คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
ผู้ตรวจพิสูจน์ของกลางเบิกความยืนยันตามรายงานการตรวจพิสูจน์ว่าลูกกระสุนปืนของกลางไม่มีรอยตำหนิเข็มแทงชนวนที่จานท้ายกระสุนปืน ย่อมแสดงว่ากระสุนปืนมิได้ถูกยิงจากอาวุธปืนของกลางในขณะเกิดเหตุ ส่วนที่ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยกระชากลูกเลื่อนแล้วจ้องอาวุธปืนไปยังผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างกันประมาณ 3 เมตร โดยผู้เสียหายกำลังจูงรถจักรยานยนต์ในภาวะการณ์เช่นนี้ หากจำเลยประสงค์จะยิงผู้เสียหายจริง จำเลยต้องยิงได้ทันทีก่อนผู้เสียหายเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย เนื่องจากจำเลยได้กระชากลูกเลื่อนบรรจุกระสุนปืนเข้ารังเพลิงเสร็จก่อนที่ผู้เสียหายจะเข้าแย่งอาวุธปืน ตามพฤติการณ์ของจำเลยอาจกระชากลูกเลื่อนอาวุธปืนและจ้องเพื่อขู่ผู้เสียหายเท่านั้น ทั้งจำเลยและผู้เสียหายก็ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันรุนแรงถึงขั้นที่จะประสงค์ต่อชีวิต กรณียังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87, 172
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127 ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็นำสืบว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวและได้ส่งสำเนาใบแทนโฉนดที่ดินต่อศาล จำเลยเพียงแต่ให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่โจทก์อ้าง ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยก็ไม่ได้นำสืบตามที่จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์และไม่ได้นำสืบโต้แย้งการนำสืบของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยกฎหมาย และการฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวก็คือการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั่นเอง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 127 จึงเป็นการวินิจฉัยไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หาขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนไม่
ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหาย โจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ส่วนการถมถนนที่ใดหรือบริเวณใดการจ่ายเงินจ่ายให้ใคร รายการใดบ้างและเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1036/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 421 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 แต่ถนนพิพาทเป็นถนนหน้าตึกแถวที่จำเลยที่ 1 สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ซื้อหรือเช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้เป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ และโจทก์ได้ใช้ถนนพิพาทตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปีแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยหวงห้าม แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายตึกแถวที่โจทก์เช่าอยู่ให้แก่บุคคลภายนอก แต่โจทก์ก็ยังคงอยู่ในตึกแถวที่เช่าต่อมา การที่จำเลยที่ 2 สร้างกำแพงปูนปิดปากทางถนนพิพาทด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ตนซื้อจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์สัญจรผ่านเข้าออกไม่ได้ตามปกติย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้
จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์และผู้เช่ารายอื่นว่าจะจัดให้ถนนพิพาทเป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ตลอดไป มิฉะนั้นโจทก์และผู้เช่ารายอื่นคงไม่ยินยอมจ่ายเงินช่วยค่าก่อสร้างและจดทะเบียนการเช่ากับจำเลยที่ 1 เป็นเวลานานถึง 20 ปี และจำเลยที่ 1 ก็คงไม่ยินยอมให้โจทก์และครอบครัวตลอดจนบุคคลอื่นที่อาศัยอยู่ในตึกแถวดังกล่าวได้ใช้ถนนพิพาทเป็นทางเข้าออกตลอดมาเป็นเวลานานถึง 17 ปี เช่นเดียวกัน แม้สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะมิได้ระบุเรื่องการใช้ถนนพิพาทไว้ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้หวงห้ามมิให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ใช้ถนนพิพาท และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยที่ 2 ซื้อถนนพิพาทบางส่วนจากจำเลยที่ 1 และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นถนนพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 1 ที่ไม่สามารถใช้ถนนพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 156
การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมย่อมมีผลทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 156 สัญญาประกันภัยรถยนต์ย่อมถือเอาตัวรถยนต์เป็นสาระสำคัญตามกรมธรรม์ซึ่งจำเลยผู้รับประกันภัยออกให้แก่โจทก์ ระบุรายการรถยนต์ที่เอาประกันภัยตรงกับรายการจดทะเบียนรถยนต์ของโจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งว่าโจทก์มีรถยนต์คันอื่นอีก หมายเลขทะเบียนรถยนต์ หมายเลขเครื่องยนต์ และหมายเลขตัวถังเป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ที่เอาประกันภัย เมื่อโจทก์ขอแก้หมายเลขทะเบียน หมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังของรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้ถูกต้อง แม้ขอแก้ไขภายหลังเกิดอุบัติเหตุแล้ว จำเลยก็แก้ไขให้ทุกรายการ การทำสัญญารับประกันภัยของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญในตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมไม่ตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1007/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 459 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 147 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15
ผู้ร้องทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจากผู้ขายตามสัญญาซื้อขายรถแบบเงินผ่อน โดยในสัญญาได้กำหนดให้ผู้ร้องชำระราคารถจักรยานยนต์ของกลางบางส่วนในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือผ่อนชำระรวม 24 งวด เมื่อชำระราคารถจักรยานยนต์ครบแล้วผู้ขายจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข เมื่อปรากฏว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ผู้ร้องยังมิได้ชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่ผู้ขาย กรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางจึงยังอยู่ที่ผู้ขายแม้ว่าต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางก็ตาม แต่รถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลมีคำพิพากษาให้ริบนั้นจะตกเป็นของแผ่นดินก็ต่อเมื่อคำพิพากษาทีให้ริบของกลางดังกล่าวเป็นที่สุด แต่ระหว่างที่คำพิพากษาที่ให้ริบของกลางดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุดเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของกลางยังคงมีอำนาจที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์ของตนได้ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าว โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้นจะเป็นที่สุดก็ต่อเมื่อระยะเวลาในการอุทธรณ์ฎีกาได้สิ้นสุดลงดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ดังนั้น ก่อนหน้าที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวจะเป็นที่สุด ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางยังสามารถที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องได้ เมื่อผู้ร้องได้ชำระราคางวดสุดท้ายก่อนวันที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางจะเป็นที่สุด ผู้ขายจึงสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง และถือได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริงอันมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคืนของกลางได้ เมื่อผู้ร้องและผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของรถจักรยานยนต์ของกลางขณะที่ถูกนำไปใช้กระทำความผิดมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด จึงสมควรคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 995/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 295
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่โหลใส่พริกน้ำปลาซึ่งวางอยู่บนโต๊ะรับประทานอาหารใกล้กับที่ผู้เสียหายนั่งอยู่จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้เสียหายได้ กรณีถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ แม้กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหาย และไม่ว่ากระสุนปืนที่จำเลยยิงไปจะถูกขอบโต๊ะทำให้หัวกระสุนแตกกระจายตามที่ผู้เสียหายเบิกความ หรือไปถูกโหลใส่พริกน้ำปลาแตกตามที่พยานให้การในชั้นสอบสวน แต่เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีรอยถากที่หน้าอกขวา ต้นขาขวายาว 1.5 เซนติเมตร และรอยถากที่แขนซ้ายลึกแค่ผิวหนัง จึงถือได้ว่าการได้รับอันตรายแก่กายของผู้เสียหายเกิดจากการกระทำของจำเลย และจากคำเบิกความของแพทย์ว่าบาดแผลของผู้เสียหายใช้เวลารักษาประมาณ 10 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยประกอบแล้ว กรณีถือได้ว่า จำเลยกระทำให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจของผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 295
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 358 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 208, 222
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,84,91,358,363,365 และคดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ว่า การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนเสารั้วและลวดหนามเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เพราะมิได้ทำให้รั้วลวดหนามเสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์จากการใช้สอยสำหรับโจทก์ร่วม แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงว่าเสารั้วและลวดหนามเป็นทรัพย์ของโจทก์ร่วม การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เสารั้วและลวดหนามเป็นทรัพย์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ถูกต้องก่อนว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเสารั้วและลวดหนามนั้นหรือไม่
จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนเสารั้วและลวดหนามของโจทก์ร่วมที่กั้นแนวเขตที่ดินก็เพื่อก่อสร้างรั้วกำแพงอิฐบล็อก ซึ่งมั่นคงถาวรและใช้ประโยชน์ได้มากกว่า แทนรั้วลวดหนามที่ปลูกสร้างมานานและมีสภาพเก่า เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ร่วมกันของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมได้ประโยชน์จากการใช้รั้วใหม่มากกว่ารั้วลวดหนามเดิม การรื้อถอนเสารั้วและลวดหนามจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ได้ทำอย่างระมัดระวัง และไม่ทำให้เสารั้วและลวดหนามได้รับความเสียหาย ทั้งเมื่อรื้อถอนแล้วก็นำเสารั้วและลวดหนามซึ่งยังมีสภาพที่โจทก์ร่วมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกไปกองไว้ให้โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยทั้งสี่มิได้ทำให้เสารั้วและลวดหนามของโจทก์ร่วมเสียหาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม. 27, 31, 69, 70, 74, 75, 76, 78
แม้ตกลงระหว่างโจทก์และ ท. จะกำหนดว่า ถ้าภาพถ่ายตามสัญญาถูกตีพิมพ์เพื่อการพาณิชย์ที่ไม่ใช่ของบริษัท น. แล้ว ให้ถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา ท. จะเรียกเอาค่าเสียหายจากโจทก์หรือฟ้องร้องผู้ละเมิดก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่คดีนี้ไม่มีปัญหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายดังกล่าวจะหมดสิทธิในความเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีแก่ผู้กระทำผิดหรือไม่ยอมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างถ่ายแบบ ดังนั้น หากมีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการพิมพ์หนังสือ"ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม" ขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดทำขึ้นในการพิมพ์หนังสือนี้และหนังสือที่พิมพ์ออกมามีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิมพ์ และจำเลยที่ 9 เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 9 ได้แบ่งหน้าที่กันทำงานในส่วนของตน โดยรู้ถึงการกระทำของกันและกันตามที่ระบุไว้ในแม่พิมพ์และหนังสือดังกล่าวเพื่อให้การพิมพ์หนังสือนี้สำเร็จลง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 9 มีเจตนาร่วมกระทำผิดด้วยการทำซ้ำงานดังกล่าวด้วยกัน ส่วนจำเลยที่ 15 เป็นเพียงผู้รับจ้างจากบริษัท 222 ให้ทำงานจัดจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดฐานเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าโดยเฉพาะเท่านั้น อันเป็นความผิดคนละส่วนกัน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 70, 801 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5) พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ม. 185
กรรมการเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงออกซึ่งความประสงค์ของบริษัทมีอำนาจหน้าที่กระทำการในนามของบริษัทภายในอำนาจของตน และถือว่าเป็นการกระทำของบริษัทเอง ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทหรือบริษัทเป็นผู้สั่งการให้ทำจึงไม่ถูกจำกัดอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801
บริษัทเอกชนที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดฯ ย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมดตามกฎหมาย ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงการจดทะเบียนแปรสภาพ และไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้
ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้ โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ต้องได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เช่น ได้จากพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องนำสืบในประเด็นหรือได้จากเอกสารพยานที่มีกฎหมายบังคับให้คู่ความที่กล่าวอ้างต้องแสดง เป็นต้น เมื่อไม่มีจำเลยคนใดให้การว่า ธ. เป็นบุคคลล้มละลาย แม้จำเลยบางคนจะเบิกความถึงเรื่องดังกล่าวก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็น ไม่อาจรับฟังเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420
แม้โจทก์จะมีชื่อและนามสกุลอย่างเดียวกันกับลูกหนี้ของจำเลย แต่ก็มีภูมิลำเนาต่างกัน ทั้งลูกหนี้ของจำเลยไม่เคยย้ายภูมิลำเนา อีกทั้งเมื่อโจทก์ติดต่อทนายความจำเลยแจ้งว่ามิได้เป็นหนี้ ทนายความจำเลยหรือจำเลยกลับยืนยันว่าเป็นหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้จะฟ้องร้องต่อศาล ทำให้โจทก์เกิดความกลัว จึงได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นเหตุให้โจทก์ถูกหนังสือพิมพ์รายวันลงข่าวเผยแพร่ไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้โจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปสอบสวนหามูลเหตุของข่าวการเป็นหนี้จำเลย และลงความเห็นว่าถ้าข่าวดังกล่าวเป็นจริงโจทก์จะถูกลงโทษ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ทางไกลติดต่อญาติพี่น้องเพื่อแจ้งความจริงให้ทราบ และได้ว่าจ้างทนายความให้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ดังกล่าว ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ในภายหลังโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรทำการตรวจสอบเกี่ยวกับตัวลูกหนี้ของจำเลยเสียใหม่ตามที่โจทก์แจ้งให้ทนายความของจำเลยหรือจำเลยทราบแล้วว่าโจทก์มิใช่ลูกหนี้ของจำเลย รวมทั้งจำเลยยังได้ยืนยันที่จะฟ้องร้องโจทก์ต่อศาล จนเป็นเหตุให้โจทก์เกิดความกลัวและนำเรื่องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจนถูกหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับนำข่าวไปเผยแพร่ทั่วราชอาณาจักร อันเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อันจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการนั้นแล้วครบถ้วนด้วยองค์ประกอบแห่งความผิดเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420