คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368, 369, 680, 904
สัญญาขายลดเช็คเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งที่ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่ามีลักษณะหรือรูปแบบใดเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้การที่จำเลยที่1ออกเช็คให้ธนาคารและจำเลยที่1ได้รับเงินไปจากธนาคารจึงเป็นการขายลดเช็คตามที่ได้ตกลงกันไว้ได้ ธนาคารโจทก์สาขาส. และสาขาร. ต่างเป็นตัวแทนของโจทก์และตามสัญญาค้ำประกันระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่2ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อธนาคารโจทก์เท่านั้นหาได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่าเจตนาค้ำประกันหนี้จำเลยที่1ต่อโจทก์สาขาหนึ่งสาขาใดเลยฉะนั้นไม่ว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาขายลดเช็คต่อโจทก์สาขาใดก็ตามจำเลยที่2ผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2785/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 90, 91 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง
จำเลยครอบครองผงยาที่ใส่ซองบุหรี่นำมาจากที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต และยาจำนวนนี้เจ้าพนักงานผู้ตรวจพิสูจน์นำไปตรวจพิสูจน์รวมกับของกลางอีกจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อแยกธาตุแล้วไม่สามารถทราบได้โดยแน่ชัดว่ามีสารบริสุทธิ์ของอีเฟดรีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โจทก์ในประเภท 2 อยู่เป็นจำนวนเท่าใด จึงต้องฟังว่าอีเฟดรีนและมอร์ฟีนทีจำเลยครอบครองนั้นไม่สามารถคำนวณปริมาณที่แน่นอนได้ แม้เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบยา 3 เม็ดซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีน และผงยาในซองบุหรี่ซึ่งมีอีเฟดรีนและมอร์ฟีนจากจำเลย แต่เมื่อจำเลยไม่ทราบว่าผงยาของกลางมีมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วยดังนี้ จะถือว่าจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานมีมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายไม่ได้ เมื่อจำเลยขาดเจตนามีมอร์ฟีนดังกล่าวไว้ในครอบครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสาม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย คงฟังได้เพียงว่าจำเลยมีอีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น จำเลยที่ 3 เพิ่งนำผงยาสีน้ำตาลซึ่งมีอีเฟดรีนรวมอยู่ด้วยบรรจุอยู่ในซองบุหรี่มาจากบริเวณบ่อเลี้ยงที่เกิดเหตุ อันเป็นผงยาคนละจำนวนกับเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองอยู่แล้ว การกระทำของจำเลยที่มีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเป็นการกระทำที่มีเจตนาต่างกันกับที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ความผิดดังกล่าวจึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119, 153
มูลค่าหุ้นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระมีราคาเพียง75,000บาทจึงต้องถือว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียง75,000บาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2782/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1387, 1401
ภารจำยอมอาจเกิดจากการยินยอมอนุญาตให้ใช้ทางในเบื้องต้นก่อนต่อมาเมื่อเริ่มใช้ทางแล้วหากผู้ใช้ได้ใช้ทางนั้นในลักษณะเป็นการใช้โดยถือสิทธิเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของทางตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า10ปีโดยเจ้าของทางมิได้หวงห้ามหรือสงวนสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของตนทั้งแสดงว่าได้ยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนต่อสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของตนโ่ดยสมัครใจแล้วการใช้ทางดังกล่าวจึงทำให้เกิดสิทธิภารจำยอมโดยอายุความได้ดังนั้นแม้โจทก์ที่1และที่3จะเบิกความว่าได้ขออนุญาตต. และค.เดิมในทางพิพาทก็น่าจะมีความหมายว่าเป็นการขออนุญาตเดินในตอนแรกๆเท่านั้นเมื่อโจทก์ทั้งสี่ได้ใช้ทางพิพาทเป็นเวลา40-50ปีโดยไม่ปรากฎว่าต. และค.ห้ามปรามหรือขัดขวางการใช้ทางพิพาทหรือบอกสงวนสิทธิในทางพิพาทแต่ประการใดนอกจากนี้หลังจากจำเลยทั้งสองซื้อที่ดินมาจากต. แล้วก็มิได้หวงห้ามมิให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ทางพิพาทต่อไปแสดงว่าจำเลยทั้งสองได้ยอมรับสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ในการใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกไปสู่ทางสาธารณะพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสี่ในการใช้ทางพิพาทของจำเลยทั้งสองในลักษณะเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการใช้ในลักษณะที่เป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของทางพิพาทมิใช่เป็นการใช้ทางพิพาทโดยได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะตัวแต่อย่างใดเมื่อโจทก์ทั้งสี่ใช้ทางพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า10ปีแล้วโจทก์ทั้งสี่ย่อมได้ภารจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2776/2540
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 8 (5), 14
การที่จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้นเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวที่จำเลยนำสืบว่า ปัจจุบันห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งจำเลยค้ำประกันหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ยังประกอบกิจการค้ามีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 40,000,000บาท มาเป็นเหตุผลประกอบพยานหลักฐานอื่นของจำเลยว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่สามารถขวนขวายและมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายก็ตาม แต่ที่จำเลยอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. นั้น โจทก์ก็มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดแก่โจทก์โดยสิ้นเชิงโดยไม่ต้องคำนึงว่าหากลูกหนี้ร่วมคนอื่นชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยจะสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งหมดหรือไม่ เพราะการพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน จึงต้องพิจารณาเฉพาะตัวลูกหนี้ร่วมผู้นั้นว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมคนอื่นดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก็มิได้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด จึงนำมาเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหาได้ไม่เมื่อจำเลยได้รับเงินเดือนจากบริษัท 3 แห่ง แห่งละ 6,000 บาท แต่เงินเดือนดังกล่าวก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของจำเลยเดือนละ 3,000 บาท ส่วนที่เหลือให้แก่ภริยาและบุตร จึงไม่มีเงินเดือนเหลือชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ ศาลชอบที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362, 365 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 174, 226
การที่จะพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นครอบครองอยู่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362,365หรือไม่นั้นจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เข้าไปหรือใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายจำเลยเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยไม่มีสิทธิหรือไม่ซึ่งศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบเป็นสำคัญภาพถ่ายที่โจทก์นำสืบเพื่อให้ศาลเห็นว่าขณะที่ผู้เสียหายถูกจำเลยลากตัวไปยังบ้านของจำเลยปรากฏชัดแจ้งว่าผู้เสียหายยืนอยู่ณจุดใดภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายศาลก็ชอบที่จะใช้ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดฐานบุกรุกได้ข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยกระชากลากตัวผู้เสียหายออกมาจากบริเวณบ้านของผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายยืนอยู่บริเวณใต้ชายคาบ้านของผู้เสียหายดังที่ปรากฏในภาพถ่ายเท่ากับจำเลยยอมรับว่าจุดที่ผู้เสียหายยืนอยู่ในขณะที่ผู้เสียหายถูกจำเลยกระชากลากตัวไปอยู่ภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายตามที่ปรากฏในภาพถ่ายจากจุดที่ผู้เสียหายยืนอยู่ดังนี้การที่จำเลยจะกระชากลากตัวผู้เสียหายให้ออกไปจากบริเวณบ้านของผู้เสียหายได้แม้จำเลยจะยืนอยู่นอกบริเวณบ้านของผู้เสียหายแต่จำเลยก็จะต้องเอื้อมมือเข้าไปภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายเพื่อจับและฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายออกไปการเอื้อมมือเข้าไปฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายออกไปในลักษณะนี้ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขโดยใช้กำลังประทุษร้ายเข้าองค์ประกอบแห่งความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362และมาตรา365(1)แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 425, 438
พ. และค. ลูกจ้างของจำเลยที่4และที่5นำรถยนต์กระบะของนายจ้างออกไปนอกสถานที่ทำการจนกระทั่งถึงที่เกิดเหตุรถชนกันโดยก่อนเกิดเหตุ1วันพ. ได้ขอยืมรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากหัวหน้าช่างของจำเลยที่4ออกไปข้างนอกเพื่อซื้อก๋วยเตี๋ยวรับประทานการรับประทานอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพให้มีชีวิตอยู่มีกำลังในการทำงานถึงแม้จำเลยที่4มีระเบียบว่าเมื่อเลิกงานแล้วคนงานจะออกไปจากที่ก่อสร้างไม่ได้และผู้มีหน้าที่ขับและเก็บรักษารถจะนำรถไปใช้หลังจากเลิกงานแล้วไม่ได้ก็ตามก็เป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยที่4กับพนักงานการที่พ. กับพวกซื้อก๋วยเตี๋ยวไม่ได้จึงได้ไปรับประทานอาหารในเขตจังหวัด1ชั่วโมงต่อจากนั้นจึงได้พากันไปที่บ้านว. ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่ก่อสร้าง60กิโลเมตรจึงยังเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบของการอนุญาตของหัวหน้าช่างผู้มีสิทธิอนุญาตให้นำรถไปใช้แทนจำเลยที่4ซึ่งเป็นนายจ้างอันถือได้ว่าจำเลยที่4ร่วมรู้เห็นในการให้พ. นำรถออกไปใช้ดังกล่าวด้วยการที่พ. นำรถออกไปใช้ดังกล่าวเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่4จำเลยที่4ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่5ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดอันเกิดจากการนำรถไปกระทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย โจทก์ได้จ่ายเงินให้บิดามารดาของผู้ตายไปคนละ3,000บาทรวม6,000บาทเป็นการจ่ายให้ไปเพื่อมนุษยธรรมจึงเป็นเรื่องการจ่ายให้เปล่าไม่ต้องการผลตอบแทนกรณีจึงเป็นเรื่องให้โดยเสน่หาของโจทก์เองมิใช่เป็นเรื่องค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินในส่วนนี้จากผู้กระทำละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 651/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1367 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ม. 4
ตามคำฟ้องโจทก์นอกจากจะกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการทำเหมืองแร่โดยรับโอนสิทธิตามประทานบัตรแล้วยังได้กล่าวอ้างมาด้วยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อหรือรับโอนมาจากเจ้าของที่ดินเดิมอีกด้วยดังนี้สิทธิตามประทานบัตรซึ่งเป็นสิทธิในการทำเหมืองแร่นั้นเป็นสิทธิที่จะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510อันแตกต่างกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นสิทธิคนละส่วนแยกต่างหากจากกันได้หาใช่ว่าหากผู้ใดมีสิทธิตามประทานบัตรแล้วจะไม่อาจมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามประทานบัตรนั้นได้เลยมิฉะนั้นจะมีผลเป็นว่าผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงใดโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แต่เดิมแล้วหากต่อมาได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในที่ดินแปลงดังกล่าวจะทำให้สิทธิครอบครองซึ่งมีอยู่เดิมก่อนแล้วต้องหมดสิ้นไปด้วย ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิครอบครองได้โอนการครอบครองติดต่อกันมาจนถึงโจทก์ซึ่งรับโอนทั้งสิทธิครอบครองตามประทานบัตรจากบริษัทช. และโจทก์ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1367แม้ประทานบัตรของโจทก์หมดอายุแล้วก็หามีผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสิทธิคนละส่วนกันแต่อย่างใดไม่การที่จำเลยและบริวารบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านในที่ดินพิพาทจึงเป็นการรบกวนการครอบครองอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่ดินพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (12), 22 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (22), 71, 88
ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อจำเลยถูกขังในคดีหนึ่งแล้วจะถูกขังในคดีอื่นอีกไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณา ตามหมายขังเลขที่ 16/2539 ลงวันที่ 16 มกราคม 2539 ในคดีนี้ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นและขณะที่จำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำในคดีอื่น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลให้จำเลยถูกขังในคดีนี้ตามหมายขังดังกล่าวของศาลชั้นต้นนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2539 เป็นต้นมา ทำนองเดียวกับการที่จำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 คดีพร้อมกัน หากศาลมิได้กล่าวในคำพิพากษาว่าให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากอีกคดีหนึ่ง ก็ต้องนับโทษจำคุกของจำเลยในทั้งสองคดีไปพร้อมกัน และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 88 ที่บัญญัติว่า นับแต่เวลายื่นฟ้องจำเลยที่ต้องขังตามหมายศาล ๆ จะขังจำเลยต่อไปหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 71 วรรคสี่ที่บัญญัติว่า หมายขังคงใช้ได้อยู่จนกว่าศาลจะได้เพิกถอนโดยออกหมายปล่อยหรือออกหมายจำคุกแทน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นคงขังจำเลยไว้ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่าระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นกรณีที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา สามารถหักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่งได้ การที่ศาลชั้นต้นหักวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาและเห็นว่าจำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว จึงให้ปล่อยตัวไปนั้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/17, 680 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94 (1)
เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาค้ำประกันห้างหุ้นส่วนช. ต่อเทศบาลเมืองสุรินทร์โดยลูกหนี้ที่1ทำสัญญาค้ำประกันห้างหุ้นส่วนช. ไว้กับเจ้าหนี้ต่อมาห้างหุ้นส่วนช.ผิดสัญญาต่อเทศบาลเมืองสุรินทร์เจ้าหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงชำระหนี้แก่เทศบาลเมืองสุรินทร์ไปเมื่อวันที่18กุมภาพันธ์2523จากนั้นเจ้าหนี้ได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนช. กับลูกหนี้ที่1ให้ชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ชำระหนี้แก่เทศบาลเมืองสุรินทร์ไปซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ห้างหุ้นส่วนช.ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้ได้จ่ายให้แก่เทศบาลเมืองสุรินทร์ และให้ยกฟ้องสำหรับลูกหนี้ที่1แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความเมื่อลูกหนี้ที่1ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่1ดังนี้ต้องถือว่าอายุความในส่วนที่เกี่ยวกับลูกหนี้ที่1ไม่เคยสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/17วรรคหนึ่งเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่4มีนาคม2534ซึ่งล่วงพ้นกำหนด10ปีนับแต่วันที่18กุมภาพันธ์2523ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหนี้ได้ชำระหนี้แก่เทศบาลเมืองสุรินทร์และเป็นวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกับลูกหนี้ที่1ได้เป็นต้นไปสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา94(1)