คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
จำเลยที่ 3 เป็นบุตรผู้ร้อง ทั้งรถจักรยานยนต์ของกลางผู้ร้องซื้อมาเพื่อใช้ในการทำมาหากินและรับส่งบุคคลในครอบครัวโดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้ในการนำออกไปซื้อของและขับไปโรงเรียนบ้าง จึงพออนุมานได้ว่า ผู้ร้องมิได้เข้มงวดในการที่จำเลยที่ 3 จะนำรถจักรยานยนต์ของกลางออกไปใช้นัก พฤติการณ์มีผลเท่ากับผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้จำเลยที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ไปใช้ได้ทุกเวลาทุกสถานที่โดยไม่ขัดขวาง ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 อายุเพียง 17 ปี อยู่ในวัยรุ่นวัยคะนองนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการขับแข่งขันโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ไม่มีสิทธิขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 349/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 904, 988 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 28
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์โดยจำเลยฝากเช็คไว้กับ ป. เพื่อมอบให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับมอบเช็คจาก ป. แล้วโจทก์จึงเป็นบุคคลที่มีเช็คไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินย่อมเป็นผู้ถือเช็คโจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904ประกอบมาตรา 988(4) แม้โจทก์จะมอบให้ผู้อื่นนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแทน และถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็เป็นเพียงนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแทนโจทก์เท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่เช็คพิพาทให้แก่ผู้อื่นนั้นแล้ว โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทอยู่ ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 309 ทวิ
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควรและเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้เข้าสู้ราคาด้วยกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสี่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) พระราชบัญญัติการพนัน ม. 4, 5, 6, 10, 12
โพยเป็นเพียงของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยในขณะจับกุมและเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเล่นการพนันสลากกินรวบส่วนยอดเงินในโพยจะมีมากน้อยเพียงใด เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา โพยของกลางและยอดเงินตามโพยจึงไม่ใช่องค์ประกอบของความผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันเล่นการพนันสลากกินรวบพนันเอาทรัพย์สินกันโดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ถือเอาเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว ของรางวัลที่หนึ่งและเลขท้าย 2 ตัว ของสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เป็นเลขถูกรางวัล โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายนั้นเป็นการบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว และเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพย่อมแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องโจทก์ได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดและไม่เคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 ม. 37
ตามบทบัญญัติมาตรา 37 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิตพ.ศ. 2535 มุ่งคุ้มครองผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์เพราะบริษัทประกันชีวิตที่มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
การฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มาตรา 37 ของบริษัทประกันชีวิตโดยประวิงการใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์มิใช่เพียงเป็นการผิดสัญญาประกันภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์อีกด้วย ดังนั้นหากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 37 วรรคสองของพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงิน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2537 กำหนดในข้อ 7 ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้บริษัทใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับ เป็นการประวิงการใช้เงินตามมาตรา 37 วรรคสอง โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามกรมธรรม์ แต่จำเลยไม่ใช้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์แต่จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับจำเลยก็ยังไม่ใช้เงินแก่โจทก์ จนโจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดี จำเลยจึงยอมใช้เงินให้ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้างทนายความในการบังคับคดีและขอให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวการกระทำของจำเลยตามฟ้องย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากการเยียวยาความเสียหายโดยการดำเนินการบังคับคดีตามปกติอย่างคดีแพ่งทั่วไปแล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดได้อีกทางหนึ่งด้วยจึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2543
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 78, 160
จำเลยขับรถบรรทุกคนโดยสารโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ตกลงจากรถจักรยานยนต์แล้วถูกรถของจำเลยแล่นทับถึงแก่ความตายทันทีตรงที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุจำเลยได้แสดงตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และมอบใบสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจจราจรกับบัตรประจำตัวประชาชนแก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวตรงที่เกิดเหตุ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวจำเลยไว้ ต่อมาจำเลยขออนุญาตเจ้าพนักงานตำรวจไปโทรศัพท์แล้วหลบหนีไป เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยสะบัดมือแล้วหลบหนีไปทันที รูปคดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183 วรรคสาม, 226 พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 8, 25, 32 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 ม. 50, 109
ชั้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ทนายจำเลยได้โต้แย้งด้วยวาจาขอให้กำหนดประเด็นเพิ่ม ศาลชั้นต้นสั่งว่าหากจำเลยจะคัดค้านให้คัดค้านเข้ามาเป็นหนังสือภายใน 8 วัน จำเลยยื่นคำร้องแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่า ไม่มีเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้อง จึงเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสาม จำเลยต้องโต้แย้งไว้ตามมาตรา 226 วรรคสอง จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้ง จำเลยก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตำแหน่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 50 จึงอาจฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีความในศาลได้ ไม่จำต้องเอากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของภาษีโรงเรือนและที่ดิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังเป็นผู้พิจารณาการประเมินใหม่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ มาตรา 50 และ 109นอกจากนี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 32 ยังกำหนดว่าเมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลซึ่งแก้คำชี้ขาดของอธิบดี กรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาล (ในคดีนี้คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) นั้นได้ส่งไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้บัญชีการประเมินให้ถูกต้องโดยเร็ว ดังนี้ ผู้ที่จะถูกบังคับตามกฎหมายและคำพิพากษาโดยตรงก็คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการทั้งปวงของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร และเมื่อมีการแก้ไขประเมินก็หมายถึงต้องคืนเงินภาษีที่รับชำระเกินมาจากผู้รับประเมินด้วย โจทก์จึงฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยขอให้แก้ไขการประเมินและคืนเงินภาษีได้ เพราะเป็นการฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้ชี้ขาดการประเมินและเป็นผู้แทนของกรุงเทพมหานคร มิใช่ฟ้องให้รับผิดเป็นส่วนตัว
ค่ารายปีของโรงเรือนนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ จึงไม่อาจนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเพียงอย่างเดียวมาเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีหรือค่าภาษีในปีภาษีที่พิพาทได้ ปรากฏว่าปี 2539เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราค่าเช่าโรงเรือนในปีดังกล่าวจึงน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง ทั้งตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 63/2538 ข้อ 2.1 ก็กำหนดให้พิจารณาปรับค่ารายปีตามภาวะเศรษฐกิจ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงต้องประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯมาตรา 8 ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเพียงอย่างเดียวจึงไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 308
ระยะเวลาในการรับจำนองทรัพย์พิพาทไม่ใช่หลักเกณฑ์สำคัญในการกำหนดราคา หากแต่ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในช่วงระยะเวลาขายทอดตลาดที่จะเป็นตัวกำหนดราคา ซึ่งในขณะทำการขายทอดตลาดราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตประกอบกับสภาพและที่ตั้งของที่ดินนับว่าเหมาะสมแล้ว ข้ออ้างของจำเลยมีเพียงว่าราคาที่ขายต่ำกว่าราคาซื้อขายตามท้องตลาดโดยไม่ได้ระบุถึงพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการดำเนินการขายทอดตลาด ไม่เป็นเหตุที่จะฟังว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/34 (7)
ตามข้อตกลงเกี่ยวกับการรับบัตรเครดิต มีข้อความจำกัดความรับผิดของโจทก์ว่า "ในกรณีที่ธนาคารได้รับและตรวจพิจารณา Sales Slip (บันทึกรายการใช้บัตรเครดิต) ที่ร้านค้าส่งมาเข้าบัญชีแล้วเห็นว่า มีข้อสงสัยและ/หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้สงสัยได้ว่าการดำเนินการในการใช้บัตร และ/หรือออก Sales Slip ดังกล่าวไม่ถูกต้องตามที่กล่าวมา และ/หรือไม่ว่าโดยประการใดธนาคารมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายเงิน และ/หรือการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันข้างต้นได้ และในกรณีที่ธนาคารได้จ่ายเงิน และ/หรือนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันข้างต้นไปแล้ว ร้านค้าตกลงชำระคืนเงินที่ได้รับหรือเบิกถอนไปจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวให้แก่ธนาคาร?" เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากที่โจทก์นำเงิน 486,800 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว โจทก์ได้รับแจ้งจากบริษัทมาสเตอร์การ์ดอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ว่าบัตรเครดิตที่มีผู้นำไปใช้ซื้อสินค้าจากจำเลยทั้ง 9 ครั้งเป็นบัตรปลอม กรณีจึงต้องด้วยข้อตกลงที่ว่า "?หรือมีเหตุอื่นใดที่ทำให้สงสัยได้ว่าการดำเนินการในการใช้บัตร และ/หรือออก Sales Slip ดังกล่าว จะไม่ถูกต้องตามที่กล่าวมา และ/หรือไม่ว่าโดยประการใด?" อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิปฏิเสธไม่ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลยหรือหากโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเงินฝากของจำเลยได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหรือข้อตกลงในการรับบัตรเครดิตหรือไม่
โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากบันทึกข้อตกลงในการรับบัตรเครดิต ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 348/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 18 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 27, 35, 80
โรงแรมแมนดารินที่เมืองฮ่องกงของจำเลยเป็นโรงแรมใหญ่ เริ่มเปิดดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2506 ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้น จนปี 2510 ได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดอันดับหนึ่งของโลก ส่วนโจทก์นั้นเดิมชื่อบริษัทควีนส์โฮเต็ล จำกัด ประกอบกิจการโรงแรมใช้ชื่อว่า ควีนส์โฮเต็ล ในกรุงเทพมหานคร ในปี 2508 พ. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เคยเดินทางไปเมืองฮ่องกงทุกปี ปีละหลายครั้ง ย่อมต้องรู้จักโรงแรมแมนดารินของเมืองฮ่องกง พ. ประกอบกิจการโรงแรม ย่อมต้องศึกษาและมีความสนใจในกิจการของโรงแรมต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปเพื่อนำมาใช้กับโรงแรมของตนโรงแรมควีนส์โฮเต็ล ของโจทก์เปิดดำเนินงานได้เพียง 2 ปี ก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นแมนดาริน และเปลี่ยนชื่อโรงแรมเป็นแมนดารินกรุงเทพในปี2510ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่โรงแรมแมนดารินที่เมืองฮ่องกงของจำเลยกำลังมีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงแรมที่ดีที่สุด ไม่ปรากฏว่าเหตุใดโจทก์จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าบริษัทแมนดารินโฮเต็ล จำกัด การตั้งชื่อสถานประกอบกิจการเป็นเรื่องสำคัญมีผลต่อการประกอบกิจการเป็นอย่างมาก ที่โจทก์อ้างว่าเหตุที่โจทก์เปลี่ยนชื่อจากควีนส์โฮเต็ล มาเป็นโรงแรมแมนดาริน เพราะผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนมีเชื้อสายจีนและเพื่อให้รู้สึกว่าเป็นการบริการของจีนนั้น นับว่ามีเหตุผลน้อย ไม่น่าเชื่อถือเพราะผู้ถือหุ้นของโจทก์ในตอนเริ่มก่อตั้งบริษัทและโรงแรม กับตอนเปลี่ยนชื่อส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ถือหุ้นชุดเดียวกัน น่าเชื่อว่าการเปลี่ยนชื่อบริษัทและโรงแรมของโจทก์ให้เหมือนกับชื่อโรงแรมแมนดารินที่เมืองฮ่องกงของจำเลยก็เพื่อต้องการให้กิจการโรงแรมของโจทก์มีผู้ใช้บริการมากขึ้น กิจการเจริญขึ้น จึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ใช้ชื่อและเครื่องหมายบริการคำว่า MANDARIN โดยสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิในชื่อและเครื่องหมายบริการคำว่า MANDARIN ดีกว่าโจทก์