คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
ผู้ร้องในฐานะผู้ให้เช่าซื้อร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางที่ศาลสั่งริบเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ เพื่อให้ผู้เช่าซื้อได้รับรถยนต์บรรทุกของกลางคืนไปหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ร้องเองไม่ จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446/2543
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ม. 27, 264 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ม. 46 ทศ
ผู้ต้องหาถูกธนาคารแห่งประเทศไทยร้องทุกข์กล่าวโทษว่าร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคาร ก. เฉพาะที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องเป็นจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 2 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาทและมีการขยายผลเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาอีกหลายคดี รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท เป็นเหตุให้ธนาคาร ก. ต้องปิดกิจการลงในที่สุดกรณีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความล่มสลายของสถาบันการเงินอื่นและระบบเศรษฐกิจของประเทศ หลังเกิดเหตุแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาเพื่อนำมาชดเชยความเสียหาย ปรากฏว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหาที่ติดตามอายัดได้เป็นจำนวนเล็กน้อย ไม่อาจทดแทนความเสียหายที่ผู้ต้องหากับพวกก่อให้เกิดขึ้นได้ผู้ต้องหาเป็นน้องภริยาของ ร. ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีทุจริตยักยอกทรัพย์ของธนาคาร ก. และ ร. ได้หลบหนีคดีไปอยู่ที่ประเทศ แคนาดา การอนุญาตให้ผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักรอาจเป็นช่องทางให้ผู้ต้องหาหลบหนีคดีเช่นเดียวกับ ร. ญาติของผู้ต้องหาได้ผู้ต้องหาอ้างเหตุในคำร้องที่ขออนุญาตออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปเป็นพยานให้ ร. ต่อศาลสูงแห่งมลรัฐ บริติชโคลัมเบีย ประเทศ แคนาดา ในคดีที่ ร. ถูกฟ้องในข้อหาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งทางการไทยได้ขอตัว ร. มาดำเนินคดีในประเทศไทย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักรตามคำร้องของผู้ต้องหาได้
ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคาร ก. การห้ามมิให้ผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักร เป็นขั้นตอนและวิธีการที่จะได้ตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายบัญญัติ การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505มาตรา 46 ทศ วรรคสี่ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299 วรรคสอง, 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148
ผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองที่พิพาททั้งสามแปลงไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ปี 2518 ตลอดมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเวลาเกินสิบปีแล้ว และเมื่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ซื้อที่พิพาททั้งสามแปลงจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลฟ้องขับไล่ผู้ร้องทั้งสองออกจากที่พิพาทดังกล่าว ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันผู้คัดค้านและผู้ร้องทั้งสอง ซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของคดีดังกล่าวให้ฟังได้ว่าผู้คัดค้านซื้อที่พิพาททั้งสามแปลงโดยไม่สุจริต แม้ผู้ร้องทั้งสองจะยังไม่จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่พิพาททั้งสามแปลง ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้คัดค้านได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
คดีนี้ไม่เป็นการร้องขอซ้ำกับคดีของศาลชั้นต้นที่ผู้คัดค้านฟ้องผู้ร้องทั้งสองเรื่องละเมิดและขับไล่ออกจาก ที่พิพาท เพราะคดีดังกล่าวแม้ผู้ร้องทั้งสองจะฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาททั้งสามแปลง แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและมิได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว โดยถือว่าผู้ร้องทั้งสองสละประเด็นแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน กรณีจึงยังมิได้มีการวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาททั้งสามแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1412/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1516 (3), 1516 (4/2)
เหตุฟ้องหย่าอันที่มิใช่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 นั้นโจทก์ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตนไม่สมควรหรือกระทำการอันเข้าเงื่อนไขที่มาตรา 1516 ได้ระบุไว้นอกจากอนุมาตรา(4/2) ส่วนเหตุฟ้องหย่าที่เกิดจากความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ต้องเกิดจากความสมัครใจโดยแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย มิใช่สมัครใจเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น หากพฤติการณ์แห่งคดีมิได้เป็นไปดังที่ได้กล่าวมาทั้งสองกรณีนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย แม้ว่าจะมิได้อยู่ร่วมกันหรือไม่มีเยื่อใยต่อกัน และไม่มีความหวังที่จะคืนดีกันอีกแล้วก็ตาม
แม้จะถูกฟ้องหย่าหลายครั้ง จำเลยก็ไม่เคยคิดที่จะฟ้องหย่าโจทก์หรือมีความประสงค์ที่จะหย่าขาดจากโจทก์แต่อย่างใด รวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติกรรมในทำนองชู้สาวกับชายอื่นหรือนอกใจโจทก์ ตรงข้ามกับโจทก์ซึ่งมีพฤติกรรมอันส่อแสดงว่านอกใจจำเลยและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา จึงเป็นเหตุที่ทำให้จำเลยต้องทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยและสำนักราชเลขาธิการ รวมทั้งทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อบิดาและมารดาของหญิงที่ยุ่งเกี่ยวกับสามีของตน ตลอดจนฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นด้วย การที่จำเลยต้องกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ในหนังสือร้องเรียนและเบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงนั้นแม้ถ้อยคำบางคำอาจเกินเลยและรุนแรงไปบ้างก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวด้วยความหึงหวงในตัวสามีอันเป็นธรรมชาติของภริยาโดยทั่วไป ทั้งเป็นการกล่าวโดยสุจริต โดยชอบธรรมเพื่อป้องกันส่วนได้เสียตามคลองธรรม จึงมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดังนั้น ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงอันต้องด้วยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) อีกทั้งพฤติการณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยยังมิใช่กรณีที่สมัครใจแยกกันอยู่ตามมาตรา 1516(4/2) แต่เป็นกรณีโจทก์เป็นฝ่ายแยกไปเองโดยยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา เมื่อจำเลยมิได้ประสงค์จะหย่าขาดจากโจทก์โจทก์ก็ไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 266, 268 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
ผู้ที่จะออกใบกำกับภาษีได้ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเป็นผู้ขายสินค้า จำเลยรับจ้างบริษัทโรเยลเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ก่อสร้างโรงงาน จำเลยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อวัสดุก่อสร้างมาใช้ในกิจการ จำเลยทราบดีว่าบริษัท ส. ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้ได้ เมื่อนางอัญชลี พนักงานบัญชีของบริษัทโรเยลเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ตรวจพบว่ามีบิลเงินสด / ใบกำกับภาษีฉบับหนึ่ง รวมตัวเลขผิดไป 9 บาท จำเลยได้แจ้งให้นางอัญชลี ติดต่อไปยังบริษัทไม้แสงวิวัฒน์ (1988) จำกัด ผู้ออกบิลเงินสด / ใบกำกับภาษี โดยตรง อันเป็นการนำสืบในทำนองว่า จำเลยไม่ทราบว่า บิลเงินสด / ใบกำกับภาษี ดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิปลอมนั้น เห็นว่าตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาลงวันที่ 30 มิถุนายน 2537 ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ ซึ่งต่อมาจำเลยได้ไปพบพนักงานสอบสวนและได้ให้การเพิ่มเติมตามที่จำเลยอ้างนี้ อันเป็นเวลาภายหลังเกือบสองปีแล้วตามใบต่อคำให้การ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 และตามคำเบิกความของนางอัญชลี พยานโจทก์ ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้แจ้งให้ นางอัญชลีติดต่อไปยังบริษัทไม้แสงวิวัฒน์ (1988) จำกัด โดยตรงแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงในคดียังปรากฏว่า บิลเงินสด / ใบกำกับภาษีดังกล่าวได้มีการส่งมอบจากนายกัง (นายวิรัตน์) ให้แก่นายกี่เฮียก และนายกี่เฮียกส่งมอบให้แก่นายประวิทย์จนมาถึงจำเลยเป็นทอด ๆ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐาน การที่จำเลยรู้ว่าบิลเงินสดใบกำกับภาษีของกลางเป็นเอกสารสิทธิปลอม แล้วจำเลยนำไปใช้ จำเลยจึงมีความผิดข้อหาใช้เอกสารสิทธิปลอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219 ตรี, 221 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493
ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษในความผิดฐานมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุรานั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องและให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ตรี ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คำอนุญาตของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นจึงไม่มีผลหรือทำให้จำเลยมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14 (1) พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 3, 39, 40, 41, 46, 58
โจทก์ระบุชื่อฟ้องจำเลยที่ 2 ว่า "พ.ในฐานะผู้จัดการสายเดินเรือเมอร์ก สาขากรุงเทพฯ" และบรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า "จำเลยที่ 2เป็นตัวแทนบริหารงานและธุรกิจของจำเลยที่ 1 สาขาในประเทศไทยมีอำนาจเช่น ดำเนินกิจการประจำวันโดยทั่วไปของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทยลงนามในเอกสารต่าง ๆ ดำเนินการฟ้องร้องและต่อสู้ในศาลไทย ใช้และลงชื่อในนามสาขาของบริษัทและมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการสายเดินเรือเมอร์กสาขากรุงเทพฯ เป็นการกล่าวบรรยายฟ้องถึงสถานภาพของ พ. โดยเฉพาะว่ามาเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และสาขาของจำเลยที่ 1 คือสายเดินเรือเมอร์กสาขากรุงเทพฯ อย่างไร ซึ่งเห็นได้ชัดว่า พ.เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในประเทศไทยและได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสายเดินเรือเมอร์ก สาขากรุงเทพฯ ด้วยเท่านั้น การที่ พ.มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการสายเดินเรือเมอร์กสาขากรุงเทพฯ จึงอยู่ในคนละสถานภาพกับสายเดินเรือเมอร์ก สาขากรุงเทพฯกรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้อง พ. ในฐานะส่วนตัวเป็นจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1ให้ทำการแทนในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้รับขนร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญารับขนส่งสินค้าที่โจทก์รับประกันภัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
ตามกฎข้อบังคับของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับที่ท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทางในขณะเกิดเหตุไม่อนุญาตให้ผู้ขนส่งมอบสินค้าอันตรายให้เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยผู้ขนส่งต้องเก็บรักษาไว้เอง ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้เช่าพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อใช้เก็บสินค้าอันตรายและจัดให้มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดูแลรักษาสินค้านั้นเอง จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว อันจะทำให้สินค้านั้นพ้นไปจากความดูแลของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาตรา 40(3) และมาตรา 39 แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังคงเก็บรักษาดูแลสินค้าไว้เพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งต่อไป
เรือของจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทางเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2536 อันเป็นโอกาสแรกที่จะส่งมอบของได้และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงผู้รับตราส่งยอมรับผิดไม่เกินความรับผิดสูงสุดของผู้ขนส่ง อันถือได้ว่าเป็นการยอมรับสภาพหนี้ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) และโจทก์ ฟ้องคดีนี้วันที่ 20 เมษายน 2537 ซึ่งอยู่ภายในเวลา 1 ปี นับแต่ วันที่จำเลยที่ 1 ยอมรับสภาพหนี้ คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ตามใบตราส่งด้านหลังซึ่งมีเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะชดใช้ค่าเสียหายในข้อ 11.3 ว่า กรณีสินค้าสูญหายหรือเสียหายให้คิดค่าเสียหายไม่เกิน 2 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักรวม 1 กิโลกรัมในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยน1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.5 บาท และตามรายการสินค้า (Packinglist)สินค้าที่เสียหาย 2 หน่วย มีน้ำหนักรวม 848 กิโลกรัม เป็นน้ำหนักสุทธิ818 กิโลกรัม จึงคิดเป็นค่าเสียหายสูงสุดตามที่ระบุในใบตราส่งที่คิด2 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักรวม 848 กิโลกรัม เป็นเงิน1,696 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเงิน 43,248 บาท แต่ถ้าคิดตามการจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58ตามหน่วยการขนส่ง 2 หน่วย ค่าเสียหายหน่วยละ 10,000 บาท เป็นเงิน20,000 บาท หรือคิดตามน้ำหนักสุทธิกิโลกรัมละ 30 บาท จากน้ำหนักสุทธิ818 กิโลกรัม เป็นเงิน 24,540 บาท เห็นได้ว่าการคิดค่าเสียหายตามข้อจำกัดความรับผิดที่กำหนดในใบตราส่งเป็นเงิน 43,248 บาท ดังกล่าว สูงกว่าค่าเสียหายที่คิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาตรา 58 ดังนี้ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ส่งของและผู้ขนส่งตกลงกำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งสูงกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 58 จึงไม่นำการจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 มาใช้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา 60(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1385/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 2, 10 วรรคสาม
โจทก์ทั้งสองฟ้องบรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับจำเลยได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่าจำเลยได้สำแดงน้ำหนักสุทธิของสินค้าไม่ถูกต้อง ต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นเหตุให้อากรขาด รวมถึงความรับผิดของจำเลยผู้สั่งสินค้ารายพิพาท ให้เป็นที่เข้าใจได้เป็นอย่างดีตามคำให้การของจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเอาเงินภาษีอากรส่วนที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งสินค้าที่นำเข้า มิใช่กรณีการคิดคำนวณอากรผิดพลาดจึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า จำเลยนำสินค้าเข้ามาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2531 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน2541 ยังไม่ครบ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยนำแผ่นพลาสติกชนิดแข็งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยระบุในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าสินค้ามีแหล่งกำเนิดในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 3,060 แผ่นน้ำหนัก 17,847 กิโลกรัม สำแดงราคา ซีแอนด์เอฟ47,959ดอลลาร์สหรัฐซึ่งตามพิกัดอัตราศุลกากรได้กำหนดให้คิดอัตราอากรร้อยละ 60 ของราคาหรือในอัตรา 14 บาทต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อคำนวณตามน้ำหนักแล้วมีราคา2.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยกิโลกรัม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามีน้ำหนัก 52,311.70 กิโลกรัม มิใช่น้ำหนัก 17,847กิโลกรัม ตามที่จำเลยสำแดงราคาสินค้าของจำเลยต่อ 1 กิโลกรัมจึงคิดเป็นเงิน 0.91 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อนำราคาดังกล่าวไปเทียบกับราคาสินค้าของผู้นำเข้ารายอื่นที่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน ซึ่งมีราคาต่อ1 กิโลกรัม เท่ากับ 1.31 ถึง 1.50 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงจึงต่ำกว่าราคาที่มีผู้นำเข้ารายอื่นสำแดงไว้ แม้โจทก์จะนำสินค้าที่บริษัท ล. นำเข้าซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดต่างประเภทย่อยกับสินค้าของจำเลยราคา 1.539 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม มาใช้เทียบเป็นราคาสินค้าของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ลดราคานำเข้าให้จำเลยอีกร้อยละ 10 ของราคาดังกล่าว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสมแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองได้ทำการประเมินราคาสินค้าใหม่และเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีการค้าเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 32, 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (6), 226, 227 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ม. 22, 27, 29
จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 260 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคำเบิกความของพยานโจทก์คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสี่กำลังนั่งล้อมวงอยู่ใต้ต้นมะพร้าวริมบ่อเลี้ยงปลาเท่านั้น และไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจค้นได้จากกระเป๋าคาดเอวของจำเลยที่ 1 และที่บรรจุอยู่ในกระบอกพลาสติกสีขาวอย่างใดบ้าง ส่วนกระบอกพลาสติกสีขาวที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลาง หากไม่เปิดฝาออกจะไม่เห็นสิ่งของที่บรรจุอยู่ การที่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นญาติกันนั่งคุยกันที่ใต้ต้นมะพร้าวซึ่งเป็นที่ร่ม จึงไม่เป็นการผิดปกติวิสัยที่จำเลยที่ 1 ถือกระบอกพลาสติกสีขาวโดยเปิดเผยและที่จำเลยทั้งสี่นั่งล้อมวงคุยกันที่ใต้ต้นมะพร้าวหาใช่ข้อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่
การที่จำเลยที่ 2 เห็นพยานโจทก์ทั้งสี่กับพวกแล้ววิ่งหนี ย่อมเป็นพิรุธ แต่ข้อพิรุธดังกล่าวไม่อาจสันนิษฐานเป็นผลร้ายว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด
คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบจึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริง
เงินของกลางที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแต่เงินของกลางดังกล่าวมิใช่เป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ตามมาตรา 27 ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบเงินของกลางที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยมิได้อ้างพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ตามฎีกาของโจทก์ยืนยันว่า ศาลมีคำสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จึงมีว่า ศาลจะสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ได้หรือไม่
ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิด ได้ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้นและโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย
โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้เงินของกลางจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ก่อนจะถูกจับกุมคดีนี้ เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่อาจริบในคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 66, 240, 242, 243 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31
ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ศาลแรงงานมีคำสั่งรับใบแต่งทนายความที่แต่งตั้งให้ ป. เป็นทนายความแก้ต่างให้จำเลย และรับคำให้การจำเลยที่ ป. เป็นผู้ลงลายมือชื่อไว้ ตลอดจนได้ให้ ป. ดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะเป็นทนายความจำเลยมาแล้ว ต่อมาศาลแรงงานมีคำสั่งในภายหลังไม่เชื่อถือใบแต่งทนายความ และถือว่าไม่มีจำเลยในคดีนี้ อันเป็นการเพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการรับ ป. เป็นทนายความจำเลยและกระบวนพิจารณาที่ ป. ได้กระทำแทนจำเลย ซึ่งแม้ศาลแรงงานมีอำนาจกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ก็ตาม แต่ศาลแรงงานต้องได้ความแน่ชัดเสียก่อนว่ากระบวนพิจารณานั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบจริง
ศาลแรงงานสั่งให้ ป. ทนายความจำเลยนำกรรมการบริษัทจำเลยซึ่งถูกระบุว่าเป็นเจ้าของลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความมารับรองลายมือชื่อแสดงว่า ศาลแรงงานเพียงแต่สงสัยว่าอาจไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการบริษัทจำเลยและการที่กรรมการบริษัทจำเลยไม่มาศาลเพื่อรับรองลายมือชื่อ ก็ยังไม่ทำให้ได้ความแน่ชัดว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของกรรมการบริษัทจำเลย จึงไม่ชอบที่ศาลแรงงานจะนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาใช้กำหนดเป็นเงื่อนไขไม่เชื่อถือใบแต่งทนายความดังกล่าว อันเป็นการผลักภาระซึ่งเป็นผลร้ายให้แก่ฝ่ายจำเลย ทั้ง ๆ ที่จำเลยมิได้เป็นผู้ยกข้อสงสัยนั้นขึ้นกล่าวอ้าง นอกจากนี้ก็ยังมี ป. ทนายจำเลยซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องในการแต่งทนายจำเลย และเป็นผู้รับรองลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความไว้ในใบแต่งทนายความ ป. จึงเป็นผู้ที่สามารถให้ความจริงได้ ศาลแรงงานชอบที่จะค้นหาความจริงจาก ป. หรือดำเนินการทางอื่นเพื่อให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อน การที่ศาลแรงงานด่วนมีคำสั่งว่า กรรมการบริษัทจำเลยไม่มารับรองลายมือชื่อในใบแต่งทนายความของจำเลย จึงไม่เชื่อถือใบแต่งทนายความดังกล่าวและถือว่าไม่มีจำเลยเข้ามาในคดี แล้วมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณาแล้วชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ