คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 531 (2), 535 (3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94, 197, 249
โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยผู้เป็นบุตรเพื่อ นำไปทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น เป็นการให้ทรัพย์สินแก่บุตรโดยเสน่หามิใช่เป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 535(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามธรรมจรรยาที่จะต้องกระทำเช่นนั้น ทั้งในการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยก็ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหนังสือสัญญาให้ที่ดินว่าเป็นการให้ไม่มีค่าตอบแทน เพราะผู้รับให้เป็นบุตร จำเลยผู้รับให้จะอ้างว่าที่ระบุการให้เช่นนั้น เป็นแต่เพียงกระทำขึ้นตามระเบียบปฎิบัติของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทยมิได้กระทำตามเจตนาแห่งการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหาได้ไม่จึงต้องฟังว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นการให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา จำเลยด่าโจทก์ผู้ให้ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยด้วยถ้อยคำว่า"ไอ้เปรต"ไอ้เฒ่าบ้าแก่จะเข้าโลงยังหลงบ้าสมบัติแถมบ้าเมียไม่สมแก่ไอ้หัวล้าน"และด้วยถ้อยคำว่า"ไอ้เปรตไอ้เฒ่าไอ้หัวดอ ตายกับหีอีคลี่" ต่อหน้าบุคคลอื่น การที่จำเลยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำเช่นนั้นผู้ได้ยินฟังย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติบ้าผู้หญิง ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่คำหยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้นหากแต่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ผู้ให้อย่างร้ายแรง อันถือได้ว่าเป็นการประพฤติเนรคุณ โจทก์ย่อมจะเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2) แม้สารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดิน จะระบุว่า อ.ขายให้แก่จำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าโจทก์ผู้เป็นบิดาเป็นผู้ชำระราคาที่ดิน โดยให้จำเลยบุตรของโจทก์ของโจทก์เป็นผู้รับโอนในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากโจทก์ประสงค์จะยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย เพราะเป็นการนำสืบถึงเหตุแห่งความจริงเกี่ยวกับเจตนาของโจทก์ผู้ให้และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับการยกให้ การจดทะเบียนก็ยังคงเป็นการจดทะเบียนขายที่ดินของ อ. ให้โจทก์ เพียงแต่ระบุชื่อผู้ซื้อเป็นจำเลยซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์ประสงค์จะยกที่ดินนั้นให้เท่านั้น หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่จำเลยสาบานตนให้การเป็นพยาน ปัญหาว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาท ร.มารดาจำเลยเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนที่ดินส่วนของนางรุ่นชอบหรือไม่นั้น เมื่อประเด็นดังกล่าวจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 829/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218
ศาลอุทธรณ์ภาค3เพียงแต่ลดโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสามลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค3พิพากษาแก้ไขเพียงเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยเกิน5ปีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงการที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาขอไม่ให้ลดโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค3ถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1387
เมื่อจำเลยซื้อที่ดินมาแล้วก็ได้สร้างกำแพงกั้นตลอดแนวระหว่างที่ดินของโจทก์จำเลย คงเว้นเป็นช่องกว้าง 3.85 เมตรเพื่อให้โจทก์ใช้ผ่านเข้าออกแต่ได้สร้างประตูเหล็กบานเลื่อนกั้นไว้ในที่ดินของจำเลย มีสายยูคล้องกุญแจและสามารถใส่กุญแจได้เมื่อไม่ประสงค์ให้โจทก์ใช้ แสดงถึงการหวงกันมิให้โจทก์หรือบุคคลอื่นใช้ทางพิพาทโดยพลการ จึงถือได้ว่า โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิและการอนุญาตให้ใช้จากฝ่ายจำเลยดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะใช้ทางพิพาทมานานเท่าใดก็ไม่ทำให้ทางพิพาทตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3883/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 490 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172
จำเลยทั้งสองอ้างว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองสั่งซื้อสินค้าอะไร เมื่อไร จำนวนเท่าใดจำเลยทั้งสองได้รับสินค้าจากโจทก์แล้วหรือไม่นั้น เมื่อปรากฎว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า ตั้งแต่ต้นปี 2536 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2536 จำเลยทั้งสองซื้อกระดาษหลายประเภทจากโจทก์ หลายครั้งรวมเป็นเงิน 173,868.50 บาท จำเลยทั้งสองได้รับ กระดาษดังกล่าวแล้ว ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์บรรยายข้อความที่ จำเลยทั้งสองอ้างข้างต้นว่าไม่มี ไว้ครบถ้วนแล้ว และที่จำเลย ทั้งสองอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าการชำระเงินต้องชำระ กันอย่างไร จำเลยทั้งสองผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยเมื่อไร จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุช่วงเวลาที่จำเลยทั้งสองซื้อสินค้าจากโจทก์และรับสินค้าดังกล่าวตั้งแต่ต้นปี 2536 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2536แม้จะไม่ได้ระบุวันถึงกำหนดใช้ราคา แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 490 บัญญัติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเวลากำหนดใช้ราคาเดียวกันกับเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้น จึงเข้าใจได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่รับสินค้าและไม่ใช้ราคาแล้ว และแม้โจทก์จะมิได้ระบุวันเดือนปีที่โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ย แต่โจทก์ระบุว่าโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเพียง 5 เดือน โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2537 หากนับแต่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2536 อันเป็นวันที่โจทก์ระบุว่าจำเลยทั้งสองซื้อกระดาษจากโจทก์เป็นครั้งสุดท้ายถึงวันฟ้องจะเป็นเวลา 6 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 เดือนเท่านั้น เมื่อเริ่มนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป 5 เดือน ก็จะสามารถคำนวณเงินค่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องได้ จึงไม่จำเป็นต้องระบุวันเดือนปีที่โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยอีกฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 2, 3 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 42, 66 ทวิ, 69 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ม. 23
แม้การก่อสร้างดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ขออนุญาตในระหว่างวันที่21กุมภาพันธ์2535ถึงวันที่15มีนาคม2535ซึ่งอยู่ในระหว่างใช้กฎหมายเก่าก็ตามแต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535มาตรา23ใช้บังคับตั้งแต่วันที่6มิถุนายน2535แก้ไขให้มีบทลงโทษตามมาตรา66ทวิและจำเลยได้ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารก่อสร้างผิดแบบที่ขออนุญาตภายในกำหนด30วันหลังจากที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535ใช้บังคับแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา42,66ทวิและมาตรา69พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535มาตรา23หาใช่เป็นเรื่องการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3881/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208 วรรคสอง
คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไม่ได้อ้างเหตุว่าคำพิพากษาของศาลไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนตรงไหนส่วนใดอันจะเป็นการค้าค้านคำพิพากษาของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตรา208วรรคสองการที่จำเลยบรรยายมาในคำร้องว่าผู้แทนโจทก์เบิกความไม่ตรงต่อความเป็นจริงและผู้แทนโจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาไปเช่นนั้นดังนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลหากเป็นเรื่องที่จำเลยโต้แย้งคำเบิกความของพยานโจทก์หรือการกระทำของโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยดังกล่าวมานั้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3879/2540
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
การออกเช็คที่มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นั้นจะต้องปรากฏว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอยู่ และเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย และผู้ออกเช็คได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวโดยมีลักษณะหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามอนุมาตราใดอนุมาตราหนึ่งของมาตรา 4 นั้น และผู้ทรงเช็คได้ยื่นเช็คต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมายและธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น คดีนี้โจทก์ร่วมกล่าวหาว่าพี่สาวจำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วม จำเลยต้องการชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมแทนพี่สาวจำเลยจึงทำเป็นสัญญากู้เงินโจทก์ร่วมเท่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมกล่าวหาว่าพี่สาวจำเลยยักยอกไป และออกเช็คมอบแก่โจทก์ร่วมเพื่อใช้หนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว แต่เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาว่าพี่สาวจำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วม จึงไม่อาจฟังว่าพี่สาวจำเลยเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการอันทำให้ต้องใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วม เป็นเหตุให้ยังไม่มีหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ร่วมแทนพี่สาวจำเลยด้วยการทำสัญญากู้เงินของโจทก์ร่วม การที่จำเลยออกเช็คในคดีนี้มอบแก่โจทก์ร่วมตามสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงไม่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3862/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 ม. 17, 69
โจทก์กับเจ้าพนักงานตำรวจผู้รู้เห็นเหตุการณ์ร่วมกับสายลับย่อมเป็นพยานโดยตรงอยู่แล้ว หาจำต้องนำสายลับมาเป็นพยานอีกไม่ เพราะโดยลักษณะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษย่อมจะต้องใช้สายลับเป็นผู้ล่อซื้อ จึงมีความจำเป็นต้องปกปิดตัวสายลับเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งเพื่อประโยชน์ด้านการปฏิบัติงานครั้งต่อ ๆ ไปด้วยการไม่นำสายลับมาเป็นพยานหาทำให้พยานหลักฐานของโจทก์น้ำหนักลดน้อยลงไม่
การที่สายลับเข้าทำการล่อซื้อฝิ่นจากจำเลยทั้งสอง ยังไม่มีการชำระเงินและส่งมอบฝิ่นของกลางให้แก่กัน แต่จำเลยทั้งสองถูกจับพร้อมด้วยฝิ่นของกลางเสียก่อนดังนั้นการซื้อขายยังไม่เสร็จบริบูรณ์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพยายามจำหน่ายฝิ่นโดยผิดกฎหมายเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 37, 41 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 74, 76, 79, 276, 296
ในการทำสัญญาจำนองที่ดินแก่โจทก์จำเลยที่4แจ้งที่อยู่ลงในสัญญาจำนองว่าอยู่บ้านเลขที่483/2-3ถนนศรีอยุธยาแขวงถนนพญาไทเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครและโจทก์ก็บรรยายไว้ในคำฟ้องว่าจำเลยที่4มีที่อยู่ดังกล่าวโดยโจทก์ได้ยื่นสำเนาทะเบียนบ้านที่คัดรับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นก่อนวันยื่นฟ้อง3วันก็ปรากฎว่าจำเลยที่4มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวพร้อมบุตรผู้เยาว์2คนอายุ2ปีและ4ปีการที่จำเลยที่4ย้ายไปที่อยู่ใหม่ภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีโดยจำเลยที่4มิได้แจ้งที่อยู่ใหม่ให้โจทก์และศาลชั้นต้นทราบทั้งไม่มีชื่อบุตรผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ด้วยและภูมิลำเนาของจำเลยที่4ตามหลักฐานที่ปรากฎในขณะส่งคำบังคับคือบ้านเลขที่483/2-3ถนนผศรีอยุธยาแขวงถนนพญาไทเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครดังนั้นการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่4ตามภูมิลำเนาดังกล่าวจึงชอบแล้ว แม้ในขณะปิดคำบังคับตามคำสั่งศาลจำเลยที่4จำได้ย้ายไปอยู่ที่อยู่ใหม่แล้วคือบ้านเลขที่45/323หมู่ที่5ถนนสุขาภิบาล1แขวงคลองกุ่มเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานครแต่เมื่อถือว่าจำเลยที่4ได้รับคำบังคับโดยชอบแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหมายบังคับคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3860/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 67 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 106 ทวิ
ขณะจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท2คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์1.507กรัมเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518มาตรา6(7ทวิ)ต้องรับโทษตามมาตรา106ทวิระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทต่อมาเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท1ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522เท่านั้นจึงมีผลให้การมีเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง1.507กรัมไม่ถึง20กรัมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522มาตรา67ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518อีกต่อไปเมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522มาตรา67ระวางโทษเบากว่าระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518มาตรา106ทวิซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำความผิดจึงเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522มาตรา67ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา3