คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2543
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 31 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/3 วรรคสอง
ตาม พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มิได้กำหนดวิธีการนับระยะเวลาไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้นจึงต้องอาศัยการนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2542 การนับระยะเวลาจึงต้องเริ่มนับ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2542 เป็นวันแรกและครบกำหนด 30 วันในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 จึงเป็นการฟ้องคดีภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 856 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18, 59
จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์เพียงบัญชีเดียว และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 2 ฉบับโดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สอง และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าฝากและออกเช็คสั่งจ่ายเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 2 ฉบับจากบัญชีกระแสรายวันซึ่งมีบัญชีเดียวตลอดมา โดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าหนี้จำนวนใดเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกหรือฉบับที่สอง กรณีจึงเป็นมูลหนี้เดียวกัน แม้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะมีภาระในการชำระหนี้ไม่เท่ากันก็สามารถรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ ส่วนการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยคนใดชำระหนี้เท่าใด หรือใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนกันอย่างไรก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 151, 368, 386, 391, 466
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 วรรคสอง มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่กรณีจึงอาจกำหนดไว้ในสัญญาเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัตินี้ได้
โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอาคารชุดที่พักอาศัยในราคา 2,865,000บาท สัญญาดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า "ห้องชุดผู้ซื้อจะมีพื้นที่ประมาณ 94.5 ตารางเมตรทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับการปรับขนาดพื้นที่ตามการก่อสร้างที่เป็นจริงและการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน ถ้าพื้นที่จริงของห้องชุดผู้ซื้อมีมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ระบุข้างต้นคู่สัญญายังคงต้องผูกพันตนตามสัญญานี้ แต่ถ้าแตกต่างตั้งแต่ร้อยละห้า (5%)หรือมากกว่านั้น ราคาที่ต้องชำระตามสัญญานี้จะต้องปรับเพิ่มหรือลดลงตามส่วนโดยการปรับราคาจะกระทำในการชำระเงินงวดสุดท้ายของราคา" แม้ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย และใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 151 แต่ศาลก็ต้องตีความสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์ของคู่สัญญาในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณี กล่าวคือ เจตนาของคู่สัญญาที่กระทำโดยสุจริตซึ่งพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีประกอบแล้ว คงมิได้หมายความถึงขนาดที่ว่าไม่ว่าเนื้อที่ของอาคารชุดจะแตกต่างมากกว่าร้อยละห้าสักเพียงใดก็ตาม โจทก์ก็ต้องรับโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดโดยไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารชุดพิพาทมีเนื้อที่ล้ำจำนวนถึง 29.98 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 31.7 ซึ่งโจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มอีกประมาณ 900,000 บาท รวมทั้งจำเลยได้บังคับให้โจทก์รับมอบซอกมุมห้องที่ติดกันซึ่งมีเนื้อที่อีก 30 ตารางเมตร โดยมีฝากั้นห้อง ระหว่างเนื้อที่ 95.5 ตารางเมตรกับ 30 ตารางเมตร เป็นฝากั้นซึ่งเป็นคานรับน้ำหนักของตัวอาคาร โดยจำเลยได้ทำช่องให้เข้าไปได้ทางด้านหลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนที่ล้ำจำนวนเป็นส่วนของเนื้อที่ซอกมุมห้องที่ติดกัน ซึ่งหากพิจารณาถึงความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีแล้ว ก็หาควรบังคับให้โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นจำนวนมากเพื่อรับเอาเนื้อที่ล้ำจำนวนที่ไร้ประโยชน์ดังกล่าวนั้นหรือไม่ เพราะหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญานั้นอย่างแน่นอน อีกประการหนึ่งเมื่อคำนึงถึงมาตรา 11แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วยแล้วในกรณีเช่นว่านี้เมื่อสัญญามีข้อสงสัยว่าโจทก์ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวนี้หรือไม่ศาลย่อมต้องตีความให้เป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ในเมื่อล้ำจำนวนถึงขนาด ซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงมิได้ทำสัญญานั้นตามมาตรา 466 วรรคสอง อันเป็นผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 859 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)
สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันใดโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไปเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
หนังสือทวงถามมีข้อความชัดเจนว่า ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ก็ให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นอันเลิกกันจำเลยได้รับหนังสือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2536 กำหนดเวลาชำระหนี้วันสุดท้ายเป็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันดังกล่าวสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเลิกกันตั้งแต่วันพ้นกำหนด
สัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากทำขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้สิทธิแก่โจทก์ในการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็มิได้หมายความว่าโจทก์จะใช้สิทธินี้ตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ จึงต้องนำเงินตามบัญชีเงินฝากประจำมาหักจากยอดหนี้ ณ วันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกัน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินคงเหลือแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ครบถ้วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 941/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
โจทก์มีแต่ผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากับคนร้ายอีกคนหนึ่งซึ่งสวมหมวกกันน็อก และกระโดดลงมาดึงท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้าพร้อมกับกระชากเอาสร้อยข้อมือและสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ไป เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดโดยกระทันหัน ผู้เสียหายเป็นหญิงย่อมตกใจกลัวเป็นธรรมดา ทั้งยังมีโอกาสเห็นหน้าคนร้ายในช่วงระยะเวลาสั้นในขณะรถจักรยานที่ถีบอยู่ถูกดึงให้เสียหลักและหันกลับมามองเพราะถูกคนร้ายจับแขนซ้าย อีกทั้งผู้เสียหายยังมีบุตรอีกสองคนซ้อนท้ายรถจักรยานให้เป็นห่วงในความปลอดภัยด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะสามารถสังเกตเห็นคนร้ายได้โดยถนัดชัดเจน จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ต้นจนถึงชั้นพิจารณา ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานสามารถตรวจยึดได้วัตถุพยานจากจำเลยอันจะเป็นข้อพิสูจน์แสดงว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 195
โจทก์ฟ้องในข้อ 1 ว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมแล้วแยกการกระทำเป็นข้อ ก. และข้อ ข. โดยข้อ ก. เป็นเรื่องพาอาวุธปืน ข้อ ข. เป็นเรื่องพยายามฆ่าผู้เสียหายและฆ่าผู้ตายรวมกัน โดยบรรยายว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและผู้ตายหลายนัด กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหาย และกระสุนปืนที่จำเลยยิงดังกล่าวยังไปถูกผู้ตายหลายแห่งแสดงว่า มีการยิงผู้เสียหายและผู้ตายหลายนัดในคราวเดียวโดยกระทำต่อเนื่องกัน โจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อ ข. โดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิด2 กรรม คือพาอาวุธปืนกรรมหนึ่ง พยายามฆ่าผู้เสียหายและฆ่าผู้ตายรวมกันมาอีกกรรมหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายและฐานฆ่าผู้ตายแยกออกจากกันเป็น 2 กรรม จึงเป็นการลงโทษเกินฟ้อง อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ชอบที่ศาลฎีกาจะแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่าความผิดฐานพยายามฆ่าและฆ่าผู้อื่นเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 852 - 919/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 577 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
เดิมโจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาบริษัท พ. ผู้เช่าเข้ามาเช่าและดำเนินกิจการต่อจากจำเลย การที่จำเลยได้โอนกิจการของตนไปให้บริษัท พ. เช่าดำเนินการต่อ และบริษัท พ. ได้รับโจทก์ทั้งหมดไปทำงานให้แก่บริษัท พ. โดยโจทก์ทั้งหมดมิได้ใช้สิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมโอนไปทำงานกับบริษัท พ. ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 ให้สิทธิไว้ อีกทั้งเมื่อบริษัท พ. ค้างชำระค่าจ้าง โจทก์ทั้งหมดก็ฟ้องคดีเรียกค่าจ้างค้างชำระเอาแก่บริษัท พ. กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งหมดได้ยอมรับการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัท พ. และยินยอมโอนไปทำงานให้แก่บริษัท พ. แล้ว บริษัท พ. จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหมด ตามคำนิยามของคำว่า "นายจ้าง" และ "ลูกจ้าง" ในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 โจทก์ทั้งหมดจึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 79 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17, 19, 20
การปิดหมายจะกระทำด้วยวิธีใด เช่น การใช้เชือกผูกการตอกตะปู การแปะติดไว้หรือวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่จะต้องแสดงไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสารนั้น เพื่อให้ผู้รับแจ้งทราบว่าตนได้ถูกฟ้องเป็นคดีหรือมีกระบวนพิจารณาใดที่จะต้องปฏิบัติหรือรับทราบ ก็ถือได้ว่าเป็นการปิดหมายโดยชอบตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 89
คำเบิกความของจำเลยและทนายจำเลยถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากทนายโจทก์ จำเลยได้นำหนังสือไปปรึกษากับทนายจำเลย ทนายจำเลยจึงติดต่อกับทนายโจทก์เพื่อเจรจาเรื่องเช็คจำนวนเงิน 200,000 บาท โดยทนายโจทก์ยอมลดค่าเสียหายให้เหลือ 30,000 บาทนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์ในเรื่องนี้ไว้แต่เป็นเพราะโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานระบุอ้าง น. ทนายโจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะสืบ จำเลยจึงไม่มีโอกาสถามค้านไว้ได้ ส่วนตัวโจทก์เองไม่ได้เป็นพยานผู้รู้เห็นหรือร่วมเจรจา จำเลยจึงไม่ได้ถามค้านไว้ คำเบิกความของจำเลยและทนายจำเลยจึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 852/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 577 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 2 (นายจ้าง
เดิมโจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาบริษัท พ.ผู้เช่าเข้ามาเช่าและดำเนินกิจการต่อจากจำเลย การที่จำเลยได้โอนกิจการของตนไปให้บริษัท พ.เช่าดำเนินการต่อ และบริษัท พ.ได้รับโจทก์ทั้งหมดไปทำงานให้แก่บริษัท พ.โดยโจทก์ทั้งหมดมิได้ใช้สิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมโอนไปทำงานกับบริษัท พ. ตามที่ ป.พ.พ.มาตรา 577 ให้สิทธิไว้ อีกทั้งเมื่อบริษัท พ.ค้างชำระค่าจ้าง โจทก์ทั้งหมดก็ฟ้องคดีเรียกค่าจ้างค้างชำระเอาแก่บริษัท พ. กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งหมดได้ยอมรับการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัท พ.และยินยอมโอนไปทำงานให้แก่บริษัท พ.แล้ว บริษัท พ.จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหมด ตามคำนิยามของคำว่า "นายจ้าง"และ "ลูกจ้าง" ในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 โจทก์ทั้งหมดจึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย