คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14, 193/15, 193/24, 193/29, 295, 448 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 59

โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในปี2534ก่อนที่จำเลยจะยอมรับผิดและทำหนังสือรับสภาพหนี้ในวันที่3กันยายนปีเดียวกันการที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็เป็นเพียงเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/14วรรคหนึ่งอนุมาตรา1เท่านั้นหาใช่เป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา193/24อันจะทำให้จำเลยไม่อาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่เพราะการสละประโยชน์แห่งอายุความจะกระทำได้ก็ต่อเมื่ออายุความครบกำหนดแล้วแม้การทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นผลให้ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความแต่การรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ได้สิ้นสุดในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้คือวันที่3กันยายน2534นั้นเองจึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ในวันเดียวกันตามมาตรา193/15วรรคสองเมื่อนับจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่29มิถุนายน2537ซึ่งเป็นวันฟ้องพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา448วรรคหนึ่งและเนื่องจากจำเลยที่2ได้ยกอายุความเรื่องนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ศาลจึงอ้างเอาอายุความดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องได้ตามมาตรา193/29 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ในมูลละเมิดอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้แม้จำเลยที่1จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แต่จำเลยที่2ผู้เป็นคู่ความร่วมกันได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยจำเลยที่2ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่1ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา59ที่ศาลพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่1จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850, 852, 1750, 1612 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 81. กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

บันทึกที่จ. ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินใจความว่าที่ดินพิพาทมีชื่อฉ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ซึ่งได้ตายไปแล้ววันนี้(วันที่2ธันวาคม2530)ทายาทของผู้ตายคือจำเลยได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของฉ. จ.ได้รับทราบเรื่องราวและประกาศขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้โดยตลอดแล้วจ. เป็นทายาทของผู้ตายมีสิทธิที่จะได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้ด้วยแต่จ. ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้แต่อย่างใดและยินยอมให้จำเลยเป็นผู้ขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้แต่เพียงผู้เดียวเช่นนี้ถ้อยคำของจ.เป็นบันทึกที่เจ้าพนักงานที่ดินปฏิบัติไปตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา81ประกอบกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่24(พ.ศ.2516)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2497ซึ่งถ้อยคำของจ. ดังกล่าวไม่ใช่กรณีทายาทสละมรดกตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1612เพราะการสละมรดกตามมาตรานี้หมายถึงการสละส่วนหนึ่งของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใดแต่บันทึกถ้อยคำของนายจำรัสดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา850,852และ1750ทั้งตามโฉนดที่ดินพิพาทก็ปรากฏว่าระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนเสร็จสิ้นอันถือได้ว่าจำเลยผู้มีชื่อในโฉนดได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยสมบูรณ์ตามกฎหมายที่ดินแล้วโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของจ. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินแปลงนี้จากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 359, 361, 366 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

โฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยที่16เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวทั้งๆที่คณะกรรมการสวัสดิการการหลังงานแห่งชาติเป็นเจ้าของอยู่ด้วยครึ่งหนึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ทราบแน่นอนว่าที่ดินส่วนใดเป็นของคณะกรรมการดังนั้นในเบื้องต้นที่โจทก์ทั้งสองมีหนังสือเสนอขอซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาททั้งแปลงจำนวน41ไร่12ตารางวาจากคณะกรรมการไปยังคณะกรรมการนั้นโจทก์ทั้งสองก็ยังไม่รู้ว่าที่ดินส่วนใดในโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการคงได้แต่เสนอราคาและเงื่อนไขการจ่ายเงินซึ่งเมื่อคณะกรรมการได้รับคำเสนอของโจทก์ทั้งสองแล้วคณะกรรมการได้มีหนังสือเอกสารหมายจ.3ตอบมายังโจทก์ทั้งสองว่าตกลงขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของคณะกรรมการจำนวน20ไร่206ตารางวาให้โจทก์ทั้งสองโดยมีเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญว่า"เมื่อได้ทำสัญญาตกลงซื้อขายกันแล้วขอให้ชำระเงินทั้งหมดและผู้ขายจะได้ดำเนินการโอนโฉนดที่ดินให้พร้อมกันทันทีจึงเรียนมาเพื่อทราบและหากท่านมีความประสงค์จะซื้อที่ดินดังกล่าวขอให้แจ้งคณะกรรมการสสพช.ทราบ"ซึ่งเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือเอกสารหมายจ.3ดังกล่าวแล้วโจทก์ทั้งสองได้ตอบไปยังคณะกรรมการซึ่งมีสารสำคัญว่า"ข้าพเจ้ามีรายนามข้างท้ายนี้ยินดีตกลงซื้อที่ดินในส่วนของคณะกรรมการสสพช.จำนวน20ไร่206ตารางวาตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการสสพช.แจ้งมาดังมีรายละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึงข้อ2.โดยขอให้คณะกรรมการสสพช.แบ่งโฉนดที่ดินหมายเลข287จำนวน41ไร่12ตารางวาเป็น2ส่วนเท่าๆกันตามความยาวของพื้นที่โดยข้าพเจ้ายินดีจะรับซื้อที่ดินในส่วนของคณะกรรมการสสพช.แปลงที่แบ่งเท่าๆกันแล้วตามความยาวของพื้นที่แปลงใดก็ได้ตามแต่คณะกรรมการสสพช.จะแจ้งขายให้ข้าพเจ้าโดยข้าพเจ้ายินดีวางเงินมัดจำในการตกลงซื้อขายก่อนจำนวน100,000บาทและในวันโอนที่ดินดังกล่าวข้าพเจ้าจะจ่ายเงินสดส่วนที่เหลือทั้งหมดทันทีจึงเรียนมาเพื่อทราบและขอได้โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบวันนัดหมายในการตกลงซื้อขายที่ดินในส่วนของคณะกรรมการสสพช.จำนวน20ไร่206ตารางวาให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป"ตามหนังสือเอกสารหมายจ.4ดังกล่าวแสดงว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเพื่อให้ได้เนื้อที่ครึ่งหนึ่งเป็น2ส่วนเท่าๆกันก่อนแล้วจึงจะมีการตกลงทำสัญญาซื้อขายและชำระเงินค่าซื้อที่ดินทั้งหมดต่อกันนั้นเป็นสาระสำคัญที่คณะกรรมการกับโจทก์ทั้งสองตกลงกันหนังสือเอกสารหมายจ.4จึงยังไม่เป็นคำสนองที่ตรงกับคำเสนอตามหนังสือเอกสารหมายจ.3แต่อย่างใดส่วนหนังสือเอกสารหมายจ.9ที่คณะกรรมการตอบมายังโจทก์ทั้งสองนั้นเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบว่าคณะกรรมการไม่อาจแบ่งแยกโฉนดที่ดินได้จึงขอยกเลิกคำเสนอขอซื้อที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองเสียให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้นและหนังสือลงวันที่29พฤษภาคม2533ของคณะกรรมการเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข11ก็เป็นเพียงแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าหากคดีที่คณะกรรมการฟ้องผู้บุกรุกที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทสิ้นสุดลงเมื่อใดและโจทก์ทั้งสองยังสนใจจะซื้อที่ดินดังกล่าวต่อไปก็ให้เสนอราคาขึ้นมาใหม่เท่านั้นจึงไม่ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่ประกอบให้รับฟังว่าคำเสนอและคำสนองของทั้งสองฝ่ายตรงกันจนเกิดเป็นสัญญาขึ้นแล้วแต่อย่างใดฉะนั้นเมื่อยังไม่มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินและทำสัญญาซื้อขายกันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับคณะกรรมการอันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาที่คู่สัญญายังไม่อาจตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใดสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับคณะกรรมการจึงยังไม่เกิดขึ้นหรือยังมิได้มีต่อกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา366โจทก์ทั้งสองจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องคณะกรรมการและจำเลยที่1กับจำเลยที่16ให้ปฏิบัติตามหนังสือเอกสารหมายจ.4ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 69, 193/30, 366, 563, 572 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 (1), 5

ศ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญาเช่าซื้อและหนังสือค้ำประกันได้ทำหนังสือสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไปให้จำเลยทั้งสองลงชื่อต่อหน้าศ.ที่จังหวัดระนองเสร็จแล้วจึงนำกลับไปให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีอันเป็นจังหวัดที่โจทก์มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ดังนั้นสัญญาเช่าซื้อซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายย่อมสมบูรณ์ทันทีที่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อปรากฏว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่พิพาทที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาของโจทก์ดังนี้ต้องถือว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ในการทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา69และจังหวัดสุราษฎร์ธานีย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีนี้เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตามสัญญาเช่าซื้อที่พิพาทต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4(1)และมาตรา5 อายุความ6เดือนนับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา563ต้องเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายที่เกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้อยู่หรือเป็นกรณีเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์อยู่คดีนี้ได้ความว่าหลังจากโจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืนได้แล้วได้นำรถไปขายทอดตลาดเมื่อนำเงินที่ขายทอดตลาดได้ไปหักออกจากเงินลงทุนแล้วเงินยังขาดอยู่ดังนี้เงินที่ยังขาดอยู่นี้เกิดขึ้นหลังจากเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วและเป็นราคารถที่ยังขาดอยู่กรณีไม่ต้องด้วยอายุความหกเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา563แต่ต้องใช้อายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 572 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 (1), 5

สัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือซึ่งต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมิฉะนั้นจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา572วรรคสองดังนั้นแม้มีการจัดทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อให้จำเลยที่1ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดลพบุรีแล้วแต่ยังไม่มีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อจึงยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์เมื่อมีการส่งสัญญาดังกล่าวไปให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในนามผู้ให้เช่าซื้อที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ในท้องที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อให้สัญญาครบถ้วนบริบูรณ์เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่ทำสัญญาฉบับนี้อันเป็นสถานที่ที่มูลคดีนี้เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่1ผู้เช่าซื้อและจำเลยที่2ผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดในมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4(1)และมาตรา5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 84, 142, 150, 172, 302 ประมวลรัษฎากร ม. 50 (5) พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 ม. 3 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 9, 10, 11, 21, 26 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ.2530 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ซึ่งขณะนั้นคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นดังนั้นการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ผู้ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จเด็ดขาดในขณะที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณากำหนด เงินค่าทดแทนโดยอาศัยกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ ที่แก้ไข ใหม่ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ที่ให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้ มิต้องพิจารณาเฉพาะมาตรา 21(2) หรือ (3) ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ และ ไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมี คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขราคาค่าทดแทนโดยความเห็นขอบของ คณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ ดังนั้น การที่การทางพิเศษแห่ง ประเทศไทยจำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยคำนึงถึงเฉพาะ (2) และ (3) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินโดยไม่ได้คำนึง ถึงมาตรา 21(1)(4) และ (5) ประกอบด้วย จึงยังไม่เป็นธรรม แก่โจทก์ ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินในส่วน ที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์โดยได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21(1) ถึง (5) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ ทั้งสองและสังคมนั้นเป็นการถูกต้องแล้ว เมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่า ต้นไม้ของโจทก์จะให้ผลประโยชน์ประมาณปีละ 9,000 บาท ขอคิดค่าเสียหาย 5 ปีเป็นเงิน 45,000 บาท โดยไม่ได้นำสืบว่าต้นไม้ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตาม ที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา เป็นจำนวนเงินเท่าใดการที่จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ โดยคำนวณ ตามหลักเกณฑ์ที่กรมส่งเสริมพืชพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว โจทก์ผู้ถูกเวนคืนได้รับเงินค่าทดแทนก่อนการบังคับใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 184(พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 126(พ.ศ. 2509) และฉบับที่ 182(พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยกำหนดว่าเงินได้พึงประเมินประเภทเงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปี 2532 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนในปี 2531 จำเลยที่ 1 จึงต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินค่าทดแทนที่จ่ายแก่โจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50(5) โจทก์จึงเรียกคืนภาษีเงินได้ นั้นไม่ได้ เงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัย หรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามวรรคท้ายของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ต้องเป็นความเสียหายโดยตรงอันเนื่องมาจากการที่ต้องออกจาก อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนแต่ดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมที่ โจทก์อ้างว่าเพื่อนำใช้ปลูกบ้านใหม่นั้นมิใช่ความเสียหาย โดยตรงอันเกิดจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จึงชอบแล้ว ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ในฐานะดังกล่าวจำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการ กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ และวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างทางพิเศษจำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และการดำเนินการ เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และ วัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 2 ตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่อง ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ข้อ 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการ ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 โดยพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และบัญญัติ อำนาจหน้าที่นี้ของจำเลยที่ 2 ไว้ในมาตรา 19 ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่าการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือ กิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืน ได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน และวรรคสามที่บัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือ นั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ เมื่อการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้ว หากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียว ในทางตรงกันข้ามหากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้ว หากผู้ถือเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21วรรคหนึ่งที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่งเท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามเป็นอันใช้ไม่ได้ เดิมที่ดินของโจทก์ก่อนถูกเวนคืนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังถูกเวนคืนแล้วคงเหลือเนื้อที่ 73 ตารางวาเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู โดยมีด้านหนึ่งเป็นรูปเรียวแหลม และเมื่อทางพิเศษตัดผ่านซึ่งเป็นทางสัญจรของรถยนต์ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและควันจากท่อไอเสีย ทำให้สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี ย่อมต้องเสื่อมราคาลงตามสภาพดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนในส่วนนี้ด้วย แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเงินฝากประเภทฝากประจำในวันที่มีการจ่ายมีอัตราเท่าไรและจะต้องคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าไรเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีก็ตามแต่หากโจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มให้ครบถ้วนได้ และแม้การที่ศาลชั้นต้นมิได้เรียกค่าขึ้นศาลไว้ให้ครบเป็นการคลาดเคลื่อน ก็คงทำให้ผิดพลาดเฉพาะในการเรียกค่าธรรมเนียมศาลขาดเท่านั้นแต่หาได้กระทบถึงกระบวนพิจารณาอื่น ๆ หรือทำให้คำพิพากษาไม่มีผลบังคับแต่อย่างใดไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน2531 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 16 มีนาคม 2532 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ส่วนช่วงเวลาใดมีอัตราดอกเบี้ยที่ต้องใช้ในการคำนวณอัตราเท่าใด เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการในชั้นบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง,

จำเลยผู้รับประกันวินาศภัยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ก่อวินาศภัยอันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุการณ์นั้นแต่เมื่อคำฟ้องบรรยายเพียงว่าจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกทั้งสองคันที่ไปก่อนเหตุวินาศภัยขึ้นโดยมิได้บรรยายถึงบุคคลผู้เอาประกันที่ต้องผูกพันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเบื้องต้นอันเป็นนิติสัมพันธ์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จะเป็นเหตุให้จำเลยต้องร่วมรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายเช่นนี้เป็นคำฟ้องที่มิได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นจึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม โจทก์เพียงแต่ขอให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่มิได้ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียงศาลละ200บาทตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตาราง1ข้อ2(ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 238, 241 พระราชบัญญัติการพนัน ม. 12

แม้โพยสลากกินรวบเป็นภาพถ่ายจากเครื่องถ่ายเอกสารไม่ใช่ต้นฉบับ แต่ภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกความจำเกี่ยวกับการเล่นการพนันสลากกินรวบมีจำนวนถึง656 แผ่นและมีลักษณะเหมือนเป็นโพยสลากกินรวบที่คนเดินโพยหรือเจ้ามือเป็นผู้ทำเพื่อส่งต่อให้เจ้ามือเหนือขึ้นไปอีกทอดหนึ่งจึงต้องถ่ายสำเนาเก็บไว้เป็นหลักฐาน แม้จะรับฟังเป็นพยานเอกสารไม่ได้ แต่ก็ฟังได้ว่าเป็นพยานวัตถุเกี่ยวแก่การเล่นการพนัน แม้โพยสลากกินรวบจะลงวันที่ 20 มีนาคม 2537 โดยไม่มีฉบับใดลงวันที่ 1 เมษายน2537 ก็ตาม แต่การเล่นการพนันสลากกินรวบครั้งเกิดเหตุนี้เจ้ามือผู้รับกินรับใช้ถือเอาผลการออกสลากกินแบ่งของรัฐบาลประจำงวดวันที่ 1 เมษายน 2537 เป็นเลขถูกสลากกินรวบและลูกค้าผู้เข้าเล่นจะได้รับสินพนัน ดังนั้น การที่มีผู้แทงหรือผู้เข้าเล่นล่วงหน้าเป็นเวลาสิบวันจึงเป็นเรื่องปกติวิสัยหาเป็นเรื่องน่าระแวงสงสัยแต่อย่างใด

แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นภริยาจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 ก็เปิดร้านเสริมสวยซึ่งเป็นธุรกิจของตนเองอยู่คนละชั้นกับจำเลยที่ 3 แยกเป็นสัดส่วนต่างหากจากกัน และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขณะถูกจับอยู่อาคารเดียวกันแต่คนละชั้นกันจะถือว่าจำเลยที่ 1 ถูกจับในที่เกิดเหตุไม่ได้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3

แม้จำเลยที่ 3 จะฎีกาว่าการเล่นการพนันสลากกินรวบ จะต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ประกอบด้วยผู้เข้าเล่นกับเจ้ามือรับกินรับใช้หรือผู้เดินโพย จึงจะถือว่าเป็นการเล่นการพนันสลากกินรวบได้ และในการจับโพยสลากกินรวบได้ที่จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีบุคคลที่จะเป็นผู้เข้าเล่นด้วยก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่า ส่วนพวกที่หลบหนีเป็นผู้เข้าร่วมเล่น แสดงว่าผู้จัดให้มีการเล่นและผู้เข้าเล่นอยู่ห่างกันโดยระยะทาง จึงไม่สามารถจับกุมได้ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว

แม้จำเลยที่ 3 มีอาชีพเป็นหลักแหล่งและไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าสำนักและเจ้ามือสลากกินรวบ ยอดจำนวนเงินที่ปรากฏในการเล่นสลากกินรวบมีจำนวนมากถึง 4,801,152 บาท แสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้ามือรายใหญ่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง อีกทั้งการพนันสลากกินรวบเป็นสิ่งมอมเมาและเป็นอบายมุขที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของบ้านเมือง การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 222, 237 พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ม. 11, 28

ตามสัญญาซื้อข้าวเอกสารหมายจ.4และร.5ได้วางข้อกำหนดและเงื่อนไขไว้ว่าสัญญานี้ทำขึ้นโดยให้ใช้ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปตามที่ระบุในสัญญาของสมาคมกาฟต้าเลขที่119ยกเว้นในส่วนที่ได้กำหนดไว้ในสัญญานี้เป็นอย่างอื่นทั้งผู้ซื้อ(ผู้ร้อง)และผู้ขาย(ผู้คัดค้าน)ได้ยอมรับโดยชัดแจ้งซึ่งข้อกำหนดเรื่องการประนีประนอมยอมความรวมทั้งข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่125ของสมาคมกาฟต้าด้วยผู้คัดค้านได้รับสัญญาเอกสารหมายร.4และร.5จากผู้ร้องก่อนจะส่งมอบข้าวที่ขายให้แก่ผู้ร้องแสดงว่าผู้คัดค้านได้ทราบและยอมรับจะปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาทั้งสองฉบับแล้วและตามข้อกำหนดทั่วไปของสัญญาซื้อขายของสมาคมกาฟต้าเอกสารหมายร.6ข้อ29มีใจความว่าหากมีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งใดๆซึ่งเกิดจากหรือภายใต้สัญญาดังกล่าวให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามนัยกฎข้อบังคับเลขที่125ของสมาคมกาฟต้าฉบับที่ใช้อยู่ในวันทำสัญญากฎข้อบังคับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและเป็นกฎข้อบังคับที่ถือว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายรับทราบอยู่แล้วนอกจากนั้นทางสมาคมกาฟต้าก็เคยรับรองกับผู้ร้องว่ากฎข้อบังคับของสมาคมเลขที่125สามารถใช้บังคับตามสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้เมื่อมีข้อพิพาทตามสัญญาเอกสารหมายร.4และร.5เกิดขึ้นผู้ร้องได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบว่าจะเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดโดยผู้ร้องเสนออ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องแต่ผู้เดียวผู้คัดค้านจะยอมรับหรือไม่หรือจะแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการอีกคนแต่ผู้คัดค้านไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบผู้ร้องจึงร้องขอให้สมาคมกาฟต้าแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายผู้คัดค้านทางสมาคมได้แต่งตั้งอ. เป็นอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายผู้คัดค้านซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามเงื่อนไขของข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่125ข้อ3.7และทางสมาคมได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแล้วการแต่งตั้งอ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านจึงชอบแล้วและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2530 ในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านต่อสู้คดีของผู้ร้องและร้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากผู้ร้องต่ออ. การยื่นเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเพียงการโต้แย้งการดำเนินการของอนุญาโตตุลาการเนื่องจากผู้คัดค้านยื่นคำร้องแย้งเรียกค่าเสียหายด้วยแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านต้องการให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านพร้อมกับข้อเรียกร้องของผู้ร้องพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้คัดค้านยอมรับอ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านแล้ว ตามสัญญาซื้อขายข้าวมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่125ของสมาคมกาฟต้า โดยผู้คัดค้านได้ทราบและยอมรับจะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับดังกล่าวด้วยดังนั้นเมื่อมีข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายข้าวเกิดขึ้นและผู้ร้องได้ยื่นข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดจึงเป็นการกระทำไปตามเงื่อนไขข้อตกลงของคู่สัญญาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงใช้บังคับผู้คัดค้านได้เมื่อสมาคมกาฟต้าแต่งตั้งให้อ. เป็นอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายผู้คัดค้านแล้วสมาคมได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบพร้อมกับแจ้งว่าหากผู้คัดค้านประสงค์จะเข้าฟังการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านติดต่อกับอ.เพื่อทราบวันและเวลาดังกล่าวแต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้แสดงความประสงค์จะเข้าฟังการพิจารณาต่ออ. แต่อย่างใดผู้คัดค้านเพียงแต่ยื่นคำคัดค้านต่อสู้คดีไปยังอ. เท่านั้นต่อมาประธานอนุญาโตตุลาการสอบถามไปยังผู้ร้องและผู้คัดค้านว่าจะส่งเอกสารเพิ่มเติมอีกหรือไม่แสดงว่าทางอนุญาโตตุลาการได้เปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านเข้าฟังการพิจารณาและนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีได้ก่อนที่จะชี้ขาดข้อพิพาทแล้วและเมื่ออนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยข้อพิพาทโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งให้เหตุผลในการชี้ขาดข้อพิพาทเป็นที่เข้าใจดีและถูกต้องแล้วจึงไม่มีเหตุให้ฟังได้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำการเข้าข้างฝ่ายผู้ร้องโดยไม่สุจริต ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้อนุญาโตตุลาการที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันไว้ก่อนเกิดข้อพิพาทตามเอกสารหมายร.4และร.5และตามกฎหมายประเทศอังกฤษได้แก่พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรมค.ศ.1982บัญญัติไว้ว่าหากอนุญาโตตุลาการเห็นสมควรอาจชี้ขาดให้ชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสมการที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ12ต่อปีซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจไปตามขอบเขตของกฎหมายกรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่สุจริตและขัดต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยถึงวันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทเท่านั้นเมื่อผู้ร้องไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองการที่ผู้ร้องเพียงแต่ทำคำแก้ฎีกาในทำนองขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยเพิ่มจนถึงวันที่ผู้คัดค้านชำระเงินให้ผู้ร้องเสร็จตามคำร้องของผู้ร้องจึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2546

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2546/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382

การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่จำเป็นว่าผู้ครอบครองจะต้องไม่รู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น

« »
ติดต่อเราทาง LINE