คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 317 วรรคแรก
เมื่อจำเลยออกมาพบเด็กหญิงม. อายุ13ปีเศษที่ปากซอยนั้นจิตใจของเด็กหญิงม. กำลังอยู่ในภาวะว้าวุ้นสับสนจะกลับบ้านตามคำสั่งของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาก็ไม่อยากกลับเพราะกลัวจะถูกทำโทษครั้นจะไปที่อื่นก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนจึงบอกให้จำเลยพาไปที่ใดก็ได้สุดแล้วแต่ใจของจำเลยหากจำเลยไม่พาเด็กหญิงม.ไปเด็กหญิงม. อาจจะกลับไปบ้านก็ได้อีกทั้งเมื่อโจทก์ร่วมออกมาดูเห็นจำเลยพาเด็กหญิงม. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปดังนั้นหากจำเลยไม่พาเด็กหญิงม. ไปโจทก์ร่วมก็ต้องออกมาพบเด็กหญิงม. และพาเด็กหญิงม.กลับบ้านการที่จำเลยพาเด็กหญิงม. ไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนของจำเลยจึงเป็นการพรากเด็กหญิงม. ไปเสียจากอำนาจปกครองของบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา317วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3232/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 183
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของสินค้าที่บรรทุกมาในรถยนต์คันที่ถูกชนหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าอันเป็นสินค้าตามประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเป็นของ ว. ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนด การที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าว โจทก์ต้องรับผิดต่อ ว.ในความเสียหายของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์และโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่ ว.แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้นั้น หากโจทก์ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในคำฟ้อง โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ แต่เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุข้อความตามที่โจทก์กล่าวอ้าง กลับระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียเองอันเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวหรือไม่ ดังนี้เรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างจึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังและวินิจฉัยว่าโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 1391 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 225 วรรคสอง
ที่ดินโฉนดเลขที่1870เป็นที่ดินสามยทรัพย์ได้ทางภารจำยอมเหนือที่ดินโฉนดเลขที่1871เมื่อปี2530ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่1871โดยแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นทางภารจำยอมออกเป็นโฉนดเลขที่133383จำเลยที่1เป็นผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่1871และ133382จากส. เมื่อปลายปี2534จำเลยได้ก่อสร้างอาคารลงในที่ดินที่เช่าและขึงลาดตาข่ายปิดกั้นทางภารจำยอมดังนี้เมื่อที่ดินภารยทรัพย์โฉนดเลขที่133383เป็นของส. ในฐานะผู้จัดการมรดกของม. ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่ต้องยอมให้โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่1870ใช้ทางภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1387และส.ในฐานะผู้จัดการมรดกของม. เท่านั้นที่มีสิทธิยกข้ออ้างว่าภารจำยอมสิ้นไปโดยอายุความหรือหมดประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1399หรือมาตรา1400ส่วนจำเลยที่1เป็นแต่เพียงผู้เช่าและจำเลยที่2เป็นแต่เพียงผู้ครอบครองไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวซึ่งเป็นสิทธิของเจ้าของภารยทรัพย์มาต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้ โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ โจทก์เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้สิทธิในการใช้ทางภารจำยอมเพราะมีการจดทะเบียนสิทธิโดยชอบโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองฐานกระทำละเมิดโดยปิดทางภารจำยอมได้ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3229/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 271
แม้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยได้มีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและค่าอากรแสตมป์ก็ตามแต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดในส่วนนี้มาด้วยการที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เกี่ยวกับเงินส่วนนี้จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142แล้วและการบังคับคดีก็ต้องดำเนินการไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271ดังนี้การที่โจทก์ไปโอนที่ดินและได้ออกเงินค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและค่าอากรแสตมป์ไปก่อนโดยโจทก์ถือว่ากระทำแทนจำเลยนั้นเป็นเรื่องโจทก์ดำเนินการไปเองและเป็นการบังคับที่นอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งไม่อาจกระทำได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3228/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 420 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521 ม. , 64
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุข้อ 52(2) ได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างในกรณีการจ้างเหมาเกินกว่า2,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 8,000,000 บาท และ ข้อ 64กำหนดให้มีการต่ออายุสัญญาสำหรับวงเงินสั่งซื้อหรือสั่งจ้างที่เกิดอำนาจหน้าที่หัวหน้าส่วนราชการให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้น การแสดงความเห็นของจำเลยที่ 1 ถึง 7 เกี่ยวกับขอต่ออายุสัญญา จึงเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของ การพิจารณาว่าจะต่ออายุสัญญาให้หรือไม่เท่านั้น จำเลยที่ 1 ถึง 7เป็นเพียงอาจารย์ของวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงมิใช่ผู้มีอำนาจในการนี้การเสนอความเห็นดังกล่าวขึ้นมาก็เพราะโจทก์เป็นผู้สั่งให้ทำความเห็นผู้มีอำนาจอนุญาตหาจำต้องเห็นด้วยเสมอไปไม่ในเมื่อการปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างของจำเลยที่ 1 ถึง 7 นั้นได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารโดยเคร่งครัดอยู่แล้ว และไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึง 7 ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อให้โจทก์เสียหาย เพราะในการพิจารณา ให้ความเห็นอาศัยข้อมูลที่พบเห็นในการควบคุมดูแลการก่อสร้างและข้อมูลที่ผู้รับจ้างส่งมา ส่วนเรื่องไม้แบบนั้นเมื่อตามสัญญาจ้าง มิได้ระบุชัดแจ้งว่าต้องใช้ไม้ใดทำแบบ และกรณีเกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงรายการไม้วงกบ เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่ จะต้องขออนุมัติเปลี่ยนแปลงชนิดไม้เอง ดังนี้จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึง 7 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 8 ซึ่งมาช่วยราชการกองคลังของโจทก์ฝ่ายพัสดุจำเลยที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานพัสดุของโจทก์ จำเลยที่ 10เป็นเจ้าหน้าที่บริการการเงินและบัญชีของโจทก์ จำเลยที่ 11เป็นผู้อำนวยการกองคลังของโจทก์เมื่อจำเลยที่ 8 ถึง 11เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ผู้กลั่นกรองงานเพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับนั้น โดยหาข้อเท็จจริงและนำเสนอรายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือให้สั่งการพร้อมความเห็นตามที่ที่ประชุมมีมติให้ต่ออายุสัญญาซึ่งมิใช่การอนุญาตให้ต่ออายุสัญญา และเหตุเปลี่ยนแปลงไม้เนื้อแข็งก็มีความเห็นให้เสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาเท่านั้น มิได้ลงความเห็นว่าควรต่ออายุสัญญาหรือไม่แล้วจำเลยที่ 11 ได้รายงาน เสนอผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป พร้อมด้วยหลักฐานและที่ว่า มีเหตุผลเพียงพอที่จะอนุญาตได้ก็เป็นการลงความเห็นตาม พยานหลักฐานที่ปรากฏ มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 8 ถึง 11 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 12 เป็นรองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ขณะเกิดเหตุรองอธิบดีผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไม่อยู่ จำเลยที่ 12 จึงได้ตรวจงานแทนแล้วเสนอผ่านขึ้นไปยังอธิบดีเพื่อให้พิจารณาข้อเสนอ ตามที่กองคลังเสนอมาตามลำดับชั้น จึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 12 จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 13 เพิ่งมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโจทก์ภายหลังอธิบดีคนเดิมซึ่งได้เคยพิจารณาการต่ออายุสัญญาจ้างรายนี้มาก่อนและเคยมีหนังสือหารือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องไปให้กรมอัยการพิจารณา กรมอัยการแจ้งผลการพิจารณาว่าการต่ออายุสัญญาอยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการหรือปลัดกระทรวงแล้วแต่กรณีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ข้อ 64 และการต่ออายุสัญญากระทำได้เฉพาะกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเพราะความผิดของผู้ว่าจ้างเท่านั้น กรณีตามข้อหารือคงมีปัญหาแต่เพียงว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อกรณีถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะต่ออายุสัญญาจ้างให้แก่ผู้รับจ้างได้และเมื่อจำเลยที่ 13 ได้รับเรื่องราวดังกล่าวเสนอมาเมื่อมาดำรงตำแหน่งอธิบดีแล้ว ยังได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมาประชุมชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีข้อหักล้างเหตุผลของผู้รับจ้างเป็นอย่างอื่น จึงได้เสนอเรื่องต่อไปยังปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่ออนุญาตให้ต่อสัญญาจ้างให้ผู้รับจ้างตามที่คณะกรรมการตรวจการจ้างเสนอและจำเลยที่ 13 ยังได้มีความเห็นที่ไม่ควรต่ออายุสัญญากรณีเปลี่ยนแปลงรายการไม้เนื้อแข็งเพื่อใช้ทำวงกบประตูหน้าต่างด้วย ซึ่งเป็นการใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบและพิจารณาคำขออย่างรอบคอบตามสมควรแล้ว มิใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายเช่นกัน จำเลยที่ 14 ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการเมื่อจำเลยที่ 13 เสนอความเห็นมาเป็น 2 ข้อ คือข้อแรกควรอนุญาตให้ต่ออายุสัญญาก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 138 วันข้อสองกรณีขออนุมัติเปลี่ยนแปลงไม้เนื้อแข็งเพื่อใช้ทำวงกบประตูหน้าต่างว่าน่าจะถือเป็นความบกพร่องของผู้รับจ้างเองที่ไม่ขออนุญาติให้ถูกต้องก่อนนำมาใช้ น่าจะไม่อนุญาต จำเลยที่ 14 ก็ได้ตรวจสอบเรื่องราวที่ขออนุญาตในเอกสารที่เกี่ยวข้องและพบว่ากรมโจทก์เคยมีหนังสือหารือเรื่องเหตุสุดวิสัยไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้หารือเรื่องดังกล่าวไปยังกรมอัยการกรมอัยการตอบมาว่าหากผู้รับจ้างได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรและไม่อาจป้องกันได้ และกรมโจทก์ไม่อาจหักล้างเหตุผลของผู้รับจ้างให้รับฟังเป็นอย่างอื่นกรณีก็ถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะต่ออายุสัญญาจ้างให้ผู้รับจ้างการต่ออายุสัญญาเนื่องจากเหตุสุดวิสัยซึ่งทำได้ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรีก่อนตัดสินใจจำเลยที่ 14 ยังได้เชิญผู้อำนวยการกองคลัง และนิติกรของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาร่วมปรึกษาหารือแล้วจึงมีความเห็นอนุมัติ ส่วนข้อสองจำเลยที่ 14 คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ผู้รับจ้างอ้างว่ารายการไม้กำหนดไว้ไม่ชัดแจ้ง และสัญญาในเรื่องเกี่ยวกับไม้ที่ใช้ทำวงกบนั้นไม่ชัดแจ้งจริง และก่อนที่จะพิจารณาได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าอาคารตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างนั้น โจทก์ได้ใช้ประโยชน์เรียบร้อยแล้ว จึงเชื่อว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ประกอบกับได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการขอเปลี่ยนแปลงวงกบประตูหน้าต่าง เป็นงานที่ได้ดำเนินการในงวดที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายแล้ว การรอให้มีการอนุญาตก่อนแล้วจึงเปลี่ยนทำให้ผู้รับจ้างต้องรอเรื่องอนุญาตจากโจทก์นานถึง 86 วัน โดยไม่อาจดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ และไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้างเป็นเหตุสุดวิสัย จึงสมควรต่ออายุสัญญาให้โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามหนังสือเวียนของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และโจทก์ได้ยอมรับว่าสัญญาในเรื่องเกี่ยวกับไม้ทำวงกบไม่ชัดแจ้ง ทั้งก่อนตัดสินใจได้เชิญผู้อำนวยการกองคลังและนิติกรของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมปรึกษาหารือแล้ว จึงมีความเห็น เมื่อจำเลยที่ 14 มิได้ดำเนินการโดยพลการ แต่ได้ติดต่อประสานงานกับสำนักนายกรัฐมนตรีกรมอัยการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสิบสี่มิได้ทุจริต ปูนซีเมนต์ที่ใช้ในการก่อสร้างตามสัญญาหากซื้อเก็บไว้นานเกิน 30 วัน ก็จะเสื่อมคุณภาพ ประกอบกับการขอต่ออายุสัญญาภายหลังสัญญาสิ้นสุดลงแล้วก็อาจกระทำได้ตามหนังสือเวียนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และแม้ไม่อยู่ในช่วงที่คณะรัฐมนตรีอนุญาตให้ต่อสัญญาได้เพราะขาดแคลนปูนซีเมนต์ แต่ก็อาจมีปัญหาด้านการกักตุนและเก็งกำไรในบางท้องที่ได้ ซึ่งย่อมอยู่ในดุลพินิจของส่วนราชการคู่สัญญาที่จะได้พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นราย ๆ ไป ผู้มีอำนาจตามระเบียบการพัสดุย่อมสามารถพิจารณาวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของตนได้เมื่อมีเหตุสุดวิสัย ตามหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้ จำเลยที่ 14 ใช้ดุลพินิจสั่งการตามอำนาจหน้าที่ไปโดยสุจริต มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3227/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132, 292
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาเมื่อปรากฏว่าที่ดินมีโฉนดเฉพาะส่วนเนื้อที่60ไร่20ตารางวาโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีเสร็จสิ้นลงโดยโอนที่ดินดังกล่าวไปเป็นของโจทก์ตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วศาลฎีกาจึงไม่จำต้องพิจารณาคำร้องของดการบังคับคดีของจำเลยต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 600
โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารจำเลยก่อสร้างเสร็จและส่งมอบให้แก่โจทก์รับเงินค่าจ้างจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้วต่อมาอาคารบางแห่งมีรอยแตกร้าวเมื่อฝนตกน้ำซึมเข้าไปในอาคารซึ่งเกิดจากช่างที่จำเลยจ้างมาไม่ชำนาญหรือมีฝีมือไม่ดีพอหรือไม่ได้ทำตามกรรมวิธีที่ถูกต้องฉะนั้นเมื่อสัญญาจ้างมิได้กำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดไว้จำเลยจึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นภายใน1ปีนับแต่วันส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา600ส่วนที่ตามสัญญาจ้างระบุว่างวดที่11เงิน200,000บาทตกลงชำระเมื่อการรับมอบงานล่วงพ้นไปแล้วเป็นเวลา6เดือนกับทั้งไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่องใดๆเกิดขึ้นกับอาคารที่ก่อสร้างนั้นเป็นการกำหนดหน้าที่โจทก์ที่จะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยภายในกำหนดระยะเวลาเท่าใดเท่านั้นมิใช่เป็นกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องไว้ภายในกำหนดดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3230/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142, 172, 248, 249
ที่จำเลยที่1ฎีกาว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแทนส. มารดาโจทก์โจทก์มิใช่คู่สัญญาที่แท้จริงจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเมื่อปัญหาดังกล่าวจำเลยที่1มิได้ให้การไว้แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบฎีกาของจำเลยที่1จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249 คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงที่รับรองให้ฎีกาได้นั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงจะวินิจฉัยได้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่2สามีจำเลยที่1ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมด้วยแต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาโดยร่วมกันทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้อื่นไปสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทนการที่จำเลยที่1ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไปไม่อาจจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้จำเลยที่1จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่1ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกันโดยฝ่ายโจทก์ผู้ซื้อออกเช็คชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่2ซึ่งเป็นสามีจำเลย1ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเจตนาของคู่สัญญาที่มีผลผูกพันกันได้เช็คดังกล่าวลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่28กรกฎาคม2532แต่จำเลยที่1กลับไปทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไปตั้งแต่วันที่27กรกฎาคม2532ดังนี้จำเลยที่1จะอ้างว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่1หาได้ไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินมัดจำ200,000บาทและจ่ายเงินค่าปรับ10เท่าของราคาซื้อขายที่ดินคิดเป็นเงิน10,750,000บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์10,950,000บาทและในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน10,950,000บาทให้แก่โจทก์เมื่อเงินมัดจำ50,000บาทเป็นส่วนหนึ่งของค่ามัดจำ200,000บาทตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งโจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องว่ามอบให้จำเลยที่1ไปและมีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระคืนรวมอยู่ด้วยในคำขอท้ายฟ้องแล้วที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่1คืนมัดจำให้แก่โจทก์ด้วยจึงไม่เป็นพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 276 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
จำเลยที่2และผู้เสียหายรู้จักกันมาก่อนจำเลยทั้งสองชวนผู้เสียหายไปรับประทานอาหารด้วยความสนิทสนมคุ้นเคยกันเช่นนี้จึงเป็นธรรมดาที่ผู้เสียหายจะเชื่อถือและไว้วางใจจำเลยที่2ไม่คิดว่าจะถูกจำเลยที่2พาไปข่มขืนกระทำชำเราเมื่อผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปจึงยังไม่รู้และไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือและเมื่อไปถึงบริเวณทุ่งนาที่เปลี่ยวจำเลยที่2ทำร้ายร่างกายโดยตบหน้าผู้เสียหายและพูดขู่ว่าถ้าไม่ยอมให้ร่วมประเวณีก็จะพาเพื่อนอีก10คนมาร่วมกันข่มขืนผู้เสียหายจึงเกิดความกลัวไม่กล้าขัดขืนและร้องขอความช่วยเหลือและหากผู้เสียหายยินยอมจริงแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่ทันทีที่พบบิดาผู้เสียหายผู้เสียหายก็เล่าเรื่องให้บิดาฟังและพาบิดาไปตามหาจำเลยที่2จนพบและแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่2จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3226/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304, 1306, 1401
ที่ดินที่เป็นที่ตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้บริการสาธารณะดังกล่าวได้นับได้ว่าเป็นทรัพย์สินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1304(2)ดังนั้นแม้จะได้ความว่าโจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทในที่ดินรายนี้เกินกว่า10ปีแล้วก็ต้องห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา1306ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นภารจำยอม