คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7437/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 208
จำเลยให้การต่อสู้คดี แต่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2534 คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2534 กล่าวแต่เหตุที่จำเลยขาดนัดเพียงประการเดียว ไม่ได้กล่าวโดยละเอียดและชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำชี้ขาดของศาล ส่วนข้ออ้างในคำร้องขอว่า จำเลยมาขอตรวจสำนวนเมื่อวันที่22 พฤศจิกายน 2538 และไม่สามารถขอคัดคำพิพากษาได้เพราะอยู่ในระหว่างจัดพิมพ์คำพิพากษานั้น ขัดต่อข้อเท็จจริงเพราะปรากฏในสำนวนว่าทนายจำเลยเพิ่งยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารคำพิพากษาวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ข้ออ้างตามคำร้องขอของจำเลยจึงไม่มีเหตุควรรับฟัง ดังนี้ เมื่อคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมิได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอเสียได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7188/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 63
การลักลอบนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายด้านหลายประการเป็นต้นว่าทางด้านสาธารณสุข โดยที่คนต่างด้าวเหล่านั้นอาจนำเชื้อโรคที่แพร่หรือระบาดอยู่ในประเทศของคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาแพร่หรือระบาดในประเทศไทยจนยากที่จะควบคุมและทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมากในการป้องกันและรักษาโดยใช่เหตุ ทางด้านความมั่นคง คนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามามีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาประกอบอาชญากรรมที่เป็นภัยต่อสังคมและประเทศชาติทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งยากต่อการที่จะป้องกันและปราบปราม หากปล่อยปละละเลยนับวันแต่จะเพิ่มมากขึ้น และทางด้านสังคมคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรมักจะเข้ามาแย่งอาชีพของคนไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศในด้านแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมส่งผลให้คนไทยต้องกลายเป็นผู้ไม่มีอาชีพหรือตกงานเป็นจำนวนมากกระทบกระเทือนต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องร้ายแรงไม่สมควรที่ศาลจะรอการลงโทษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7187/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 349, 368, 860
ข้อตกลงการคิดดอกเบี้ยในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร หมายความว่าให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์ ส่วนอัตราดอกเบี้ยต้องถือตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ไม่ทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในอัตราร้อยละ15 ต่อปีเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ และจะชำระให้เป็นรายเดือนมิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มูลหนี้เดิมจึงไม่ระงับ การที่มีบุคคลอื่นมาค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์อีกไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเดิมพ้นความรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33
การที่จำเลยช่วยเหลือคนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้รถจักรยานยนต์รับคนต่างด้าวดังกล่าวพาไปเพื่อให้พ้นจากการจับกุมนั้นการช่วยเหลือดังกล่าวมิจำเป็นต้องใช้พาหนะรถจักรยานยนต์ในการช่วยเหลือรถจักรยานยนต์ของกลางถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่ควรริบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1548/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/34 (7)
โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิตโดยโจทก์ออกบัตรให้สมาชิกแล้วสมาชิกของโจทก์สามารถนำบัตรไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าบริการต่างๆกับเบิกเงินสดจากสถานประกอบกิจการค้าต่างๆและธนาคารทั้งในและต่างประเทศโจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังการให้บริการดังกล่าวแก่สมาชิกของโจทก์โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมรายปีโจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่างๆให้แก่สมาชิกและการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/34(7)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7439/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 513 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249, 296, 308
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าราคาที่พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์นั้น ยังเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และน่าจะขายทอดตลาดได้ในราคาที่สูงกว่านี้ การที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาเพียงว่าผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคาสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งโจทก์ได้ลงลายมือชื่อเห็นชอบแล้ว ราคาที่ประมูลได้จึงเป็นราคาที่เหมาะสมแล้วเท่านั้น โดยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลใด และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรจึงต้องฟังว่าราคาที่พิพาทที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอและเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายนั้นเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น นอกจาก ป.วิ.พ.มาตรา 308 บังคับไว้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.และกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้นและตามข้อกำหนดของศาลแล้ว ในการขายทอดตลาดยังมีเจตนารมณ์เป็นประการสำคัญว่าจะต้องขายให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ และหากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาที่ผู้ประมูลสูงสุดในครั้งนั้นยังต่ำไป เป็นราคาที่ไม่สมควรหรือควรจะได้ราคาสูงกว่านั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขายแล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 513
เมื่อราคาที่พิพาทที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอในการขายทอดตลาดและเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายได้ ยังเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น กรณีถือได้ว่าการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทกฎหมายโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจำเลยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7438/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 145 วรรคหนึ่ง, 146, 420, 1304, 1367 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 ม. 10 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ.2497 พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2521
โจทก์ได้ที่ดิน 2 แปลง และปลูกบ้านกับต้นยูคาลิปตัสตามฟ้องภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลาอำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2497 ใช้บังคับแล้ว เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังนี้จึงเป็นการที่โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง
ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลาอำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีพ.ศ. 2521 จะมีผลบังคับกับที่ดินที่ถูกเวนคืนต่อเมื่อเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนได้รับค่าชดเชยเสียก่อน
ต้นยูคาลิปตัสเป็นไม้ยืนต้นและปลูกเพื่อตัดขายเป็นคราว ๆ โดยไม่ต้องปลูกใหม่เมื่อมีหน่อขึ้นมาแล้วก็บำรุงรักษาหน่อไว้ก็สามารถตัดขายได้อีกดังนี้ การที่โจทก์มีเจตนาในการปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อประโยชน์เป็นเวลานานตลอดไปต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146
ที่ดินแปลงพิพาทตามฟ้องอยู่ในเขตเวนคืน ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา ฯลฯ พ.ศ. 2521เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างท่าเรือน้ำลึกและกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการท่าเรือและให้ผู้อำนวยการของจำเลยร่วมเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว และเมื่อต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกในที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนควบของที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 มาตรา 10 ดังนี้ การที่จำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและมอบที่ดินที่เวนคืนให้จำเลยดำเนินการ แล้วจำเลยตัดฟันต้นยูคาลิปตัสและขุดตอต้นยูคาลิปตัสในที่ดินดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7409/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 421, 1382, 1390, 1401
ที่ดินของโจทก์ที่ 1 แปลงแรก ภริยาของโจทก์ที่ 1 ซื้อมาจากป. โดยก่อนที่จะซื้อโจทก์ที่ 1 ได้เช่าที่ดินดังกล่าวจาก ป.เพื่อทำนา และขณะที่ ป. ยังเป็นเจ้าของที่ดิน ป.ได้ขออนุญาตจากจำเลยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออก ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ที่ 1 ใช้เส้นทางพิพาทในระหว่างที่โจทก์ที่ 1 เช่าที่ดินดังกล่าวจาก ป. จึงเป็นการอาศัยสิทธิของ ป. ที่ได้รับอนุญาตจากจำเลยให้ใช้ได้ มิใช่ใช้ในนามของตนเอง ดังนี้โจทก์ที่ 1จะนับระยะเวลาช่วงดังกล่าวมารวมคิดเพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความไม่ได้ การใช้ทางพิพาทของผู้ใช้ทางพิพาท เมื่อไม่ได้ความว่าผู้นั้นเคยขออนุญาต จากจำเลยหรือให้ค่าทดแทนแก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออก ทั้งตามพฤติการณ์ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้ทางพิพาทโดยการถือวิสาสะ จึงนับได้ว่ามีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเป็นปรปักษ์ต่อจำเลยผู้เป็นเจ้าของทางพิพาท เมื่อใช้มาเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทจึงตกอยู่ในภารจำยอมของที่ดินของผู้ที่ใช้ทางดังกล่าวนั้นโดยอายุความ เมื่อการกระทำของโจทก์ที่จำเลยอ้างว่าเข้าไปกลบร่องน้ำในทางพิพาท เป็นเรื่องที่โจทก์กระทำได้เพื่อรักษาสิทธิตามปกติในการใช้ทางพิพาทซึ่งตกเป็นภารจำยอม เนื่องจากการขุดร่องน้ำของจำเลยดังกล่าวทำให้ประโยชน์ในการใช้ทางพิพาทเสื่อมความสะดวกลง ซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 ดังนี้การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการละเมิดต่อจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7125/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 79/3 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 177 วรรคสอง, 183 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17
โจทก์ได้รับสัมปทานการบริการวิทยุติดตามตัวตั้งแต่ปี 2533 โจทก์ดำเนินธุรกิจจนถึงก่อนสิ้นปี 2535 โจทก์มีลูกค้าเพียงประมาณ 700 ราย ในขณะเดียวกันผู้ได้รับสัมปทานรายอื่นมีลูกค้าตั้งแต่ 10,000 ราย ถึง 100,000 ราย รายได้หลักที่โจทก์มุ่งหวังอยู่ที่ค่าบริการรายเดือนที่ลูกค้าใช้บริการ มิใช่อยู่ที่กำไรจากการขายเครื่องรับวิทยุติดตามตัวอันเป็นรายได้รอง ดังนั้น โจทก์จึงจำเป็นต้องหาลูกค้าให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อโจทก์จะได้รับค่าบริการจากลูกค้าทุกเดือน การที่โจทก์โฆษณาโดยระบุว่าลูกค้าที่มาใช้บริการในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 จำนวน 1,500 รายแรกโจทก์จะขายวิทยุติดตามตัวในราคาเครื่องละ 1,500 บาท นั้น ความสำคัญคือช่วงส่งเสริมการขายได้แก่ระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 ส่วนข้อความที่ระบุว่าจะขายเครื่องละ 1,500 บาท เพียง 1,500 เครื่องแรก เป็นเพียงกลยุทธกระตุ้นให้ลูกค้าสามารถจดจำเลขหมาย 1500 อันเป็นเลขหมายใหม่ของโจทก์และรีบมาใช้บริการเท่านั้นมิใช่ว่าโจทก์เจตนาจะส่งเสริมการขายเพียง 1,500 เครื่องเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่สมประโยชน์ที่โจทก์ส่งเสริมการขายเพื่อให้ได้ลูกค้าในช่วงดังกล่าวมากที่สุดดังจะเห็นได้ว่าจากกลยุทธดังกล่าว โจทก์เริ่มส่งเสริมการขายตั้งแต่วันที่ 18ธันวาคม 2535 ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม 2535 โจทก์ขายวิทยุติดตามตัวได้ถึง 2,435 เครื่อง แม้เมื่อโจทก์ขายครบ 1,500 เครื่อง แล้วโจทก์เปลี่ยนวิธีการขายโดยโจทก์ไม่เก็บค่าบริการรายเดือนเป็นเวลา 6 เดือนก็ตาม แต่จำนวนเงินที่ผู้ใช้บริการต้องชำระแก่โจทก์ยังคงเท่ากับ 1,500 เครื่องแรก และยังอยู่ในระยะเวลาที่โจทก์กำหนดเป็นช่วงส่งเสริมการขาย โดยโจทก์ขายแก่บุคคลทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่นนี้นับว่าโจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุสมควร
ประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายมหาชนที่กำหนดภาระหน้าที่ให้ประชาชนปฏิบัติต่อรัฐ จึงต้องบังคับโดยเคร่งครัดในทางที่จะไม่ก่อให้เกิดภาระหน้าที่หรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและทรัพย์สินของประชาชน เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น แต่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถึงแม้ว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะทำบันทึกยอมชำระภาษีอากรตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับ และเจ้าพนักงานประเมินลดเบี้ยปรับให้แล้วก็ตาม โจทก์ก็หามีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นตามบันทึกที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทำไว้แต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงไม่อาจใช้บันทึกดังกล่าวบังคับต่อโจทก์ให้ต้องชำระภาษีอากรตามนั้น
ที่ศาลภาษีอากรวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2536 เป็นเงิน 67,849.48 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ 33,901.08 บาท นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้เงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระนั้น จำเลยมิได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระภาษีอากรจำนวนดังกล่าวไว้ จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรในส่วนนี้ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7124/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 149, 369, 391, 1055
โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญากันในเรื่องการเข้าเป็นหุ้นส่วนในการทำอุตสาหกรรมน้ำดื่มร่วมกัน โดยสัญญาระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสมัครใจที่จะถอนหุ้นตามนิติกรรมสัญญาฉบับนี้ ยินดีที่จะให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งดำเนินกิจการต่อไปแต่ฝ่ายเดียวโดยคู่สัญญาฝ่ายที่จะดำเนินการต่อไปจะต้องจ่ายเงินในวงเงิน 250,000 บาทคืนแก่คู่สัญญาที่จะถอนหุ้นทันทีโดยไม่มีข้อแม้แต่ประการใด ดังนี้ เมื่อโจทก์เลิกการเป็นหุ้นส่วนแม้จำเลยได้ทำกิจการน้ำดื่มต่อมา เป็นเวลาเพียง 1 เดือน ก็ตาม จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โดยจ่ายเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์