คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7196/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 156

การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมอันจะมีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 นั้น จะต้องเป็นการสำคัญผิดในทรัพย์สินที่จะต้องส่งมอบแก่กันตามสัญญาซื้อขาย โดยการทำสัญญาซื้อขายนั้นถือเอาตัวทรัพย์เป็นสาระสำคัญ ฟังได้ว่าโจทก์ขายเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำให้แก่จำเลย ในการส่งมอบและการติดตั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทักท้วงถึงยี่ห้อของสินค้าว่ามิใช่ยี่ห้อนิวตั้น แต่กลับปรากฏว่าในระยะ 3 ถึง 4 เดือน ภายหลังติดตั้งเครื่องดังกล่าวใช้การได้ดี และเมื่อเครื่องทำงานขัดข้องโจทก์ก็จัดการซ่อมแซมให้พร้อมกับรับชำระค่าสินค้าเป็นประจำทุกเดือน จำเลยได้ชำระค่าสินค้าไปจนถึงงวดที่ 9หลังจากนั้นจำเลยติดต่อ ส. ไปซ่อมเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำถึง 3 ครั้งพฤติการณ์ที่จำเลยรับมอบเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำโดยมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับยี่ห้อของสินค้าทั้งได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ตลอดมา รวมทั้งได้ชำระค่าสินค้าจนถึงงวดที่ 9 จนกระทั่งโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยจึงอ้างว่าเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำที่โจทก์ส่งมอบไม่ใช่ยี่ห้อนิวตั้นตามที่จำเลยตกลงซื้อ ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยตกลงซื้อเครื่องทำน้ำแข็งถ้วยและเครื่องกรองน้ำโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7184

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7184/2540

พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ม. 24, 50

ตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 50 ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับสิบห้าเท่าของ ค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดหรือที่ยังขาดอยู่แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาทเป็นการกำหนดโทษปรับไว้ตายตัว ศาลจึงกำหนดโทษปรับให้น้อยกว่าสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7183

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7182 - 7183/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 288

การวางเงินเพื่อประกันความเสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคสอง (1) มิได้บังคับให้ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องเสมอไป เพียงแต่มีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลโดยศาลอาจตรวจดูจากเอกสารในสำนวนรวมทั้งตัวคำร้องขอเอง ก็เพียงพอแล้วที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7106

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7106/2540

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 30

การจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ขึ้นวินิจฉัยอาการป่วยของจำเลยร่วมในคดีนี้เป็นไปโดยความเห็นชอบของจำเลยร่วมและคู่ความฝ่ายอื่นทุกฝ่าย ทั้งคู่ความทุกฝ่ายยังเห็นชอบให้ศาลแรงงานมีหนังสือเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามรายชื่อที่ได้รับแจ้งจากกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย รวม 6 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายศาลแรงงานยังได้เชิญแพทย์หญิง อ. แพทย์หญิง ว. ผู้อำนายการกองอาชีวอนามัย กับผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ ย. ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าวอีกด้วย นอกจากนี้เมื่อพยานฝ่ายลูกจ้างแถลงว่าเพื่อความสบายใจของแพทย์หญิง อ. จึงขอเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวแวดล้อม 3 คนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแพทย์ ศาลแรงงานก็ดำเนินการให้ตามความประสงค์เมื่อการจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ขึ้นตรวจอาการป่วยของจำเลยร่วมได้เป็นไปตามความต้องการและความพอใจของจำเลยร่วมและคู่ความอื่นทุกฝ่ายทั้งสิ้น และเมื่อได้รายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาแล้วศาลแรงงานก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแรงงานเห็นสมควรให้มาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 30 ให้อำนาจไว้ดังนี้ กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานดังกล่าวข้างต้นจึงชอบแล้ว และการที่ศาลแรงงานดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าวกรณีให้เพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวแวดล้อมเข้าเป็นคณะกรรมการด้วยตามคำแถลงของพยานฝ่ายลูกจ้างก็ดี รวมทั้งการจำหน่ายคดีชั่วคราวในระหว่างรอผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการแพทย์ที่จะเสนอต่อศาลแรงงานกลางก็ดี เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานมีอำนาจดำเนินการได้ทั้งสิ้น กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานทั้งหมดดังกล่าวมาจึงชอบแล้วกรณีไม่มีเหตุเพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7105

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7105/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 39 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 30, 31

ประเด็นข้อพิพาทในคดีมีว่าจำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ ป่วยเป็นโรคปอดเนื่องจากการทำงานหรือไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทเดียวกันกับประเด็นข้อพิพาทในคดีเรื่องอื่นของศาลแรงงานกลางซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ ส่งลูกจ้างไปให้คณะกรรมการแพทย์ที่ศาลตั้งขึ้นตรวจวิเคราะห์โรคตามคำท้าของคู่ความ ได้ผลประการใดให้ถือเป็นข้อแพ้ชนะแห่งคดี และคู่ความทุกฝ่ายในคดีนี้เห็นพ้องต้องกันขอถือเอาคำท้าในคดีดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยคดีนี้โดยตกลงให้จัดส่งจำเลยทั้งสองไปตรวจวิเคราะห์โรคด้วยเช่นเดียวกับคดีดังกล่าวข้างต้น ดังนี้เพื่อความสะดวกในการพิจารณาและพิพากษาคดี ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจออกคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราว เพื่อรอฟังผลการตรวจวิเคราะห์โรคของจำเลยร่วมทั้งสองก่อน เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นพิพาททุกข้อที่กำหนดไว้ โดยพิจารณาไปตามเหตุผลที่ปรากฏในคำคู่ความและพยานหลักฐานในสำนวนมิได้วินิจฉัยคดีไปตามคำท้าของคู่ความในคดีอื่นซึ่งมีประเด็นที่พิพาทเป็นอย่างเดียวกันกรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลแรงงานกลางจะต้องเพิกถอนรายงานกระบวนพิจารณาที่ได้จดบันทึกพาดพิงถึงคำท้าของคู่ความในคดีอื่น เพราะรายงานกระบวนพิจารณาข้างต้นมิได้ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 30 ให้อำนาจแก่ศาลแรงงานกลางในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยให้ถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้ความเห็นแก่ศาลประกอบการพิจารณาและพิพากษา ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองต้องการและพอใจให้ศาลจัดให้มีคณะกรรมการแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นเพื่อตรวจวิเคราะห์โรคของจำเลยทั้งสอง การแต่งตั้งคณะกรรมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7079

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7079/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 806 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 227, ตาราง 1 ข้อ 2 ข

การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นการมีชื่อแทนในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ และโจทก์อยู่ในฐานะเป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดนำที่ดินไปขายฝากแก่สามีจำเลยที่ 2 ก็ต้องถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำการออกหน้าเป็นตัวการในการขายฝาก โจทก์หาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของสามีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันเขามีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนและสามีจำเลยที่ 2 ขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 การขายฝากที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่สามีจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ด้วย

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาท เป็นการฟ้องร้องให้ได้ทรัพย์พิพาทคืนมาเป็นของโจทก์เป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงงดสืบพยานแล้วพิพากษาคดีไปโดยข้อกฎหมายนั้น เป็นการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาโดยขอให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป จึงเป็นการอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 ซึ่งตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ และจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้อง เห็นได้ว่าเป็นคำขอให้จำเลยที่ 2 ชนะคดีในประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์ดังข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอันเป็นข้อกฎหมายนั่นเอง กรณีจึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7182

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7182/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 288

การวางเงินเพื่อประกันความเสียหายตาม ป.วิ.พ.มาตรา 288วรรคสอง (1) มิได้บังคับให้ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องเสมอไป เพียงแต่มีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลโดยศาลอาจตรวจดูจากเอกสารในสำนวนรวมทั้งตัวคำร้องขอเอง ก็เพียงพอแล้วที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7179

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7179/2540

พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 ม. 2, 3

ตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ ส่วนการที่จะนำมาใช้ในท้องที่ใด เมื่อใดนั้นก็ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 บังคับสำหรับคดีที่เกิดขึ้นในบางท้องที่ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2532 บัญญัติให้นำมาใช้บังคับในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาได้ระบุให้ใช้เฉพาะในเขตหรืออำเภอเมืองบุรีรัมย์ คูเมือง นางรอง บ้านกรวด ประโคนชัยลำปลายมาศและสตึกเท่านั้น มิได้ระบุให้ใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่กิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์คดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ตำบลทองหลางกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ ในอันที่จะต้องนำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับด้วย การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเกินกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับโดยมิได้ผัดฟ้องหาได้ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกปัญหาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเกินกำหนดระยะเวลาโดยมิได้มีการผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องจากอัยการสูงสุดขึ้นวินิจฉัยโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7130

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7130/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438, 1001 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 167

โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ว. ขอไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจ จำเลยที่ 2 พนักงานของจำเลยที่ 1ไม่ตรวจสอบหลักฐานการมอบอำนาจ ร่วมกันยินยอมให้ ว. รับตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์ไปให้พนักงานฝ่ายตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คของธนาคารตามจำนวนเงินในตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยโดยระบุชื่อโจทก์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงินแล้วมอบให้ ว. ไป ว. ได้สลักหลังปลอมลายมือชื่อโจทก์ในเช็คแล้วนำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์ได้ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ในฐานะผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินต้องฟ้องภายใน 3 ปี นับแต่วันออกตั๋วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ข้างต้นเป็นการฟ้องเรียกเงินประกันตามตั๋วสัญญาใช้เงินคืนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มอบให้แก่ว. ไปโดยมิชอบอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องใช้เงินค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์โดยการคืนทรัพย์สิน ซึ่งโจทก์ต้องเสียไปเพราะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง ไม่ใช่ฟ้องเรียกเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยที่ 1 คืนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินอันโจทก์ต้องเสียไปเพราะละเมิดดังกล่าว ไม่มีบัญญัติอายุความไว้จึงมีกำหนด10 ปี ตามมาตรา 193/30

จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ซึ่งเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ยังคงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์อยู่ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเป็นว่าค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1494

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1494/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1359 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 174 (2), 243, 247,

การที่ผู้ร้องร้องขอปล่อยทรัพย์ทั้งหมดที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เท่ากับประโยชน์ที่ผู้ร้องร้องขอหรือได้รับคือราคาทรัพย์ทั้งหมดที่ยึดไว้ หาใช่เฉพาะส่วนที่ผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมไม่ ดังนั้น ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ทั้งหมดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน ต่อมาก่อนถึงกำหนด 15 วัน ตามคำสั่งดังกล่าว คือเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งเดิม ให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายใน 15 วันนับแต่วันนี้ โดยไม่มีการแจ้งคำสั่งนี้ให้ผู้ร้องทราบ ซึ่งเป็นการมีคำสั่งก่อนพ้นกำหนดเวลาตามคำสั่งเดิม จึงถือได้ว่าเป็นการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 แล้ว และให้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ซึ่งตามคำสั่งนี้ถือได้ว่ายังไม่มีวันเริ่มต้นชำระค่าขึ้นศาล ดังนั้น ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2538ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายใน 15 วัน ถือว่าทิ้งคำร้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มให้ครบถ้วนภายใน 7 วันนับแต่วันฟังคำพิพากษานี้ แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

« »
ติดต่อเราทาง LINE