คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1881/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 453, 456 วรรคสอง
ผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่จำต้องเป็นเจ้าของที่ดินในขณะทำสัญญาก็ได้เพราะสาระสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงหากผู้ขายสามารถจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงกันไว้สัญญาจะซื้อขายนั้นก็ใช้ได้แล้วฉะนั้นการที่จำเลยไปที่สำนักงานที่ดินในวันนัดพร้อมกับส. ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและได้แสดงเจตนาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาแต่โจทก์เกี่ยงให้จำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์จากส.ก่อนแล้วจัดการโอนให้แก่โจทก์จึงไม่อาจตกลงกันได้กรณีเช่นนี้แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในวันนับโอนก็จะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 379, 381, 383 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง
ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยได้บรรยายถึงหลักเกณฑ์ข้อตกลงตามสัญญาเกี่ยวกับอัตราและระยะเวลาการชำระดอกเบี้ยในกรณีปกติและในกรณีผิดนัดผิดสัญญาไว้โดยละเอียดครบถ้วนจึงเป็นการบรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วส่วนกรณีที่ว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยไปแล้วจำนวนเท่าใดในอัตราเท่าใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ในเรื่องนี้จึงไม่เคลือบคลุม ตามข้อสัญญากู้เงินระบุว่าถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ก็ดีหรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องก็ดีโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ21ต่อปีจากต้นเงินกู้ที่ค้างชำระซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกรณีมีการชำระหนี้ถูกต้องตามสัญญาดอกเบี้ยที่กำหนดให้มีอัตราสูงขึ้นดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าจำเลยจะต้องชดใช้เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ในกำหนดเวลาตามสัญญาจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลยตามสัญญาในกรณีปกตินั้นมีอัตราร้อยละ13.5ต่อปีเป็นอย่างสูงการที่โจทก์กำหนดเบี้ยปรับไว้ในลักษณะเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ21ต่อปีซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติเกือบเท่าตัวนับว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรคืออัตราร้อยละ18ต่อปีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 20, 21
จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นบันทึกคำพิพากษาไว้ในแบบบันทึกคำฟ้องคำรับสารภาพคำพิพากษาซึ่งเป็นแบบพิมพ์คำฟ้องด้วยวาจาว่า"จำเลยผิดตามฟ้องรับลดกึ่งหนึ่งแล้วลงโทษจำคุก6เดือน"จึงชัดแจ้งแล้วว่าเมื่อศาลลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้วคงลงโทษจำเลย6เดือน จำเลยใช้อาวุธมีดขนาดใหญ่ใบมีดยาว19เซนติเมตรกว้าง5เซนติเมตรด้ามมีดยาว53.5เซนติเมตรฟันบริเวณศีรษะอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายมีบาดแผลยาว8.10เซนติเมตรเมื่อผู้เสียหายล้มจำเลยยังฟันซ้ำอีกแต่ด้ามมีดถูกแขนผู้เสียหายพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรงจึงไม่รอการลงโทษให้จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 78 ประกาศกรมแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างประเภทการค้า 7 (ข) ประกาศกรมแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างประเภทการค้า 10 ประกาศกรมแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างประเภทการค้า 11
โจทก์มีโทรศัพท์ไว้บริการแขกผู้มาพักการใช้โทรศัพท์ผู้มาพักสามารถใช้โดยผ่านพนักงานโรงแรมของโจทก์ช่วยต่อให้หรือผู้มาพักต่อสายด้วยตนเองโดยผ่านตู้แยกสายที่โจทก์จัดไว้ให้และผู้มาพักสามารถติดต่อภายในกรุงเทพมหานครต่างจังหวัดและต่างประเทศได้และสามารถโทรออกจากห้องพักหรือโทรจากนอกห้องพักก็ได้ดังนี้เมื่อโทรศัพท์ดังกล่าวโจทก์เป็นผู้จัดหาไว้ให้ผู้มาพักได้ใช้ทั้งภายในและภายนอกห้องพักจึงเป็นบริการที่โจทก์จัดให้แก่ผู้มาพักควบคู่กันไปกับการจัดห้องพักดังนั้นค่าตอบแทนที่ได้จากการนั้นจึงถือเป็นรายรับอันเนื่องมาจากการจัดสถานที่และอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้เข้ามาพักในโรงแรมของโจทก์เป็นรายรับที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งต้องเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า7(ข)โรงแรมหาใช่ประเภทการค้า10ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าไม่และตามประมวลรัษฎากรมาตรา 78ได้บัญญัติให้ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับของทุกเดือนภาษีตามอัตราในบัญชีภาษีการค้าซึ่งหมายความว่าเป็นรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆจึงไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักเพื่อคำนวณภาษีการค้าโจทก์จึงหามีสิทธิจะนำค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้แก่องค์การโทรศัพท์และการสื่อสารแห่งประเทศไทย มาหักออกแล้วนำเฉพาะส่วนที่โจทก์เรียกเก็บเพิ่มจากผู้เข้ามาพักเสียภาษีการค้าเท่านั้นไม่ โจทก์มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ดินโจทก์ที่ซื้อที่ดินทั้งห้าโฉนดมาแล้วปลูกสร้างอาคารโรงแรมที่โอนขายนั้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจโรงแรมตามวัตถุประสงค์ของโจทก์บริษัทท. เป็นบริษัทย่อยของโจทก์โจทก์ถือหุ้นอยู่ถึงร้อยละ99.99และถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เป็นผู้ซื้อและรับโอนที่ดินกับอาคารดังกล่าวจากโจทก์มีคณะกรรมการชุดเดียวกันกับคณะกรรมการบริษัทโจทก์เงินค่าที่ดินและอาคารที่บริษัทดังกล่าวจ่ายให้แก่โจทก์คือเงินจำนวนเดียวกันกับที่โจทก์จ่ายค่าหุ้นให้เงินที่โจทก์ให้กู้ยืมและเงินที่วางประกันการที่โจทก์เช่าที่ดินและอาคารจากบริษัทดังกล่าวการชำระเงินกระทำกันโดยการโอนตัวเลขทางบัญชีระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าวประโยชน์ที่โจทก์ได้รับก็คือสามารถลบตัวเลขทางบัญชีของโจทก์ที่ขาดทุนตลอดมาตั้งแต่ปี2526ทำให้มีกำไรเพื่อที่โจทก์จะมีคุณสมบัติสามารถเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จึงเห็นได้ว่าโจทก์มิได้มีจุดมุ่งหมายในการซื้อที่ดินและทำการปลูกสร้างอาคารไว้เพื่อขายหากำไรเป็นสำคัญมาแต่เดิมที่โจทก์ต้องตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาแล้วทำสัญญาโอนขายที่ดินและอาคารให้ก็เพราะโจทก์ประกอบการขาดทุนมาโดยตลอดตั้งแต่ปี2526จำเป็นจะต้องกระทำการดังกล่าวเพื่อทำให้มีกำไรแม้โจทก์จะตั้งราคาขายสูงกว่าราคาที่ซื้อมาเป็นจำนวนมากเพื่อให้เห็นว่าโจทก์มีกำไรสามารถเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ก็เป็นไปตามปกติของการประกอบกิจการค้าและราคาที่ดินที่สูงขึ้นหาใช่มีลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไรจากการซื้อที่ดินมาแล้วขายไปไม่จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ดินและอาคารดังกล่าวโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท11
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 225 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 54
โจทก์ได้บรรยายฟ้องให้จำเลยที่1เข้าใจได้ดีแล้วถึงระยะเวลาที่จำเลยที่1เบิกสินค้าไปแล้วต้องรับผิดรวมทั้งจำนวนที่ต้องรับผิดตลอดจนมีคำขอบังคับให้จำเลยที่1รับผิดตามนั้นด้วยจึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยที่1จะรับสินค้าไปเมื่อใดจำนวนเท่าใดเป็นเพียงรายละเอียดที่ที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้หาทำให้ฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไปไม่ ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ซึ่งจำเลยมิได้ให้การเป็นประเด็นไว้เป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงโดยวินิจฉัยจากคำเบิกความของจำเลยโดยไม่ได้ชั่งน้ำหนักพยานโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่1ว่าจำเลยที่1เป็นพนักงานขายในร้านค้าย่อยทำหน้าที่ขายน้ำส้มสายชูกลั่นในทางปฏิบัติจำเลยที่2ซึ่งเป็นหัวหน้าของจำเลยที่1ได้มอบให้จำเลยที่1ทำหน้าที่เบิกน้ำส้มสายชูกลั่นมาขายระหว่างเดือนตุลาคม2528ถึงเดือนสิงหาคม2529จำเลยที่1ได้ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อและรับสินค้ามาขายในร้านค้าย่อยซึ่งการเก็บและการขายน้ำส้มสารชูกลั่นนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่1แต่ปรากฏว่าเงินรายรับที่ควรได้จากการขายน้ำส้มสายชูกลั่นขาดบัญชีและน้ำส้มสายชูกลั่นที่จำเลยที่1เบิกมาขายนั้นขาดหายไปทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายการกระทำของจำเลยที่1เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหายการที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยที่1ต้องรับผิดและพิพากษาให้จำเลยที่1ชดใช้เงินแก่โจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยและพิพากษาตามประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสิบเจ็ดทุจริตต่อหน้าที่จงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรงหรือไม่ดังที่กำหนดไว้โดยชอบและแม้การที่จำเลยที่1ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อและเบิกน้ำส้มสายชูกลั่นแทนจำเลยที่2จะปฏิบัติกันมาโดยโจทก์ไม่ทักท้วงจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ไม่ร้ายแรงนักก็ตามแต่ก็หาทำให้ความรับผิดชอบของจำเลยที่1ในฐานะผู้เบิกตลอดจนการเก็บและขายน้ำส้มสายชูกลั่นหลุดพ้นไปไม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานหาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่กรณีเช่นนี้นอกจากจำเลยจะทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วยสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิมหรือ193/30ที่ตรวจชำระใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1870/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 192 วรรคแรก พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 65, 66
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายเพียงแต่บรรยายในฟ้องข้อก.ว่าจำเลยทั้งสองผลิตเฮโรอีนโดยวิธีแบ่งบรรจุส่วนฟ้องข้อ1ข.บรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอีนจำนวน23หลอดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้นหาได้หมายความว่าผลิตเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวเพื่อจำหน่ายไม่จึงลงโทษจำเลยในข้อหาผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1857/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 52, 340, 340 ตรี
การกระทำความผิดของจำเลยต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา340วรรคท้าย,340ตรีซึ่งตามมาตรา340ตรีเป็นเรื่องที่จะต้องวางโทษจำเลยหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา340วรรคท้ายกึ่งหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค3เห็นด้วยดับศาลชั้นต้นใช้คำว่าจึงไม่เพิ่มโทษตามมาตรา340ตรีอีกยังไม่ถูกต้องเพราะมาตรา340ตรีเป็นเพียงบทกำหนดโทษไม่ใช่บทเพิ่มโทษแต่เนื่องจากจำเลยต้องได้รับโทษประหารชีวิตตามมาตรา340วรรคท้ายกรณีไม่มีทางที่จะวางโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่งตามที่มาตรา340ตรีบัญญัติไว้จึงนำมาตรา340ตรีมาปรับด้วยไม่ได้จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา340วรรคท้ายเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 171, 368 พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ.2530
ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศเงื่อนไขข้อ9ระบุว่า"ในระหว่างที่ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ศึกษาต่อหรือในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้ากลับเข้าปฏิบัติราชการต่อไปตามที่กล่าวในข้อ5ถ้าข้าพเจ้าประพฤติผิดทางวินัยจนถึงถูกไล่ออกปลดออกหรือให้ออกจากราชการข้าพเจ้ายินยอมชดใช้เงินและเบี้ยปรับให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(โจทก์)เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือลดลงตามส่วนเช่นเดียวกับสัญญาข้อ7"เมื่อโจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ศึกษาต่อให้ออกจากราชการฐานกระทำผิดวินัยระหว่างที่จำเลยปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตามสัญญาข้อ9จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ทุนและเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขในสัญญาข้อ9ดังกล่าวแต่เมื่อจำเลยขอกลับเข้ารับราชการหลังจากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนม์พรรษา60พรรษาพ.ศ.2530ประกาศใช้บังคับโดยจำเลยแสดงความจำนงต่อโจทก์ว่าประสงค์จะขอกลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนต่อเนื่องจากยังชดใช้ทุนไม่ครบตามสัญญาและโจทก์ก็มีคำสั่งรับบรรจุจำเลยที่1กลับเข้ารับราชการดังนี้ถือได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยกลับเข้ารับราชการเพื่อชดใช้ทุนตามสัญญาต่อไปนั่นเองจำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดชำระเงินทุนและเบี้ยปรับแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7903/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนั้น โจทก์ไม่ค้านการขอเลื่อนและแถลงว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานโจทก์อีกต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนคดีไปโดยนัดสืบพยานจำเลยและเสมียนทนายจำเลยได้ลงชื่อรับทราบวันนัดสืบพยานจำเลยไว้แล้วดังนั้นหากเสมียนทนายจำเลยจดเวลานัดผิดพลาดหรือแจ้งเวลานัดสืบพยานจำเลยแก่ทนายจำเลยผิดพลาดก็เป็นความบกพร่องของจำเลยเอง ที่ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดสืบพยานจำเลยที่เลื่อนมาซึ่งจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลจึงถือว่าจำเลยไม่มีพยานที่จะสืบ ให้งดสืบพยานจำเลยและให้รอฟังคำพิพากษาในวันนั้นจึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งโดยชอบ มิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ผิดระเบียบอันจำเลยจะขอให้ยกเลิกเพิกถอนเสียได้ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยจะขอเช่นนั้นก่อนหรือหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7850/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคแรก พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 4 (5), 11, 73 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 4, 14, 31
แม้ตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 4(5) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้นิยามความหมายของคำว่า "ทำไม้" นอกจากจะ หมายความว่า "ตัด""ฟัน" "ทอน" แล้วยังรวมถึง "ชักลาก" ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้อง ว่า จำเลยทำไม้โดยตัดฟันออกจากต้นแล้วทอนเป็นท่อน ๆ โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้ข้อที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยชักลากไม้ออกจากป่า เป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือคำฟ้องจึงรับฟังลงโทษจำเลยฐานทำไม้โดยการชักลากไม้ออกจากป่าไม่ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก