คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1727
การที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นผู้คัดค้านต้องบรรยายในคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกให้ปรากฎว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามกฎหมายอย่างใดหรือกระทำการใดซึ่งจะเป็นที่เสื่อมประโยชน์ต่อกองมรดกของผู้ตายหรือทำให้ทายาทอื่นเสียหายประการใดอันจะเป็นเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกแต่ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านระบุเพียงว่าผู้ร้องมีอายุถึง75ปีแล้วไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยมิได้บรรยายถึงเหตุที่ว่าไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั้นเป็นอย่างใดที่ว่าพฤติการณ์ที่ผ่านมาเจ้ามรดกมิได้ไว้วางใจให้ดูแลทรัพย์สินหรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกก็มิได้เป็นเหตุถึงขนาดที่ผู้ร้องจะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายไม่ได้ส่วนข้ออ้างที่ว่าผู้ร้องปกปิดผู้คัดค้านในการมาร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะขอให้ถอนผู้จัดการมรดกได้ดังนั้นคำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายที่จะขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ศาลจึงไม่จำต้องทำการไต่สวนคำคัดค้านของผู้คัดค้าน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2292/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 174, 192 วรรคหนึ่ง
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยประมาทขับรถล้ำเส้นแบ่งกลางถนนเข้าไปชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตายแต่อย่างใดการที่โจทก์ร่วมนำสืบไปในทำนองเช่นนั้นจึงเป็นการนำสืบนอกคำฟ้องไม่อาจรับฟังได้ ผู้ตายเป็นฝ่ายขับรถจักรยานยนต์ล้ำเส้นแบ่งกลางถนนเข้ามาชนกับรถยนต์กระบะที่จำเลยขับในช่องเดินรถของจำเลยเมื่อไม่ปรากฎจากการนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยกระทำโดยประมาทตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
จำเลยที่3อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่พิพากษาให้จำเลยที่1และที่2ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน1,165,484.92บาทพร้อมดอกเบี้ยแต่คำพิพากษาในส่วนนี้ไม่ได้บังคับจำเลยที่3ด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่3 จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งนักวิชาการ4ซึ่งตามข้อบังคับของโจทก์ถือว่าจำเลยเป็นนักเรียนทุนประเภท1(ข)และตามข้อ6วรรคแรกของข้อบังคับของโจทก์ระบุว่า"ให้สถาบันทำสัญญาผูกมัดให้พนักงานที่ไปศึกษาฝึกอบรมหรือปฏิบัติการวิจัยกลับมาปฏิบัติงานตามแผนงานหรือโครงการที่สถาบันกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเท่าของเวลาที่พนักงานผู้นั้นได้รับเงินเดือนระหว่างศึกษาฝึกอบรมหรือปฏิบัติการวิจัย"จำเลยได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรีย ตั้งแต่วันที่1ตุลาคม2532โดยมิได้ทำสัญญาผูกมัดกับโจทก์เพื่อกลับมาชดใช้ทุนระหว่างที่จำเลยได้รับทุนนั้นโจทก์ได้ส่งหนังสือสัญญาชดใช้ทุนไปให้จำเลยลงชื่อที่ประเทศออสเตรียหลายครั้งแต่จำเลยไม่ยอมลงชื่อกลับยื่นใบลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่1พฤศจิกายน2533ดังนี้โจทก์ได้ส่งหนังสือสัญญาชดใช้ทุนให้จำเลยลงชื่อหลายครั้งแล้วจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์เพื่ออนุโลมให้เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้แต่จำเลยกลับไม่ยอมลงชื่อในหนังสือสัญญาชดใช้ทุนการกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์จำเลยไม่อาจอ้างเหตุที่มิได้ลงชื่อในหนังสือสัญญาชดใช้ทุนขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2259/2540
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 39, 54
อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโจทก์ได้ถูกจำเลยเลิกจ้างแล้วเพราะเหตุละทิ้งหน้าที่ต้นแต่วันที่24ตุลาคม2538เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลแรงงานพิพากษาไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ซึ่งในปัญหานี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่24ตุลาคม2538เป็นต้นมาโดยโจทก์สมัครใจเลิกเป็นลูกจ้างของจำเลยเองจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ดังนี้อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54 การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา39วรรคหนึ่งและการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังนั้นเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2257/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362, 365 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (2)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา83,362,365ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่2มีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา365(3)อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินหากตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดินมิใช่เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวโจทก์หามีสิทธิขอถอนฟ้องจำเลยที่2ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค3ได้ไม่แต่ต่อมาภายหลังเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค3พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่2มีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวเมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดและตามคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์อ้างว่าโจทก์และจำเลยที่2ตกลงกันได้โจทก์จึงไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่2ต่อไปจำเลยที่2ไม่คัดค้านและท้ายคำร้องดังกล่าวได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วยคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์จึงเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่2ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา39(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225, 249
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้เงินต้นค่าสินค้าที่สั่งซื้อจากโจทก์พร้อมดอกเบี้ยและค่าบริการสินเชื่อค่าทวงถามหนี้และค่าดำเนินการอื่นๆคิดถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่าไม่เคยติดต่อค้าขายมิได้เป็นหนี้ตามฟ้องไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์โดยจำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้เลยว่าจำเลยทั้งสามได้ชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์แล้วการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้ค่าท่อระบายน้ำของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนั้นเป็นการที่ศาลชั้นต้นได้ฟังข้อเท็จจริงโดยปริยายแล้วว่าจำเลยทั้งสามได้ซื้อสินค้าตามฟ้องไปจากโจทก์และค้างชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ดังนี้ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสามได้ชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วซึ่งจำเลยทั้งสามไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบที่ศาลชั้นต้นทั้งปัญหาดังกล่าวก็ไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อดังกล่าวของจำเลยทั้งสามนั้นจึงชอบแล้ว จำเลยทั้งสามได้ให้การไว้เพียงว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ส.ฟ้องคดีแทนหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมส.ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์แต่จำเลยทั้งสามกลับอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีมูลหนี้ค่าซื้อขายท่อระบายน้ำต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225อีกเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2225/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 167, 193 (8), 203, 205, 213 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94 วรรคหนึ่ง (ข)
ก่อนโจทก์จำเลยทำสัญญากันได้มีการโต้เถียงกันแล้วโจทก์เดินขึ้นไปบนบ้านของโจทก์เมื่อโจทก์กลับลงมากระเป๋ากางเกงของโจทก์มีสิ่งของซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอะไรตุงอยู่เท่านั้นโดยโจทก์ไม่ได้กระทำการอย่างใดอันเป็นการข่มขู่ให้จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายยิ่งกว่านั้นในวันที่กำหนดจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์จำเลยไปรอโจทก์ที่สำนักงานที่ดินตามนัดแต่ไม่พบโจทก์เพราะเป็นวันหยุดราชการเช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยมิได้ถูกโจทก์ข่มขู่ให้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายสัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆียะ สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทข้อ2ระบุว่า"ในการจะซื้อขายนี้ผู้จะซื้อได้วางมัดจำให้ผู้จะขายไว้แล้วเป็นเงิน389,000บาทผู้จะขายได้รับเงินมัดจำไว้ถูกต้องแล้ว"จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนดังกล่าวและจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายไม่ได้รับเงินมัดจำนั้นเพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94วรรคหนึ่ง(ข)ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าโจทก์ผู้จะซื้อได้วางมัดจำเงินจำนวน389,000บาทและจำเลยผู้จะขายได้รับเงินมัดจำนั้นไว้แล้ว แม้วันที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันได้ก็ตามแต่กรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีที่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/8ที่บัญญัติให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาในกรณีที่วันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องไปโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการอีกด้วยดังนั้นการที่จำเลยไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ต่อไปเมื่อต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาดังกล่าวไปยังโจทก์ซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 138 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
ประจักษ์พยานโจทก์ที่นำสืบทั้งสองปากเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมนั้นมิได้แต่งเครื่องแบบ เหตุที่เข้าจับกุมจำเลยก็สืบเนื่องจากเหตุวิวาทส่วนตัวระหว่างจำเลยกับผู้จับกุมถึงขั้นลงมือทำร้ายกันก่อนที่พยานโจทก์อ้างว่าได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จึงเห็นได้ชัดว่าลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพยานผู้จับกุมเป็นผลสืบเนื่องจากการวิวาทส่วนตัวน้ำหนักความเป็นกลางของพยานผู้จับกุมจึงน้อย ไม่อาจจะรับฟังเชื่อถือได้มั่นคง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงที่มีประจักษ์พยานบุคคลอื่นซึ่งเป็นประชาชนแต่โจทก์หาได้นำสืบประกอบเพื่อสนับสนุนให้คำเบิกความของพยานผู้จับกุมมีน้ำหนักดีขึ้นแต่ประการใดไม่ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยโดยปราศจากข้อสงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2229/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296 จัตวา
โจทก์มีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามคำพิพากษาที่พิพากษาให้โจทก์รื้อบ้านและออกไปจากที่ดินของจำเลยตราบใดที่โจทก์ยังไม่รื้อบ้านดังกล่าวออกไปจากที่ดินของจำเลยจำเลยชอบที่จะขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อจับกุมโจทก์มากักขังไว้จนกว่าจะรื้อบ้านออกไปจากที่ดินของจำเลยเมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยังคงอยู่ในบ้านที่ถูกบังคับให้ต้องรื้อไปตามคำพิพากษาแต่ไม่ปรากฎว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์แสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในแปดวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศดังนี้จำเลยย่อมขอให้ศาลออกหมายจับกุมผู้รับมอบอำนาจโจทก์มากักขังได้เช่นเดียวกันเพราะกฎหมายถือว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นบริวารของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์แพ้คดีและถูกบังคับให้ต้องรื้อบ้านออกไปจากที่ดินของจำเลยตามฟ้องแย้งแล้วกลับมาอ้างในชั้นบังคับคดีว่าโจทก์มิใช่เจ้าของบ้านดังกล่าวจึงไม่อาจปฎิบัติตามคำพิพากษาได้นั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์กล่าวอ้างขึ้นเพื่อประสงค์ให้การบังคับคดีของจำเลยถูกประวิงให้ล่าช้าออกไปเท่านั้นและการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์ย้ายออกจากบ้านดังกล่าวไปอยู่ที่อื่นแล้วก็ดีหรือบุคคลที่ยังอยู่ในบ้านมิใช่บริวารของโจทก์ก็ดีหาเป็นเหตุให้โจทก์และบริวารพ้นจากความรับผิดในอันที่จะถูกจับกุมไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 142, 177, 183
คำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าป. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยมาประมาณ13ปีและจำเลยครอบครองต่อเนื่องเรื่อยมาซึ่งไม่เป็นความจริงจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยและด. ได้ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตลอดมาจนกระทั่งด. ถึงแก่กรรมจำเลยก็ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมารวมเวลากว่า13ปีที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของป. ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ดินพิพาทเป็นมรดกหรือไม่ดังนั้นการนำสืบของจำเลยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทเพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของป. จึงเป็นการนำสืบตามประเด็นข้อพิพาทในคำฟ้องและคำให้การหาใช่นำสืบนอกคำให้การไม่