คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3959/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 188

เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ประกาศวันนัดไต่สวนตามระเบียบแล้ว การคัดค้านของผู้คัดค้านเป็นการร้องขอเข้ามาในคดีเดิม แม้จะร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ก็ไม่จำต้องมีคำสั่งให้ประกาศซ้ำอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (11), 264

ผู้ที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา264ต้องเป็นคู่ความในคดีที่ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองนั้นผู้ร้องสอดเพียงแต่ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องสอดเท่ากับไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความแม้ผู้ร้องสอดจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวผู้ร้องสอดก็ไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ตามมาตรา264ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 79 วรรคหนึ่ง, 209 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153

โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 โดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 จำเลยได้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นขอย้ายภูมิลำเนาไปอยู่บ้านเลขที่ 50ถนนเรศ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาเข้าบ้านดังกล่าวแต่อย่างใดจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้วเป็นเวลา 7 วัน จำเลยจึงได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 70/16 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ดังนั้นจึงต้องถือว่าในระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2534ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยเป็นบุคคลที่ไม่ปรากฎภูมิลำเนาซึ่งศาลไม่อาจส่งหมายเรียกและสำเนาคำร้องโดยวิธีธรรมดาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยวิธีประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยย้ายภูมิลำเนาหลายครั้งโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริตเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารใดถ้ามีถึงตนจนต้องขาดนัดพิจารณาจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้พิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 8 ทวิ, 72 ทวิ

เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นและพบอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนของกลางในกระเป๋าเอกสารซึ่งปิดอยู่และวางอยู่ที่เบาะหลังรถยนต์ซึ่งจำเลยเป็นผู้ขับเมื่อปรากฎว่ากระเป๋าเอกสารที่อาวุธปืนของกลางบรรจุอยู่ภายในนั้นโดยสภาพมีกุญแจล็อกถึง2ด้านทั้งวางอยู่ที่เบาะด้านหลังการจะหยิบฉวยอาวุธปืนมาใช้ทันทีทันใดนั้นย่อมเป็นได้ยากทั้งจำเลยมีเจตนาเพียงขนย้ายสิ่งของจึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการพาติดตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3944

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3944/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1401 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86, 104, ตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ.

โจทก์ทั้งสิบซึ่งมีที่ดินและบ้านเรือนอยู่ด้านหลังที่ดินจำเลยและชาวบ้านใกล้เคียงได้ใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นคันดินร่องสวนในที่ดินโฉนดเลขที่3818ของจำเลยเดินออกสู่ถนนสาธารณะมาประมาณ50ปีโดยเจ้าของเดิมไม่ได้ห้ามปรามและเมื่อจำเลยซื้อที่ดินดังกล่าวมาก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ห้ามปรามยังคงให้เดินผ่านตลอดมาแม้จำเลยปลูกสร้างรั้วในที่ดินก็ยังเว้นทางเดินให้อยู่นอกรั้วที่จำเลยก่อสร้างเมื่อโจทก์ทั้งสิบและชาวบ้านเดินเข้าออกในทางพิพาทเกิน10ปีติดต่อกันโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ใดและเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้านในท้องถิ่นที่เอื้อเฟื้อกันกรณีผู้ที่อยู่ในสวนลึกจะต้องอาศัยเดินผ่านสวนของผู้อื่นออกสู่ทางสาธารณะการยินยอมอนุญาตดังกล่าวเป็นการยินยอมอนุญาตโดยทั่วไปที่ไม่หวงห้ามหรือสงวนสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของตนยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนเป็นภารจำยอมที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจจึงมิใช่การอนุญาตด้วยความคุ้นเคยเป็นการเฉพาะตัวหรือเป็นการถือวิสาสะดังนี้โจทก์ทั้งสิบจึงได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจว่าการเดินเผชิญสืบในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นการเพียงพอที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาได้การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดเดินเผชิญสืบจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามตาราง6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดอัตราค่าทนายความในคดีไม่มีทุนทรัพย์ขั้นสูงในศาลชั้นต้นไว้3,000บาทคดีนี้แม้มีโจทก์10คนแต่ฟ้องรวมเป็นคดีเดียวโจทก์ทั้งสิบจึงมีสิทธิได้ค่าทนายความอย่างสูงเพียง3,000บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3943

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3943/2540

พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ม. 30

พระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติให้โอกาสบุคคลที่อ้างว่าเป็นจ้างของทรัพย์สินยื่นคำร้องเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้สั่งริบทรัพย์สิน แต่บุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจะต้องยื่นคำร้องเข้าก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งริบทรัพย์สิน พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบรถยนต์ของกลางอันเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งคืนทรัพย์ของกลางดังกล่าว แม้ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ ผู้ร้องได้ขอถอนคำร้องคัดค้านขอคืนรถยนต์กระบะของกลางและศาลชั้นต้นอนุญาต ส่วนโจทก์แถลงว่า คดีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาอาจจะมีผู้คัดค้านเข้ามาได้ใหม่อีกจึงขอให้งดการไต่สวนไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิพากษาคดีแล้วศาลชั้นต้นอนุญาต และสั่งให้โจทก์แถลงเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วเพื่อยกคดีขึ้นไต่สวนต่อไป ต่อมาโจทก์แถลงว่าศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอริบทรัพย์ของโจทก์ต่อไป ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาอีก ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องรับคำร้องของผู้ร้องและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นจะสั่งยกคำร้องด้วยเหตุว่าคำร้องคัดค้านที่ผู้ร้องยื่นไว้แล้วและขอถอนไปนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว ทำให้กลับสู่ฐานะเดิม เสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องคัดค้านไว้เลย เมื่อผู้ร้องนำคำร้องคัดค้านมายื่นใหม่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามแล้วย่อมล่วงพ้นเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30 วรรคสอง หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195, 225 พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ม. 4

ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม เพราะจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรมโดยมิได้อนุญาตขายยาแผนปัจจุบันโดยมิได้รับอนุญาตเมื่อปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาส ที่พระบาทสทเด็จพระปรมินทรมหา-ภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539มาตรา 4 ล้างมลทินให้แก่จำเลยซึ่งกระทำผิดก่อนวันที่9 มิถุนายน 2539 และจำเลยได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้แม้จำเลยมิได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3941

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3941/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 205, 387

สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ระบุว่า "ผู้เช่าซื้อฝ่าฝืน หรือหรือผิดสัญญานี้ข้อหนึ่งข้อใดถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาผู้เช่าซื้อยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อริบเงินค่าเช่าซื้อที่ส่ง มาแล้วทั้งหมดได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวให้ทราบแต่ประการใดทั้งสิ้น และถือว่าสัญญาเช่าซื้อฉบับนี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลงทันที" แต่ตามที่ปฎิบัติต่อกันจำเลยทั้งสองมิได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 ของเดือน และหลายงวดชำระครั้งหนึ่งก็มี ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้มี เจตนาที่จะถือเอากำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญ ดังนั้นในงวดต่อมา แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามที่กำหนดไว้ในสัญญา สัญญาเช่าซื้อก็ยังไม่ระงับสิ้นสุดลงทันที โจทก์จะต้องกำหนด ระยะเวลาพอสมควรบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อ ที่ค้างอยู่ก่อน โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 การที่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เนื่องจากปรากฎว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งสองเช่าซื้อ จำเลยทั้งสองอาจไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้นแม้ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระเงินโดยครบถ้วน ทั้งเจ้าของที่ดินพิพาทก็ประกาศให้จำเลยทั้งสองทราบด้วยว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งสองอาจถูกฟ้องขับไล่เมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทกลับคืนมา จำเลยทั้งสองเตรียมเงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง 49,000บาท ไปชำระให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับโดยจะขอคิดดอกเบี้ยและค่าบริการเพิ่มอีกรวมแล้วเป็นเงินประมาณ130,000 บาท นั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีการชำระหนี้ยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยทั้งสองผู้เป็น ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 205 จำเลยทั้งสองจึงมิได้ผิดนัดและสัญญาเช่าซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3940

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3940/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1399

จำเลยได้ปลูกบ้านและทำประตูรั้วปิดกั้นทางพิพาทมานานประมาณ20ปีแล้วหลังจากนั้นโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยตลอดมาถึงแม้โจทก์จะเคยได้ภารจำยอมเหนือทางพิพาทมาก่อนหน้านั้นแล้วแต่ต่อมาโจทก์ยอมรับสิทธิเหนือทางพิพาทของจำเลยฐานะของโจทก์ย่อมเปลี่ยนไปเป็นการใช้ทางพิพาทโดยความยินยอมของจำเลยเป็นเวลานานถึง20ปีย่อมถือได้ว่าภารจำยอมระงับสิ้นไปเพราะการไม่ใช่ภารจำยอมเป็นเวลาเกินกว่า10ปีแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1399ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยจึงไม่เป็นทางภารจำยอมอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3938

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3938/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420

การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางก็เพราะมีมูลเหตุเกิดจากพฤติการณ์ที่ ว. หลอกลวงซื้อรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์แล้วไปขายต่อให้บุคคลภายนอกโดยไม่นำเงินค่ารถไปชำระแก่โจทก์ ซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยว่ารถยนต์พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือ ว. การร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ ว. ถือได้ว่าเป็นสิทธิของโจทก์ในฐานะประชาชนที่จะกระทำได้โดยชอบธรรมไม่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้มีการทำละเมิดกฎหมายอันจะเกิดแก่โจทก์ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจไปยึดรถยนต์พิพาทมาเป็นของกลาง แม้จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแต่ก็เป็นดุลพินิจและอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินคดีแก่ ว. ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายให้อำนาจไว้พฤติการณ์แห่งคดียังไม่ถึงขนาดที่จะรับฟังได้ว่าโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อ หรือมีเจตนาจงใจกลั่นแกล้งโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยฝ่ายเดียว การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย

« »
ติดต่อเราทาง LINE