คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 150, 172, 240 (3), 247
การบรรยายฟ้องในคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172กำหนดแต่เพียงว่าฟ้องต้องแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเท่านั้นหาต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเหมือนกับฟ้องในคดีอาญาไม่ส่วนรายละเอียดที่จะต้องนำพยานเข้าสืบเมื่อมีประเด็นโต้เถียงกันแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายข้อความเหล่านั้นมาฟ้องโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม การจะนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46นั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์3ประการคือคำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุดข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและคำพิพากษาคดีอาญาต้องวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งและผู้ที่จะถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความในคดีอาญา โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาร่วมกันบุกรุกที่ดินพิพาทและทำให้เสียทรัพย์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ส่วนที่ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นของโจทก์หรือจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วดังนี้แม้โจทก์และจำเลยคดีก่อนเป็นคู่ความรายเดียวกับคดีนี้ก็ตามแต่ปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้คดีอาญายังไม่ได้วินิจฉัยจึงนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวมารับฟังเป็นยุติในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งไม่ได้การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำเอาข้อเท็จจริงดังกล่าวในคดีอาญามารับฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายและปัญหานี้ต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนแต่เมื่อคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยปัญหาอื่นๆตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา240(3)ประกอบด้วยมาตรา247 จำเลยให้การสู้คดีอ้างสิทธิครอบครองที่ดินจำนวน20ไร่ทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงถือตามราคาที่ดินจำนวน20ไร่แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและจำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกามาในราคาที่ดินจำนวน90ไร่ศาลฎีกาให้คืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกินมาให้โจทก์และจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้กรณียังมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือจำเลยโดยโจทก์ฟ้องทางแพ่งอ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์และคดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แม้ว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งก็ตามแต่ก็นำมารับฟังประกอบในคดีอาญานี้ได้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับพยานหลักฐานโจทก์แล้ว คดียังไม่พอฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือโจทก์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยไม่อยู่ในฐานครอบครองทรัพย์ของโจทก์การกระทำของจำเลยที่ไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปโดยทุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 78 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15.
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำรับสารภาพของจำเลยจำเลยอาจหาฎีกากล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่อันขัดต่อคำรับสารภาพและคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองได้ไม่ เมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก1,406กรัมสามารถก่อภัยอันตรายร้ายแรงต่อสุจริตชนทำให้เกิดปัญหาความสงบสุขต่อสังคมในปัจจุบันการที่ศาลลงโทษจำคุก9ปีนับว่าเหมาะสมต่อสภาพความผิดแต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตลอดถึงชั้นพิจารณานับว่ารู้สึกความผิดและเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาสมควรได้รับความปรานีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์และฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยสารเสพวัตถุออกฤทธิ์เป็นความผิดสองกรรมโดยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา157ทวิวรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดศาลอุทธรณ์ภาค1จึงพิพากษาแก้โดยปรับบทลงโทษฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์ให้ถูกต้องเท่านั้นแสดงว่าศาลอุทธรณ์ภาค1ยังคงลงโทษจำเลยเป็นความผิดสองกรรมดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมนั้นจึงเป็นการฎีกาในข้อกฎหมายที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค1เป็นฎีกาที่ไม่ชอบและแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องมาว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันแต่ฟ้องโจทก์ระบุวันเวลากระทำความผิดฐานต่างๆเป็นวันเวลาเดียวกันทั้งมิได้บรรยายว่าวัตถุออกฤทธิ์ที่จำเลยเสพก่อนขับรถกับที่จำเลยเสพขณะขับรถนั้นเป็นคนละจำนวนกันดังนั้นการเสพวัตถุออกฤทธิ์กับการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับขี่รถโดยเสพวัตถุออกฤทธิ์เป็นการกระทำหลายอันที่เป็นผลต่อเนื่องกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหาใช่เป็นความผิดสองกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา195วรรคสองประกอบมาตรา225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 242 (1), 243 (1), พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 7
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ.2528 มาตรา 10 วรรคสอง อำนาจในการวินิจฉัยกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือไม่ เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ศาลฎีกาจึงได้ส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย
ตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรกับจำเลยที่ 1 ในทางละเมิด คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากร ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลภาษีอากรกลางไม่ได้กระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบศาลฎีกาต้องพิพากษาเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และยกอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2791/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 66, 193/30, 572 ประมวลรัษฎากร ม. 103, 104, 108
สัญญาเช่าซื้อคือสัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์มีวัตถุประสงค์ ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์
เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้ทรัพย์ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้รับทรัพย์คืนและค่าเสื่อมราคารวมถึงค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร มิได้กำหนดให้สัญญาซื้อขายรถยนต์จากการขายทอดตลาดเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ และเอกสารดังกล่าวมิใช่ใบรับสำหรับการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะตามข้อ 28(ค)แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 103,104 และ 108 เอกสารดังกล่าวแม้ไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2787/2540
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119
ตามคำร้องของผู้ร้องได้อ้างเหตุโดยปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับแจ้งการยืนยันหนี้จากผู้คัดค้านมาก่อน ซึ่งในข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ร้องได้รับการแจ้งยืนยันหนี้จากผู้คัดค้านโดยชอบแล้วหรือไม่ ยังไม่เป็นที่ยุติ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนให้เสร็จสิ้นกระแสความเสียก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2805/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 193/30, 383 วรรคแรก, 563, 567
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 แต่สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ระบุว่า "ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย..สูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว… และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบ…" หมายความว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังไม่ได้ชำระตามสัญญาจนครบ โดยไม่ได้ระบุให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระเป็นงวด ๆ เหมือนกรณีที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อไม่ถูกโจรภัยหรือไม่สูญหาย อันมีลักษณะกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่เป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและศาลมีอำนาจลดหย่อนลงได้หากเห็นว่ากำหนดไว้สูงเกินควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป และโจทก์ไม่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมา จึงมิใช่เป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 กรณีไม่มีการส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2792/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 900, 904 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
จำเลยมาขอกู้ยืมเงินจาก ส. แต่ ส. ไม่มีเงินสดพอจึงได้ติดต่อขอให้โจทก์ยินยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ เมื่อโจทก์ตกลงให้กู้จึงได้นำเงินมามอบให้แก่ ส. เพื่อส่งมอบให้จำเลย ซึ่งจำเลยได้รับเงินไปจาก ส. และมอบเช็คพิพาทให้ ส. ไปเป็นเช็คเงินสดหรือผู้ถือที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่าย การที่ ส. ส่งมอบเงินให้จำเลยและรับเช็คพิพาทจากจำเลยไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนโจทก์ในฐานะตัวการ เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ ส. นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของโจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คและมีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 389, 394, 572
การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์พิพาทเพราะสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายมีสาเหตุมาจากสภาพรถยนต์พิพาทที่ถูกแก้ไขเลขประจำตัวถังรถเมื่อไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการที่รถยนต์พิพาทถูกยึดไปดังกล่าวและโจทก์ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทไม่สามารถใช้หรือรับประโยชน์จากรถยนต์คันนั้นตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้จำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่2จะมาโต้เถียงว่ารถยนต์พิพาทมิใช่รถยนต์ผิดกฎหมายแม้จะฟังได้เช่นนั้นก็หาทำให้ความรับผิดของจำเลยที่2ต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่เพราะความเสียหายของโจทก์ที่ไม่ได้ประโยชน์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อตามสัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว สัญญาเช่าซื้อข้อ12ระบุว่าไม่ว่าโดยเหตุใดก็ตามถ้ารถยนต์เช่าซื้อถูกจับถูกยึดหรือถูกใช้สิทธิยึดหน่วงผู้เช่าซื้อต้องรีบแจ้งให้จำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน7วันนับแต่วันถูกจับถูกยึดหรือถูกใช้สิทธิยึดหน่วงและผู้เช่าซื้อต้องจัดการประการหนึ่งประการใดหรือจัดการชำระหนี้อันเป็นมูลให้ถูกยึดหน่วงแล้วแต่กรณีเพื่อให้ได้รถยนต์เช่าซื้อคืนมาโดยเร็วมิฉะนั้นบริษัทจะถือว่าโจทก์ผู้เช่าซื้อปฏิบัติผิดสัญญานี้การที่รถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเอาไปก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายโดยมีการแก้ไขเลขประจำตัวถังรถซึ่งมิใช่การกระทำหรือเป็นความผิดของโจทก์ที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อการแสดงหลักฐานและประวัติของรถยนต์พิพาทว่ามิใช่รถยนต์ผิดกฎหมายย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์คือจำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อทั้งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ12โดยแจ้งให้จำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงการที่รถยนต์ถูกยึดภายใน7วันนับจากวันถูกยึดแล้วถือได้ว่าโจทก์ได้ทำหน้าที่ผู้เช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว