คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321, 728, 800, 801, 856, 859 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, ตาราง 6
ในส่วนการบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้เงินกู้ หนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ค้ำประกัน และให้ไถ่ถอนการจำนองไว้ท้ายคำฟ้องด้วย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง นอกจากนี้แล้วคำขอบังคับท้ายคำฟ้องโจทก์ก็ระบุไว้ชัดเจน ทั้งจำเลยทั้งห้าก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้องโดย มิได้หลงข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ธ.กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องประทับตราของโจทก์การที่ ธ.กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ป.ดำเนินคดีนี้แทน รวมทั้งให้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ด้วย หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือมอบอำนาจเป็นการทั่วไป ซึ่ง ป.สามารถใช้ในการดำเนินคดีแก่บุคคลใดก็ได้เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่าง บุคคลนั้น ๆ กับโจทก์เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายไว้โดยโจทก์ไม่จำต้องระบุให้ ป. มีอำนาจฟ้องจำเลยคนใดโดยเฉพาะเจาะจง ดังนี้ ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์โดยวิธีหักทอนบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้ ซึ่งโจทก์จะออกหลักฐานใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ทุกครั้งและจะมีใบแจ้งการหักทอนบัญชีให้จำเลยที่ 1 ทราบ รวมข้อตกลงเมื่อได้มีการหักเงินจากบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้โดยวิธีดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ทราบแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมโดยปริยายให้มีการกระทำดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์หักทอนบัญชีไปดังกล่าว สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้การที่โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวถามให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วแต่ละเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ อันเป็นผลให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 มิได้บัญญัติ ไว้ว่าระยะเวลามากน้อยเพียงใดเป็นเวลาอันสมควร จึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยโดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน แม้จำนวนหนี้ที่โจทก์เรียกร้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระมีจำนวนมากถึง 9,799,838.75 บาท ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เพียงพอในอันที่จำเลยที่ 1 จะขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาอันสมควรการบอกกล่าวบังคับจำนองจึงชอบแล้ว คดีนี้นอกจากโจทก์อุทธรณ์ในทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์72,059.57 บาท แล้ว จำเลยก็ได้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ซึ่งคิดเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เกินกว่า5,549,409.85 บาท อีกด้วย การกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จึงต้องถือตามทุนทรัพย์ทางฝ่ายจำเลย และแม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ผลคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็ยังคงแพ้คดีอยู่ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จึงอาจกำหนดค่าทนายความใช้แทนได้สูงกว่า10,000 บาท ได้ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งห้าใช้แทนโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท จึงถูกต้องตามตาราง 6อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7624/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 587, 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88, 224
หนี้ตามสัญญายืมที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องและหนี้ตามสัญญาจ้าง ที่โจทก์ฟ้อง ต่างเป็นหนี้คนละรายกัน และมูลความแห่งคดี ของหนี้ทั้งสองรายสามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้นทุนทรัพย์ในคดี จึงต้องแยกตามสัญญายืมและสัญญาจ้างเป็นคนละส่วนกัน จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม พร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลชั้นต้นขณะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535ใช้บังคับการที่จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวหลังจากที่การชี้สองสถานเสร็จไปแล้ว จึงเป็นการยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ได้สิ้นสุดลง แต่เมื่อตามคำฟ้องและสำเนาสัญญาจ้างกับสำเนารายการเบิกเงินงวดงานเอกสารท้ายฟ้องก็ได้ความชัดว่าโจทก์รับจ้างก่อสร้างซึ่งไม่รวมถึงงานติดตั้งระบบประปา และระบบสุขาภิบาลทั้งจำเลยก็ยอมรับในฎีกาว่าโจทก์และจำเลยทำสัญญาติดตั้งระบบประปาและระบบสุขาภิบาลภายหลังที่ทำสัญญาจ้างฉบับที่พิพาทกันแล้ว ดังนั้นจำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่ามีสัญญาดังกล่าวมาแต่แรกและจำเลยสามารถยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้ตามที่มาตรา 88 วรรคหนึ่งกำหนดเวลาไว้ ดังนี้ คำร้องดังกล่าวของจำเลยจึงยื่นฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคท้ายศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7622/2540
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 3, 58 วรรคหนึ่ง, 59 (1)
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3บัญญัติคำนิยามคำว่า "ภาชนะขนส่ง" หมายความว่า ตู้สินค้าไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และคำว่า"หน่วยการขนส่ง" หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น สินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกและมีเชือกรัดปากถุงไว้ และบรรจุอยู่ในถังกระดาษไฟเบอร์มีฝาเหล็กปิดโดยรอบแล้วใช้นอตขันห่วงให้ยึดไว้ แต่ละถังบรรจุของหนัก 25 กิโลกรัม รวม 375 ถัง บรรจุรวมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียว และตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.2 หรือล.2 ในช่อง "คำพรรณนาสินค้า" ระบุว่า ตู้คอนเทนเนอร์ 1x20 ฟุตบรรจุอาหารสัตว์ 375 ถัง ฯลฯ จึงเป็นการแสดงว่าแต่ละถังที่บรรจุสินค้าคือยารักษาไก่ มีสภาพสามารถทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่า แต่ละถังที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็น"หนึ่งหน่วยขนส่ง" ตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทดังกล่าวถือเป็นภาชนะขนส่ง การคำนวณค่าเสียหาย ที่จำเลยจะต้องรับผิดจึงต้องคำนวณตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 58 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 59(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้หน่วยการขนส่งของสินค้าพิพาทเป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณจะมากกว่าจำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้น้ำหนักแห่งสินค้าพิพาทเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายในจำนวนเงินที่มากกว่าตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 59(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7627/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 25, 26 พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศ เขตพระโขนง และแขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน-ลาดกระบัง พ.ศ. 2532 ม. 4
จำเลยที่ 1 เป็นกระทรวง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และนโยบายของรัฐ ส่วนจำเลยที่ 2เป็นกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีอธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนในนามของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองมีอำนาจหน้าที่จัดให้มีหรือสร้างทางหลวง ตลอดจนการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงทางหลวง การดำเนินการสำรวจเพื่อเวนคืนที่ดินตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน - หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 ก็เพื่อให้ได้ที่ดินมาสร้างทางหลวง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสองตามนโยบายของรัฐ เมื่อเวนคืนแล้วพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน - ลาดกระบัง พ.ศ. 2532 มาตรา 4 ให้อสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตกเป็นของจำเลยที่ 2 เงินค่าทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินงบประมาณของจำเลยทั้งสองซึ่งได้รับจากรัฐ เหตุที่กฎหมายกำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนก็เพราะจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลไม่อาจแสดงเจตนาและกระทำการเองได้ จำเป็นต้องแสดงเจตนาและกระทำโดยอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 การกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์ จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการของจำเลยทั้งสองนั่นเอง ส่วนที่ต้องมีคณะกรรมการทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนค่าทดแทนของอสังหาริมทรัพย์ และคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ค่าทดแทนนั้น เป็นเพียงกลไกของกฎหมายเพื่อกลั่นกรองงานเสนอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนและรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาหรือพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้การดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนถือว่าเป็นการกระทำในทางปกครองอย่างหนึ่ง และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ก็มีบทบัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา หรือพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้วแต่กรณี และฟ้องคดีต่อศาลได้ ดังนี้ หาใช่คดีมีข้อพิพาทในทางแพ่งสามัญทั่ว ๆ ไปที่ต้องคำนึงถึงการโต้แย้งสิทธิไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนการเวนคืนให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่ง แต่โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนนั้นและไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีโดยเห็นว่ายังไม่เป็นธรรม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้แม้พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้ฟ้องผู้ใดก็ย่อมหมายถึงบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเวนคืนซึ่งก็คือจำเลยทั้งสองนั่นเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850, 1574 (12) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 30 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 247
ในการเจรจาเรื่องค่าเสียหายซึ่งจำเลยที่ 2 เจรจาแทนฝ่ายผู้ต้องหา มีการตกลงใช้ค่าเสียหายแก่ญาติของผู้ตายเป็นเงิน 150,000 บาท หลังจากนั้นมีการจ่ายเงิน 100,000 บาท ที่บริษัทจำเลยที่ 1 บ.มารดาผู้ตาย และ จ.บิดาผู้ตายได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายที่บริษัทจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000 บาทที่โจทก์ที่ 1 และ บ.แถลงในรายงานกระบวนพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้น ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ โจทก์ที่ 1 เป็นโจทก์ร่วม และจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยว่าร่วมกันได้รับชดใช้เงินจากจำเลยที่ 3 อีก 60,000 บาท ไม่ติดใจดำเนินคดีจำเลยที่ 3 ต่อไป ถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 3แล้ว แต่สำหรับโจทก์ที่ 2 ผู้เยาว์โดยโจทก์ที่ 1 ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ฟ้องคดีแทนนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 3 แทนโจทก์ที่ 2 การประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ตามป.พ.พ.มาตรา 1574 (12) หากมิได้รับอนุญาตจากศาล ผู้ใช้อำนาจปกครองไม่มีอำนาจกระทำได้ การประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 2
ปัญหาเรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นเรื่องกระทบกระเทือนสิทธิของผู้เยาว์ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จะไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่าง ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบกับมาตรา 246 และ 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448, 882 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (1), 174, 177, 183
ศาลชั้นต้นสั่งฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองสำนวนในวันที่ 30เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่จำเลยร่วมยื่นฎีกาว่า รับฎีกาจำเลยร่วมสำเนาให้โจทก์ทั้งสี่ให้จำเลยร่วมส่งภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงให้ทราบภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา จำเลยร่วมจึงทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว ต่อมาปรากฏว่าส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2539ตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2539 หลังจากนั้นจำเลยร่วมไม่ได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเพื่อดำเนินการต่อไปแต่อย่างใด ถือว่าจำเลยร่วมทิ้งฎีกาสำนวนแรกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174
จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยให้การเกี่ยวกับอายุความว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องในมูลละเมิดเหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2526 โจทก์ไม่ติดใจใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาจากจำเลยร่วมมาแต่แรก คงมีจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่ใช้สิทธิเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามารับผิด แต่ก็เพิ่งเรียกเข้ามาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2531อันเป็นเวลาล่วงเลยจากวันเกิดเหตุถึง 5 ปี คดีย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 ดังนี้ จำเลยร่วมให้การโดยชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความเรื่องการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว แม้จำเลยร่วมจะยกบทกฎหมายขึ้นอ้างว่าขาดอายุความละเมิดตามมาตรา 448 ก็ตาม แต่ถ้าตัดข้อความคำว่า "ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448" ออกเสียคำให้การของจำเลยร่วมเกี่ยวกับอายุความในส่วนที่เหลือก็ยังพออนุมานได้ว่าจำเลยร่วมได้ยกอายุความตามมาตรา 882 ขึ้นต่อสู้แล้ว และการจะปรับบทมาตราใดเป็นหน้าที่ของศาลจะยกขึ้นปรับแก่คดี คำให้การของจำเลยร่วมจึงมีประเด็นเรื่องอายุความการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคแรก
คดีนี้เหตุวินาศภัยเกิดในวันที่ 5 กันยายน 2526 จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยถูกเรียกเข้ามาในคดีเพื่อให้รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อวันที่7 มิถุนายน 2531 เป็นเวลาล่วงเลยจากวันเกิดเหตุกว่า 2 ปี คดีจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7600/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1349, 1387
เดิมโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยผ่านที่ดินของ น.และบ.ไปออกถนนสาธารณะเพื่อขนส่งผลิตผลการเกษตร แต่ที่ดินของ น.และ บ. เป็นนาลึกฤดูฝนน้ำท่วมถึงอก ส่วนหน้าแล้งสามารถเดินด้วยเท้า รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้เพราะเป็นที่นานอกจากทางพิพาทนี้แล้วโจทก์ไม่มีทางอื่นที่จะออกสู่ทางสาธารณะดังนี้ เมื่อที่ดินของโจทก์มีที่ดินของผู้อื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้และเส้นทางพิพาทซึ่งผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1มีระยะทางสั้นเพียง 40 เมตร การใช้ทางพิพาทดังกล่าวผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้ที่ดินส่วนน้อยไม่ทำให้จำเลยที่ 1รับภาระเกินไป และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกสร้างสิ่งใดในบริเวณนั้น อีกทั้งเป็นบริเวณที่โจทก์เคยใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 โจทก์ได้ใช้เส้นทางพิพาทเข้าออกมาประมาณ 30 ปีแล้วโดยใช้มาก่อนมีการสร้างผนัง กั้นน้ำเค็ม ซึ่งได้ทำขึ้นทับเส้นทางเดิม หลังจากสร้างผนังกั้นน้ำเค็ม แล้วก็ได้ใช้ทางพิพาทบนผนังกั้นน้ำเค็ม ตลอดมา เมื่อโจทก์ใช้ทางพิพาทมาเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาท จึงเป็นภารจำยอมด้วย ซึ่งทางพิพาทนี้เป็นทั้งทางจำเป็นและเป็นทางภารจำยอมในขณะเดียวกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7560/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 65, 379, 383 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (11), 55
ผู้ที่จะเป็นคู่ความได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลตามที่กล่าวไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(11) และคำว่าบุคคลนั้นได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับนิติบุคคลนั้นได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65 แล้วว่าจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่น โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า ด่านศุลกากรจังหวัด ส.โจทก์ที่ 2 เป็นหน่วยงานของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 และไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคล ดังนี้ โจทก์ที่ 2จึงเป็นเพียงส่วนราชการของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โจทก์ที่ 2 จึงเข้าเป็นคู่ความฟ้องคดีนี้ไม่ได้โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาประกันฉบับพิพาท ข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1สัญญารับประกันภัยรถยนต์ ตามบัญชีรายชื่อท้ายสัญญานี้ และสัญญาว่าจะส่งรถยนต์ให้ตามกำหนดนัดของโจทก์ และในระหว่างประกันนี้ข้าพเจ้าหรือผู้ต้องหาจะปฏิบัติตามนัดหรือหนังสือเรียกของพนักงานของโจทก์ที่ 1 มิฉะนั้นข้าพเจ้ายอมรับผิดชอบใช้เงินเป็นจำนวน 280,000 บาท ข้อความตามสัญญาดังกล่าวเป็นการตกลงจะชำระเงิน 280,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ที่ 1 ดังนี้เงินจำนวน 280,000 บาท ตามข้อสัญญาจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และเมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7556/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 62 ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 157 ทวิ
เมื่อศาลลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แล้ว ศาลก็จะอาศัยบทเบาตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 ทวิ มาเพื่อสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยหาได้ไม่ เพราะศาลมิได้ลงโทษจำเลยตามบทเบานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7498/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1012, 1026, 1055, 1056, 1057, 1061 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
ข้อตกลงโครงการซื้อที่ดินระหว่างผู้เริ่มโครงการและผู้ลงทุนระบุว่าเป็นโครงการจัดหาซื้อที่ดินเพื่อขายเอากำไร โดยมีผู้ร่วมดำเนินการคือโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วม โจทก์และจำเลยร่วมลงทุนเป็นเงิน ส่วนจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินและดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่ซื้อได้ เมื่อขายที่ดินดังกล่าวได้แล้วให้จ่ายเงินคืนแก่ผู้ออกเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันชำระเงินซื้อที่ดินจนถึงวันขายที่ดินได้ และจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ หากมีเงินเหลือซึ่งเป็นกำไรก็จะจัดการแบ่งกันในระหว่างผู้ร่วมกันดำเนินการทุกคนดังนี้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยและจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หาใช่เป็นสัญญาร่วมลงทุนไม่ และเมื่อห้างหุ้นส่วนดังกล่าวยังไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055,1056 และ 1057 จึงยังไม่ได้จัดการชำระบัญชีตามมาตรา 1061 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินที่ร่วมลงทุนในห้างหุ้นส่วนจากหุ้นส่วนคนอื่น ๆ