คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 59, 21, 127, 142, 180, 181, 183 พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524
โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยเช่าที่ดินพิพาททำนาจำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ว่าเช่าที่พิพาททำนาคดีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524ก่อนฟ้อง โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์เดิมมารดาโจทก์ให้ส.เช่าทำนาต่อมาส. เลิกทำนาและย้ายครอบครัวออกไปแต่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นพี่น้องของส. ยังคงปลูกบ้านอยู่บนที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิใดๆขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อบ้านแต่ละหลังออกไปเป็นการอ้างว่าจำเลยทั้งสามเข้าไปอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิส.และจำเลยทั้งสามก็ให้การว่าที่พิพาทเป็นของมารดาจำเลยทั้งสามจำเลยทั้งสามครอบครองที่พิพาทตลอดมาจำเลยทั้งสามจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา59 โจทก์บรรยายฟ้องว่าส. เช่าที่พิพาทโฉนดเลขที่7และ11จากมารดาโจทก์ต่อมารดาโจทก์ถึงแก่กรรมโจทก์และพี่น้องจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์มาแล้วต่อมาส. ได้เลิกทำนาและย้ายครอบครัวออกไปแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ออกขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนบ้านออกไปตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาจะขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่7และ11ตั้งแต่ต้นเหตุที่โจทก์ไม่ได้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่11ด้วยก็เพราะพิมพ์ข้อความตกไปฉะนั้นการที่โจทก์ขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องโดยขอเพิ่มเติมที่ดินโฉนดเลขที่11จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยไม่อยู่ในบังคับทีจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา180วรรคสองและอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ต้องให้จำเลยทั้งสามมีโอกาสคัดค้านตามมาตรา21(2)และไม่ต้องส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทั้งสามทราบล่วงหน้าอย่างน้อย3วันก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องตามมาตรา181(1) คดีมีประเด็นโต้เถียงกันแต่เพียงว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใดเท่านั้นไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142และมาตรา183ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องได้ โฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องเป็นหน้าที่ของจำเลยต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา127
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 334
ผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยที่1ดูแลการปรับที่ดินแทนแม้ผู้เสียหายสัญญาว่าเมื่อปรับพื้นที่เรียกร้อยแล้วจะยอมให้จำเลยที่1ทำประโยชน์ในที่ดินเป็นเวลา3ปีก็ตามแต่ระหว่างปรับที่ดินของผู้เสียหายจำเลยที่1ย่อมอยู่ในฐานะผู้ดูแลการปรับพื้นที่แทนผู้เสียหายเท่านั้นหาใช่ผู้เสียหายมอบการครอบครองที่ดินที่จะปรับให้จำเลยที่1ครอบครองไม่เมื่อฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยที่1ขุดบ่อหรือสระโดยยกดินที่ขุดได้ให้ผู้ขุดเป็นการตอบแทนการที่จำเลยที่1จัดการให้จำเลยที่2ขุดเอาดินในที่ดินของผู้เสียหายไปจึงเป็นการเอาทรัพย์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หาใช่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811 - 812/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1349, 1350
แม้เดิมผู้อยู่ในที่ดินแปลงที่โจทก์รับโอนมาจะมีสิทธิใช้ทางในที่ดินของจำเลยในฐานะทางจำเป็นก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์ผู้รับโอนที่ดินจะได้สิทธิในทางเดินนั้นมาด้วยอย่างภารจำยอมเพราะทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วยทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่ตามความจำเป็นเมื่อโจทก์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางนั้นเพราะโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งโจทก์สามารถใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นไม่ว่าจะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1349หรือมาตรา1350
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7620/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86
แม้จำเลยทั้งสองจะนำสืบให้เห็นได้ว่าโจทก์ยังเป็นหนี้กู้ยืมจำเลยทั้งสองจำนวน 50,000 บาทจริง แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก กำหนดว่าการกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ดังนั้นหนี้เงินกู้ 50,000 บาท ดังกล่าว จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยทั้งสองอาศัยเป็นมูลเหตุให้ยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทไว้ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทต่อไป จำเลยทั้งสองจะมีสิทธินำสืบถึงหนี้ จำนวนดังกล่าวหรือไม่ ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7601/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 288, 376 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นเบอร์ 12 ยิงผู้เสียหายในระยะห่างเพียง 15 เมตร หากจำเลยมีเจตนาฆ่ากระสุนปืนที่จำเลยยิงก็น่าจะถูกผู้เสียหายหรือ ร. บ้างแต่ลูกกระสุนปืนก็หาได้ถูกผู้หนึ่งผู้ใดไม่ ไม่ปรากฏว่าวิถีกระสุนปืนไปในทิศทางที่ใกล้กับผู้เสียหายหรือไม่อย่างไรหลังจากที่ผู้เสียหายเดินไปเพื่อแจ้งให้บิดาทราบก็พบจำเลยยกปืนวิ่งมาทางผู้เสียหายห่าง 20 เมตร แต่จำเลยก็หาได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายไม่ทั้งที่มีโอกาสจะกระทำเช่นนั้นได้ประกอบกับหลังจากที่ ส. ได้ยินเสียงปืนหันมาดูตะโกนบอกจำเลยว่า ทำอย่างนี้ทำไมให้รีบไป และ ส. กลับไปทำอาหารต่อ แสดงว่า ส. ก็มิได้ให้ความสนใจต่อการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ผู้เสียหายกับจำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันและเคยเรียนโรงเรียนเดียวกัน ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า หลังเกิดเหตุจำเลยก็มิได้หลบหนีคงอยู่ที่บ้านมารดาจำเลยในหมู่บ้านเดียวกันกับผู้เสียหาย ต่อมาได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและผู้เสียหายก็มิได้ไปแจ้งความในวันเกิดเหตุทั้งที่สถานีตำรวจอยู่ห่างเพียง 20 กิโลเมตร และบิดาผู้เสียหายเป็นผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่เกิดเหตุก็มิได้ไปสอบถามจำเลย ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะทำร้ายหรือฆ่าผู้เสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงในหมู่บ้าน จำเลยจึงมีความผิดฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในหมู่บ้านตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3819/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 8, 172 เดิม, 882 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 58
ผู้รับประกันภัยที่ถูกผู้เอาประกันภัยยื่นคำร้องขอให้เรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องผู้เอาประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ถูกคนร้ายลักไป มีสิทธิยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก ขึ้นต่อสู้ได้
ภายหลังจากที่รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อได้ติดต่อให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การที่จำเลยร่วมมิได้ปฏิเสธความรับผิด แต่ให้นำบันทึกประจำวันจากพนักงานสอบสวนไปประกอบด้วยนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องอันเป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคแรก
ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจอดไว้บริเวณซอยลาดพร้าว 84อันเป็นสถานที่ซึ่งคนทั่วไปรวมทั้งคนร้ายสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก ส. ควรคาดหมายได้ว่าอาจมีคนร้ายเข้าไปลักรถยนต์ไปได้โดยง่าย จึงอาจป้องกันมิให้คนร้ายลักรถยนต์ได้โดยระมัดระวังให้มากกว่าที่กระทำดังกล่าว การที่ ส. เพียงแต่ล็อกคลัตซ์และกุญแจประตูรถ ยังไม่พอที่จะถือว่าได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เมื่อรถยนต์ถูกคนร้ายลักไปจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จะทำให้ผู้เช่าซื้อพ้นความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (6), 120, 123 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ม. 46, 47 (2), 72 (4), 76 (1), 79, 122, 123 พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2522 ม. 3
ในการผลิตยาแผนโบราณตาม พระราชบัญญัติยานั้นนอกจากผู้ผลิตจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งแล้ว ยังต้องปรากฏว่ายาแผนโบราณที่จะผลิตนั้นต้องเป็นยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้วตามมาตรา 72(4) หรือผู้ผลิตได้นำตำรับยานั้นมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแล้วตามมาตรา 79 จึงจะผลิตยานั้นได้ หากเป็นการปรุงยาตามตำราที่รัฐมนตรีประกาศตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 76(1) โดยผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ และเป็นการทำเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตนตามมาตรา 47(2) แล้ว จึงจะสามารถผลิตยานั้นได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 1ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตยาแผนโบราณตามใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรมส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรม และเภสัชกรรม การที่จำเลยทั้งสองได้ดำเนินการผลิตยาแผนโบราณเป็นยาเม็ดลูกกลอนของกลาง จำนวน 2 ถุง ซึ่งมีผู้อื่นมาว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองผลิต และยาของกลางมีส่วนผสมของมหาหิงคุ์ซึ่งถือว่าเป็นยาแผนโบราณ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งจำเลยมิได้ผลิตเพื่อรักษาคนไข้ของตนเอง การที่จำเลยทั้งสองมิได้ผลิตยาของกลางเพื่อขายเฉพาะสำหรับคนไข้ของตน แม้จำเลยทั้งสอง จะได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ กรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510มาตรา 47(2) และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและไม่นำตำรับยาไปขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงไม่ได้ใบรับอนุญาตจากผู้อนุญาตให้ผลิตยาแผนโบราณได้ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาฯมาตรา 72(4),79,122,123 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม แม้ขณะ ป.ลงชื่อในคำร้องทุกข์ ขณะนั้นรายละเอียดต่าง ๆยังไม่ได้กรอกข้อความลงไป และ ป.ไม่ทราบว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานใดก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่า ป.เป็นผู้ได้ตรวจค้นพบยาของกลางและได้บันทึกการยึดยาไว้ เมื่อผลการตรวจพิสูจน์พบว่าของกลางเป็นเนื้อที่เยื่อของพืชและมหาหิงคุ์ซึ่งเป็นยาแผนโบราณ ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ ป.ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี ดังนั้น เมื่อป.ได้รับมอบหมายให้ไปร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการจะสอบสวนจำเลยในความผิดฐานใดนั้นย่อมเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการต่อไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสอบสวน ดังนั้นการสอบสวนจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1349, 1350
ทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับ ที่ดิน แต่ทางจำเป็นเกิดขึ้นและมีอยู่ตามความจำเป็นเมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางแล้ว ก็ขอ เปิดทางจำเป็นไม่ได้ โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 32684 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 12194 ของโจทก์โดยโจทก์สามารถเดินออกสู่ถนนสาธารณะผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 12194 ได้ แม้เดิมผู้อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 32684 ที่โจทก์รับโอนมาจะมีสิทธิใช้ทางในที่ดินโฉนดเลขที่ 32688 ของจำเลยในฐานะทางจำเป็นก็ตามแต่เมื่อโจทก์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางนั้น เพราะโจทก์สามารถใช้ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 12194 ออกสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขอเปิดทางพิพาทผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 32688เป็นทางจำเป็นไม่ว่าจะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 หรือมาตรา 1350
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 427 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้สวนยางพาราของโจทก์เสียหาย โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการที่เพลิงไหม้สวนยางพาราซึ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาททำให้สวนยางพาราของโจทก์เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1เป็นบุคคลนอกคดีส่วนอาญา ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนแพ่งต่อไป
จำเลยที่ 1 พาคนไปถางป่าในสวนแล้วจุดไฟเผาและขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยดูแลไฟอย่าให้ลุกลาม จำเลยที่ 2 ได้ขอให้จำเลยที่ 3 ไปช่วยระวังไฟด้วย ถือไว้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการช่วยดูแลระมัดระวังมิให้เพลิงลุกลามไปยังที่อื่น แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เพลิงลุกลามเข้าไปไหม้สวนยางพาราของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในผลแห่งละเมิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420,427
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 157
จำเลยเป็นหัวหน้างานทะเบียนราษฎร สำนักปลัดเทศบาลเทศบาลเมือง มีหน้าที่สอบสวนให้ได้ความจริงกรณีมีประชาชนมาขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ในกรณีบัตรสูญหาย เพื่อตรวจสอบ ให้ได้ความจริงว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ แต่จำเลย กลับสอบสวน ร. ผู้มาขอบัตรใหม่เพียงคนเดียว แล้วฟังว่าร. กับ จ. เป็นคนเดียวกัน ซึ่งไม่เป็นความจริง ทั้งนี้โดยจำเลยได้ทราบมาก่อนจาก ส. พยานโจทก์แล้วว่าร. กับ จ. เป็นคนละคนกัน เมื่อจำเลยสอบสวนแล้วก็ได้อนุมัติออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ ร. ในนาม จ.โดยปราศจากอำนาจ และจำเลยมิได้นำเสนอหัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลหรือปลัดเทศบาลหรือรองปลัดเทศบาลผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติออกบัตรประจำตัวประชาชนตามระเบียบของทางราชการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ จ. สำนักปลัดเทศบาล เทศบาลเมืองและกรมการปกครอง จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157