คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 374, 881

สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยกับ ว. ผู้เอาประกันภัยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกแยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับ ว. แม้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเนื่องจาก ว. ผิดสัญญาและโจทก์ได้ยึดรถยนต์คืนไป ก็มีผลเฉพาะสัญญาเช่าซื้อ ส่วนสัญญาประกันภัยเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติหรือข้อกำหนดในสัญญาระบุให้สัญญาสิ้นสุดลงจึงมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงชำระหนี้ได้

โจทก์ตกลงกับวัด ท. ให้ทางวัดจัดที่จอดรถให้ โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือนต่อคัน แม้โจทก์ไม่มีพนักงานของตนไปเฝ้ารักษารถ แต่ทางวัด ท. จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเพื่อทราบว่ามีรถยนต์มาจอดกี่คันจะได้เก็บค่าตอบแทนถูกต้อง ถือว่าโจทก์ใช้ความระมัดระวังพอสมควรโดยไม่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และโจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหลังจากทราบว่ารถยนต์หายไปเพียง 1 วัน กับแจ้งให้จำเลยทราบในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา ถือว่าได้มีการแจ้งโดยไม่ชักช้าแล้วไม่เป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 219

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง,76 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 666.66 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยด้วย เป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยมีความผิด ฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการ รับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2543

พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ม. 34 (3)

ข้อตกลงให้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการอันเป็นกรณีพิพาทนี้เป็นข้อบังคับของสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศ ตามข้อบังคับดังกล่าวจะต้องมีการแจ้งชื่อของอนุญาโตตุลาการ วิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการตลอดจนกำหนดวันเวลาและสถานที่พิจารณาให้คู่กรณีทราบ สำหรับผู้คัดค้านซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกประเทศอังกฤษ และไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนในกรุงลอนดอนต้องมีการส่งคู่ฉบับของหนังสือแจ้ง เอกสาร หรือหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักงานของผู้คัดค้านด้วยผู้คัดค้านได้รับแจ้งเพียงว่าได้มีการเสนอข้อพิพาทรายนี้ต่ออนุญาโตตุลาการแล้วเท่านั้นส่วนหนังสือที่มีการแจ้งรายละเอียดครบถ้วนตามข้อบังคับไม่สามารถส่งให้ผู้คัดค้านทางโทรสารได้ และไม่ปรากฏว่ามีการส่งหนังสือฉบับนี้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้คัดค้านด้วย แม้จ.กรรมการบริหารสมาคมการค้ายางระหว่างประเทศจะบันทึกรับรองไว้ในหนังสือฉบับนี้ด้วยว่าได้ส่งทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามข้อบังคับดังกล่าวแล้วหรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการแจ้งให้ผู้คัดค้านซึ่งจะถูกบังคับทราบล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการศาลจึงมีอำนาจที่จะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ พ.ศ. 2530 มาตรา 34(3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2543

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 67

โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศมาเลเซียตั้งแต่ปี 2531 ทั้งได้โฆษณาและนำสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายในประเทศมาเลเซียและประเทศอื่น โจทก์จึงเป็นผู้ที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอยู่ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยรับโอนและขอจดทะเบียนใหม่ ดังนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่ ก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2543

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ม. 47

การที่โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องขอให้ระงับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นและขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยที่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจะมีผลถึงขนาดที่คณะรัฐมนตรีจะไม่อนุมัติการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จึงยังไม่อาจถือได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบ ทั้งตามฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอันเนื่องมาจากความบกพร่องของผู้ก่อสร้างที่ไม่ป้องกันมลพิษ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ผลโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ทั้งสิบหกย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 (4), 223, 247, 293 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542 ม. 11

จำเลยยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีโดยแนบสำเนาคำฟ้องของศาลชั้นต้นตามที่จำเลยอ้างเป็นเหตุขอให้งดการบังคับคดีมาท้ายคำร้อง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรให้งดการบังคับคดี ก็มีอำนาจยกคำร้องโดยไม่ต้องทำการไต่สวนก่อน อันเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเรื่องการ งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคสาม ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 และ มีผลใช้บังคับก่อนเวลาที่จำเลยยื่นฎีกา บัญญัติให้คำสั่งของศาลชั้นต้น ตามมาตรา 293 นี้เป็นที่สุด จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 334, 335 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 1, ตาราง 5

เมื่อลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้เพื่อเป็นการปลดเปลื้องไม่ให้ลูกหนี้ต้องได้รับความเสียหายกฎหมายอนุญาตให้ผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ และเมื่อวางทรัพย์แล้วย่อมหลุดพ้นจากหนี้ โดยลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ต่อไปอีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 334 และ 335 แสดงว่า ลูกหนี้เท่านั้นมีสิทธิถอนทรัพย์ที่วางได้เมื่อจำเลยที่ 2 วางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ในอีกคดีหนึ่งและไม่ใช้สิทธิถอนทรัพย์เจ้าหนี้ในคดีอื่นจะยึดหรืออายัดเงินที่จำเลยที่ 2 วางเพื่อไปชำระหนี้รายอื่นไม่ได้และเมื่อการอายัดต้องห้ามตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการอายัดเงินแล้วไม่มีการจำหน่าย จึงเรียกค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้

คำร้องอ้างว่าการอายัดไม่ชอบและขอให้ถอนการอายัด เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 86 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192

จำเลยที่ 2 เพียงแต่ขับรถรับส่งกลุ่มคนร้ายด้วยกัน โดยไม่ปรากฏว่า ได้แบ่งหน้าที่กันทำหรือได้ร่วมอยู่ด้วยในที่เกิดเหตุขณะผู้เสียหายถูก กลุ่มคนร้ายร่วมกันปล้นรถจักรยานยนต์ผู้เสียหาย แม้ว่าหลังจากกลุ่มคนร้าย ปล้นรถจักรยานยนต์ได้แล้วนำไปเก็บที่ไร่ของจำเลยที่ 2 ก็ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่กลุ่มคนร้ายในการปล้นทรัพย์ ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิดศาลย่อมพิพากษา ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดเป็นผู้สนับสนุนได้ กรณีเป็นการวินิจฉัยคดีโดยยกบทกฎหมายขึ้นปรับกับการกระทำของจำเลยที่ 2 มิใช่กรณีข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1678

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1678/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (1), 59, 83, 334 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

ก่อนเกิดเหตุ ตัววงจรไฟฟ้าของบริษัทผู้เสียหายได้หายไปโดยไม่ทราบตัวคนร้าย จำเลยกับพวกเป็นผู้ที่ช่วยเหลือผู้เสียหายในการสืบหาตัวคนร้ายและร่วมมือในการวางแผนจับกุมคนร้ายได้ นอกจากนี้ผู้เสียหายยังโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยและผู้เสียหายออกหนังสือรับรองการผ่านงานระบุว่าจำเลยเป็นลูกจ้างที่ดีที่ทำงานหนักเสมอมาจนถึงเวลาที่ได้ลาออกจากบริษัทด้วยเหตุผลส่วนตัว ดังนี้หากจำเลยเป็นผู้ร่วมกระทำผิดแล้ว ผู้เสียหายย่อมจะไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างที่เหลืออยู่และคงจะไม่ออกหนังสือรับรองการผ่านงานให้แก่จำเลย แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำในลักษณะที่ร่วมกับคนร้ายเพื่อลักทรัพย์ แต่จำเลยมิได้มีเจตนาร้ายหรือประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยโดยไม่มีเหตุผล จำเลยกระทำไปเพื่อช่วยเหลือในการวางแผนจับกุมคนร้ายที่ลักทรัพย์ของผู้เสียหายและจำเลยไม่ได้รับประโยชน์ถือว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 226, 227 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 75 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 11, 23, 26

จำเลยนำเครื่องถ่ายเอกสารทำสำเนาจากต้นฉบับหนังสือซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามเป็นเล่ม จำนวน 71 เล่ม หนังสือยังไม่เข้าเล่มจำนวน 290 ชุด และเอกสารเป็นแผ่นจำนวน 158 ชุด (6,162 แผ่น) ของกลางอันเป็นความผิดฐานทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ที่จำเลยกล่าวอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายว่า จำเลยซึ่งมีอาชีพรับจ้างถ่ายสำเนาเอกสารได้ถ่ายสำเนาเอกสารของกลางตามคำสั่งของผู้ว่าจ้างคือนักศึกษาที่นำไปใช้เพื่อการศึกษาหรือวิจัย ได้รับการยกเว้นมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างของตน

อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามที่ว่า จำเลยกระทำผิดฐานมีสำเนาเอกสารของกลางไว้เพื่อขายอันเป็นการค้านั้น โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำหนังสือซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามและนำหนังสือซึ่งจำเลยทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวออกขาย เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเท่านั้น หาได้บรรยายว่า จำเลยมีหนังสือซึ่งจำเลยทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวไว้เพื่อขายมาในฟ้องด้วยไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 75 เป็นบทบัญญัติบังคับเด็ดขาดให้ริบสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด

เครื่องถ่ายเอกสารของกลาง 4 เครื่อง เป็นเครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้ผลิตสำเนาเอกสารของกลาง เครื่องถ่ายเอกสาร 4 เครื่อง ของกลาง จึงเป็นสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งต้องริบตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 75

« »
ติดต่อเราทาง LINE