สามารถหาราคาขายที่แท้จริงได้ แต่การคำนวณโดยอาศัยหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็มีเหตุผลอันสมควรเนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานอื่นมาแสดงได้ในการประเมินราคาขายที่ดินและทาวน์เฮาส์ของโจทก์เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ดำเนินการให้สอบถามผู้ซื้อเพิ่มเติม ได้ความว่าผู้ซื้อได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ในราคาต่ำสุดประมาณ 459,000 บาท ถึง460,000 บาท คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะแก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินได้ โดยเอาราคาขายที่ปรากฏตามพยานหลักฐานที่ได้ความมาถือเป็นราคาขายของโจทก์ แล้วปรับปรุงให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวเพิ่มเติมจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายได้ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นการแก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินให้ถูกต้อง
ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 โจทก์ได้ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาคำนวณกำไรสุทธิในปีดังกล่าวไว้แล้ว และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายใดเพิ่มขึ้นอีก จึงไม่อาจนำค่าใช้จ่ายมาหักเพิ่มเติมได้
ในส่วนที่โจทก์ขอลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายนั้นปรากฏว่าราคาขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินที่โจทก์แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินและราคาที่โจทก์นำมาลงบัญชีเป็นรายได้จากการประกอบกิจการของโจทก์นั้น มิใช่ราคาที่แท้จริง กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ ส่วนเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรไม่มีกฎหมายให้งดได้และจะลดได้ก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจพิจารณาลดหรืองดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6988/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (6), 192 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 11 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14, 31
โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 โดยในคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษในข้อหาทำไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 ที่เป็นบทกฎหมายมาตราซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นว่านั้นเป็นความผิดมาด้วย ดังนั้น จะถือว่าโจทก์ได้ขอให้ลงโทษในข้อหาทำไม้หาได้ไม่